หลายหลายวิธีที่จะเริ่มต้นธุรกิจ
วิธีแรก เกิดจากการมีความคิดทางธุรกิจที่ดี
ความคิดทางธุรกิจที่ดีอาจจะมาจากการคิดค้นสิ่งใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นสินค้าหรือบริการ หรืออาจอยู่ในรูปความคิดดั้งเดิมหรือแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นกับชีวิตประจำวัน ซึ่งอาจเป็นช่องว่างในตลาดที่คุณสามารถเติมเต็มได้ ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับงานที่คุณทำอยู่ ความสนใจหรืองานอดิเรกที่คุณสามารถเปลี่ยนมาทำในเชิงธุรกิจได้ ไม่ว่าจะเป็นความคิดที่เกิดจากอะไรก็ตาม คุณต้องแน่ใจว่าสามารถตอบสนองได้ทั้งความต้องการโดยส่วนตัวของคุณ และความเป็นไปได้ในการทำธุรกิจ ในกรณีนี้ มีคำถามที่คุณต้องหาคำตอบให้กับตัวเองก่อนตัดสินใจคือ
- คุณมีประสบการณ์และความชำนาญอะไรสำหรับนำมาใช้ประโยชน์ในการทำธุรกิจที่คุณจะเลือก
- มีตลาดไหม มีคนที่ต้องการความคิดคุณไหม ลูกค้าอยู่ทีไหน และเขาจะยอมจ่ายซื้อความคิดคุณหรือไม่
- ขนาดของตลาดเป็นอย่างไร และคุณจะเข้าถึงได้อย่างไร
- ใครคือคู่แช่งสำคัญของคุณ
- ความคิดของคุณมีอะไรเป็นพิเศษ มีความแตกต่างจากสินค้าและบริการที่มีอยู่เดิมๆ หรือไม่
- คุณจะลงทุนอย่างไร
- คุณจะทำอย่างไรถ้าเกิดความผิดพลาดชึ้น
วิธีที่สอง ทดลองรูปแบบธุรกิจที่มีอยู่แล้ว
ผู้เริ่มต้นธุรกิจหลายรายใช้ทางลัด โดยการซื้อธุรกิจที่มีอยู่เดิม หรือการซื้อธุรกิจแฟรนไชส์ ที่มีรูปแบบทางธุรกิจเป็นที่รู้จักและยอมรับในตลาด เพื่อช่วยลดความเสี่ยงจากการต้องเริ่มใหม่โดยลำพัง วิธีนี้มีทั้งข้อดี และข้อเสีย
ข้อดี
- ง่ายต่อการกู้ยืมเงิน
- มีการนำเสนอสินค้าและบริการในตลาดแล้ว
- แผนธุรกิจและวิธีการทางการตลาดถูกจัดวางระเบียบไว้ชัดเจน
- ช่วยสร้างประสบการณ์ที่มีค่าในการทำธุรกิจสำหรับการเริ่มต้นได้เป็นอย่างดี
- ปัญหาหลายอย่างได้มีการค้นพบและแก้ไขแล้ว
- บางแฟรนไชส์มาพร้อมกับการสนับสนุนด้านเงินทุนด้วย
ข้อเสีย
- ธุรกิจที่ขายกิจการในราคาพิเศษบางแห่งก่อให้เกิดปัญหาตามมา คุณต้องให้แน่ใจว่าเข้าใจเหตุผลของการขายธุรกิจอย่างชัดเจน ซึ่งบางทีคุณอาจจะต้องจ่ายเพิ่มขึ้นจากราคาที่คุณซื้อไว้เพื่อปรับปรุงให้เกิดโอกาสที่จะประสบความสำเร็;
- สิทธิในการที่เป็นเจ้าของแฟรนไชส์ หรือสิทธิในการขายสินค้าและบริการอันใดอันหนึ่งอาจมีราคาสูงมาก
- ในกรณีของแฟรนไชส์ บางทีคุณอาจจะพบกับข้อจำกัดในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งคุณต้องยึดติดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
วิธีที่สาม รูปแบบเฉพาะ
