คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๓๑/๒๕๕๐
บริษัทปัญจพลเปเปอร์อินดัสตรี้ จำกัด โดยบริษัทสยามมั่น จำกัด
และบริษัทพีเอสเอ็มแพลนเนอร์ จำกัด ผู้บริหารแผน โจทก์
กรมสรรพากร จำเลย
ประมวลรัษฎากร มาตรา ๒๔, ๖๕, ๗๑ (๑)
คำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.๗๘/๒๕๔๑
คำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.๗๘/๒๕๔๑ ลงวันที่ ๒๗ ตุลาคม ๒๕๔๑ นั้น มิใช่กฎหมายแต่เป็นเพียงแนวทางปฏิบัติภายในที่อธิบดีกรมสรรพากรวางไว้ให้ เจ้าพนักงานถือปฏิบัติเท่านั้น แต่การประเมินให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีอากรชำระภาษีนั้น ต้องประเมินให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ในประมวลรัษฎากร แม้การที่โจทก์ไม่ยื่นแบบแสดงรายการภายในระยะเวลาที่ประมวลรัษฎากรกำหนดจะ เป็นเหตุให้เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจใช้ดุลพินิจประเมินให้โจทก์เสียภาษี เงินได้นิติบุคคลตามประมวลรัษฎากร มาตรา ๒๔ หรือมาตรา ๗๑ (๑) ได้ และการประเมินตามมาตรา ๗๑ (๑) จะได้ภาษีมากกว่าก็ตาม แต่เมื่อได้ความว่าในรอบระยะเวลาบัญชีพิพาทโจทก์ประสบการขาดทุนจนต้องร่วม กับธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) เจ้าหนี้ของโจทก์ยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายกลางขอฟื้นฟูกิจการของโจทก์ จึงไม่มีผลกำไรจากกิจการของโจทก์อันจะต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในรอบ ระยะเวลาบัญชีพิพาท และในระหว่างคดีขอฟื้นฟูกิจการเมื่อเจ้าพนักงานของจำเลยที่ ๑ ออกหมายเรียกโจทก์มาไต่สวน โจทก์ก็แสดงเหตุผลที่มิได้ยื่นแบบแสดงรายการและส่งเอกสารต่างๆ ให้ครบถ้วน เป็นเหตุให้เจ้าพนักงานของจำเลยที่ ๑ ทำบันทึกเสนอความเห็นว่า โจทก์ไม่มีเจตนาหลีกเลี่ยงการเสียภาษีและให้ความร่วมมือในการตรวจสอบภาษี ด้วยดี อีกทั้งเจ้าพนักงานประเมินก็มีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะตรวจสอบและคำนวณกำไร ขาดทุนตามมาตรา ๖๕ ได้ จึงไม่จำต้องประเมินตามมาตรา ๗๑ (๑) การที่อธิบดีกรมสรรพากรใช้ดุลพินิจสั่งให้เจ้าพนักงานประเมินให้โจทก์เสีย ภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา ๗๑ (๑) ตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.๗๘/๒๕๔๑ ทั้งๆ ที่โจทก์ไม่มีภาระต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลนั้น เป็นการใช้ดุลพินิจที่ไม่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้นการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการ พิจารณาอุทธรณ์ที่ประเมินและวินิจฉัยให้โจทก์ชำระภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีพิพาทตามมาตรา ๗๑ (๑) จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
สิทธิโชค เอียดทวี / ย่อ
สุวัฒน์ ไวยุพัฒนธี / ตรวจ
จากเวปไซต์ศาลภาษีอากรกลาง
ความคิดเห็น