มือเทวดา
เป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางว่า ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการบริหารงาน การคงอยู่และการเจริญเติบโต ขององค์กรนั้นมีอยู่ 4 ประการที่เรียกกันว่า 4 M ได้แก่ คน(Man) เงิน(Money) วัสดุ(Material) และการจัดการ(Management) แต่สิ่งที่มีความสำคัญที่สุดน่าจะเป็นปัจจัยคนหรือมนุษย์ เพราะบางองค์กรแม้ไม่มีเงินก็สามารถดำเนินการไปได้ เช่น องค์กรอาสาสมัครการกุศล ส่วนปัจจัยที่เหลือไม่ว่าจะเป็นวัสดุอุปกรณ์ และการจัดการ ก็ล้วนแต่ต้องขึ้นอยู่กับคนทั้งนั้น การให้ความสำคัญแก่คนนี้องค์กรต่าง ๆ ก็ให้น้ำหนักกันไปในแต่ละทิศทาง แล้วแต่แนวคิดที่มีอิทธิพลอยู่ในสังคมที่องค์กรนั้นๆ ดำรงอยู่ บางยุคบางสมัยก็ให้คุณค่าของคนเป็นเสมือนเครื่องจักรมุ่งหวังผลงานหรือกำไรที่เป็นตัวเลข ละเลยความเป็นมนุษย์ แต่บางสังคมก็เน้นคุณค่าของคนโดยเฉพาะความสุข ความพอใจในการทำงาน และความภูมิใจในความสำเร็จที่ตนมีส่วนร่วมในหน่วยงานนั้นๆ
ตัวผู้เขียนได้มีโอกาสทำงานในหน่วยงานของทางราชการซึ่งเป็นหน่วยงานราชการอิสระไม่สังกัดกระทรวง ทบวงใดแต่มีหน้าที่สำคัญในการแก้ไขวิกฤติของประเทศชาติไม่ว่าจะเป็นปัญหายาเสพติด ปัญหาคอรัปชั่น อันเป็นปัญหาที่กระทบถึงคนส่วนใหญ่ หน่วยงานนี้จะเข้ามามีบทบาทอย่างสำคัญ เราคงจะได้ยินเรื่องราวของหน่วยงานนี้มาบ้าง ไม่มากก็น้อย ถึงจะตั้งขึ้นใหม่ในปี พ.ศ.2543 แต่ก็มีผลงานโดดเด่นเป็นที่รู้จักในหมู่ประชาชน วงราชการและองค์กรที่เกี่ยวข้อง หน่วยงานนั้นก็คือ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน หรือสำนักงาน ปปง. เราลองมาดูกันว่าเหตุใดองค์กรขนาดเล็กที่เกิดใหม่นี้จึงทำได้เช่นนั้น
เมื่อได้พิจารณาจากวิสัยทัศน์ (Vision) ของสำนักงาน ปปง. ที่ระบุไว้ว่า “ เป็นองค์กรหลัก และศูนย์กลางความร่วมมือในการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และความผิดมูลฐานที่มีประสิทธิภาพ เป็นที่ยอมรับ เชื่อถือ ศรัทธาจากประชาชน และนานาประเทศ ” ประกอบกับพันธกิจ (Mission) ที่กำหนดขึ้นเพื่อนำไปสู่วิสัยทัศน์ ดังกล่าวโดยเฉพาะในข้อที่ 5 ที่ให้มีการ “ พัฒนาโครงสร้างระบบการบริหารจัดการ และบุคลากร ให้มีมาตรฐานสู่ความเป็นเลิศ” จะเห็นถึงการให้ความสำคัญต่อปัจจัยชี้ขาดในการบริหารงานให้บรรลุวัตถุประสงค์ของหน่วยงานนี้ปัจจัยหนึ่งก็คือ ปัจจัยคน ยิ่งเมื่อได้พิจารณาลงไปในรายละเอียดของยุทธศาสตร์ ที่วางไว้เพื่อรองรับพันธกิจ ตามยุทธศาสตร์ลำดับที่ 4 ที่กำหนดไว้ “ ให้มีการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของบุคลากรทั้งภายในและภายนอกที่เกี่ยวข้องให้มีความรู้ ความสามารถ ทักษะคุณธรรมและจริยธรรม โดยมุ่งไปสู่ความเป็นมืออาชีพ ตลอดจนปรับเปลี่ยนทัศนคติ และสร้างจิตสำนึกในการทำงานให้เป็นผู้มีความกล้าหาญ รับผิดชอบและเสียสละ โดยมุ่งผลประโยชน์ของส่วนรวมและประเทศชาติเป็นที่ตั้ง ” นั้น เราจึงพอสรุปได้ว่าความสำเร็จของหน่วยงานนี้เกิดขึ้นจากการเดินไปตามยุทธศาสตร์อันเน้นหนักที่การพัฒนา ศักยภาพของคน ทั้งทางด้านเปลือกนอก (ร่างกาย สมองและสิ่งแวดล้อม) โดยการให้ความรู้และทักษะต่างๆ ทางด้านการสืบสวนสอบสวน ด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ด้านเทคโนโลยีใหม่ ๆ ด้านภาษาต่างประเทศ เป็นต้น ส่วนทางด้านเนื้อใน (จิตใจ) ก็โดยการส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมเสริมสร้างจิตสำนึกให้เป็นผู้เสียสละมุ่งผลประโยชน์ของประเทศชาติมากกว่า ประโยชน์ส่วนตน
ในการพัฒนาศักยภาพที่เป็นเปลือกนอกดังกล่าวเน้นที่ตัวความรู้ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน ในหน้าที่ซึ่งมีลักษณะที่ต้องสัมพันธ์กับมิติทางสังคมเกือบทั้งหมดซึ่งมีความแตกต่างหลากหลายกันไป เช่น มิติทางด้านกฎหมายก็จะเกี่ยวข้องกับผู้บังคับใช้กฎหมายจากหลายองค์กร รวมทั้งองค์กรทางธุรกิจทั้งภายในและนอกประเทศ ประชาชนคนทั่วไปตั้งแต่ระดับรากหญ้าจนถึงระดับผู้นำประเทศ เป็นต้น ความแตกต่างหลากหลายเช่นนี้เอง จึงจำเป็นจะต้องใช้ความรอบรู้ในหลาย ๆ สาขาวิชา ไม่ว่าจะเป็นทางด้านกฎหมายและอาชญาวิทยา ด้านเศรษฐศาสตร์
การเงินการคลัง ด้านเทคโนโลยีและการสื่อสารสารสนเทศ ซึ่งเป็นวิชาความรู้ที่มีหลักและทฤษฎีค่อนข้างแน่นอนชัดเจนเป็นรูปธรรม ขณะเดียวกันก็จำต้องมีความรู้และทักษะในทางด้านการสืบสวนสอบสวน การบริหารงานทั้งในเชิง รัฐประศาสนศาสตร์ ตลอดจนการบริหารจัดการในเชิงธุรกิจเอกชน ความรู้ต่างๆ ทั้งหมดจำต้องนำมาบูรณาการเข้าด้วยกันกับประสบการณ์ในการทำงาน แล้วกลั่นออกมาเป็นองค์ความรู้เฉพาะ ตลอดจนหลักนิยมในการปฏิบัติงาน เมื่อประกอบกับความชำนิชำนาญในการทำงานภายหลังจากที่ได้ผ่านร้อนผ่านหนาวมาพอสมควร ความเป็นมืออาชีพ ย่อมปรากฏตัวขึ้นในท่ามกลางองค์ประกอบเหล่านั้น ซึ่งอาจอยู่เหนือการกำหนดว่าจะต้องมีลักษณะอย่างไร และเมื่อใด จึงจะเกิดความเป็นมืออาชีพขึ้นเพราะภาวะเช่นนั้นเมื่อบังเกิดขึ้นแล้ว แม้ตัวผู้ปฏิบัติงานเองก็ไม่อาจระลึกนึกถึงได้ แต่ผู้ที่จะให้การยอมรับนับถือในความเป็นมืออาชีพนั้น ก็คือบุคคลอื่นทั้งหลายที่ได้มาปฏิสัมพันธ์กับขอบข่าย การปฏิบัติงานของสำนักงาน ปปง. หรืออาจจะกล่าวให้ง่ายขึ้นก็คือสังคมจะเป็นผู้ยอมรับและมอบหมายเกียรติยศนั้น ให้แก่หน่วยงานของ ปปง. เอง