บางครั้งการเป็นเจ้าของธุรกิจอาจมาจากวิธีการที่คาดไม่ถึง เช่น การได้รับข้อเสนอให้ซื้อกิจการจากนายจ้าง หรือการได้รับโอกาสในการดูแลธุรกิจของครอบครัว เป็นต้น ในการเข้ามาเริ่มต้นธุรกิจแบบนี้ก็เหมือนกับรูปแบบอื่นๆ คือ คุณจะต้องมีความมุ่งมั่นและตั้งใจสูง ควบคู่กับการที่ต้องมีเงินทุนสำหรับใช้หมุนเวียนในกิจการ และที่สำคัญคุณต้องประเมินความเป็นไปได้ของธุรกิจคุณอย่างระมัดระวัง
ข้อดี
- มีการดำเนินงานในส่วนของการพัฒนาสินค้าและบริการ การวางแผน และการทดสอบตลาดมาแล้ว
- มีกลุ่มลูกค้าอยู่แล้ว มีรายได้ที่แน่นอนส่วนหนึ่ง มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในระดับหนึ่ง และยังมีเครือข่ายสำหรับติดต่อที่เป็นประโยชน์ได้
- ในกรณีของการซื้อกิจการจากนายจ้าง คุณอาจมีความรู้ ความชำนาญในธุรกิจอยู่แล้วเป็นทุนเดิม
ข้อเสีย
- คุณอาจจะต้องมารับภาระปัญหาของคนอื่นต่อ ดังนั้น ก่อนตัดสินใจ คุณต้องตั้งคำถามกับตัวเองว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาที่มีอยู่ได้หรือไม่
- ในกรณีที่ซื้อกิจการจากนายจ้าง คุณอาจเสียสิทธิประโยชน์ที่คุณเคยได้รับจากการเป็นลูกจ้าง ในขณะเดียวกัน คุณจะต้องแบกภาระความรับผิดชอบเพิ่มขึ้นไม่ว่าจะเป็นด้านการบัญชี การบริหารบุคลากร และการจ่ายเงินเดือน เป็นต้น
วิธีสุดท้าย ทำธุรกิจเป็นงานนอกเวลา
ถ้าลักษณะธุรกิจสามารถทำงานนอกเวลาได้ คุณสามารถตัดสินใจที่จะเลือกรูปแบบที่เหมาะสมกับงานที่ทำอยู่ปัจจุบันหรือความรับผิดชอบอื่น และเมื่อธุรกิจไปได้ดี หรือสถานการณ์ทางการงานเปลี่ยนแปลงไป คุณก็อาจจะก้าวเข้ามาทำธุรกิจอย่างเต็มตัว
ข้อดี
- คุณยังคงมีรายได้อยู่ขณะที่ธุรกิจของคุณยังไม่แข็งแรงพอ
- เทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น โทรศัพท์ตอบรับ อินเตอร์เน็ต และ E-mail สามารถช่วยให้ติดต่อกันได้ ถึงแม้คุณไม่ได้อยู่ในเวลานั้น
ข้อเสีย
- อาจจะยาก เครียด และเหนื่อยสำหรับคุณที่จะบริหารเวลาที่คุณต้องการใช้ในการทำธุรกิจ
- อาจทำให้ต้องใช้ระยะเวลานานกว่าที่ธุรกิจจะอยู่ตัว
- คุณอาจต้องเสียภาษีสำหรับรายได้ทั้งสองอย่างในอัตราที่สูงกว่าปกติ (อัตราก้าวหน้า)
หลายคนมองว่าวิธีนี้เป็นวิธีที่ปลอดภัยที่สุด เพราะคุณยังคงมีรายได้ที่แน่นอนควบคู่กับรายได้ที่จะเกิดขึ้นกับธุรกิจ ในทางกฎหมายคุณไม่จำเป็นต้องบอกนายจ้างว่าคุณกำลังทำธุรกิจ ถึงแม้บางแห่งกำหนดไว้ในสัญญาจ้างห้ามไม่ให้พนักงานทำงานอื่น คุณอาจใช้วิธีขอปรับเวลาการทำงานให้ยืดหยุ่นกว่าเดิมแทน
----------------------------------------
จากเวปไซต์ สสว.
ที่มา : www.businesslink.gov.uk
ความคิดเห็น