อย่างไรก็ตามการที่องค์กรใดจะมีผู้ปฏิบัติงานในระดับมืออาชีพอยู่ในสังกัดเป็นจำนวนมาก ก็ยังมิใช่เครื่องรับประกันถึงความยั่งยืนขององค์กรนั้น จริงอยู่ที่หลักการสร้างคนของตนให้เป็นมืออาชีพนั้น เป็นยอดปรารถนาของทุกองค์กรแต่สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่านั้นก็คือ ความเป็นผู้มีคุณธรรมในจิตใจ สิ่งนี้เป็นทั้งเรื่องที่สร้างยากและวัดได้ยาก แต่ก็มีข้อสอบที่ปราชญ์ใช้ทดสอบจิตใจของคนมาตั้งแต่ยุคโบราณนับพันปี ได้แก่การแสดงออกเมื่อมีผลประโยชน์ส่วนตนก้อนใหญ่ล่ออยู่ตรงหน้าแลกกับผลประโยชน์ของสังคม การต้องตัดสินใจในภาวะบีบเค้นคับขันให้เลือกระหว่างหลักการหรือความถูกต้องกับหลักกูหรือความอยู่รอด การแสดงออกเมื่อต้องรับผิดชอบต่อความล้มเหลวผิดพลาดต่าง ๆ ในการทำงาน เป็นต้น ซึ่งเราสามารถศึกษารายละเอียดได้จากหนังสือเกี่ยวกับภูมิปัญญาการบริหารการปกครองโดยเฉพาะของจีนโบราณ ความเป็นผู้มีคุณธรรมในข้อนี้ เป็นหลักสากลที่ยอมรับนับถือกันโดยทั่วไป เพราะเป็นหลักประกันความเจริญก้าวหน้าอย่างยั่งยืนที่หากองค์กรใดมีคนในองค์กรนั้น ๆ เป็นผู้ประกอบไปด้วยคุณธรรมในจิตใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์กรที่เป็นหน่วยบังคับใช้กฎหมายที่มีผลกระทบในวงกว้างต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน และความมั่นคงของประเทศชาติ ดังเช่นสำนักงาน ปปง. แล้ว หากคนในองค์กรไม่ว่าจะเป็นในระดับแม่ทัพนายกองอันเป็นแกนนำ หรือในระดับหัวหมู่ทะลวงฟันอันเป็นผู้ปฏิบัติระดับต่าง ๆ ก็ตาม ถ้าบุคคลเหล่านั้นเป็นทั้งผู้ที่มีความรู้ความสามารถในระดับมืออาชีพ ประกอบกับมีคุณธรรมค้ำจุนหล่อเลี้ยงจิตใจแล้ว พวกเขาก็สมควรจะได้รับการขนานนามว่าเป็นผู้ปฏิบัติงานระดับ “ มือเทวดา ” ดังเช่นนี้แล้วย่อมเป็นที่มั่นใจได้เลยว่า ความสงบสุขร่มเย็นและความเป็นธรรมในสังคม ย่อมจะหวังได้ในคนรุ่นปัจจุบันนี้ มิใช่จะเป็นเพียงความหวังอันเลือนรางอยู่ในอุดมคติที่เกินเอื้อมต้องไปรอเกิดใหม่ในยุคพระศรีอารย์แต่อย่างใด
ความหมายของ “ มืออาชีพ ”
1. ต้องมีความรับผิดชอบเต็มเปี่ยมต่อการงานในหน้าที่ของตน
2. ต้องมีความเข้าใจในหน้าที่ของตนเป็นอย่างดี ทั้งนี้ต้องเกิดจากความรู้ความสามารถของตน ทั้งความรู้พื้นฐาน ความรู้เฉพาะขององค์กร และประสบการณ์ที่ได้สั่งสมในองค์กร รวมทั้งวิสัยทัศน์อันกว้างไกล
3. ต้องมีความสามารถในการถ่ายทอดความรู้ของตนให้กับผู้ใต้บังคับบัญชา และคนในองค์กรได้เป็นอย่างดี เพื่อให้มีผู้สืบทอดและจรรโลงองค์กรให้ก้าวหน้าต่อไปโดยไม่หยุดยั้ง
4. ต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตทั้งต่อตนและต่อองค์กร
ที่มา : สำนักงานสืบสวนสอบสวนกลางแห่งสหรัฐอเมริกา (FBI)
โดย พ.ต.อ.ปสพกรณ์ โพธิสุข ผอ.กองกลาง