รอปิดงบตอนสิ้นปีก็สายเสียแล้ว ให้งบการเงินส่งสัญญาณเตือน
ใครเคยป่วยหนักๆ จะรู้ความหมายข้อนี้ดี สุขภาพของคนไม่ได้แสดงอาการเสมอไป หลายอย่างกว่าจะแสดงอาการคุณก็แทบแย่แล้ว เขาถึงได้ให้ตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ
กรุงเทพธุรกิจ ออนไลน์ : สุธี พนาวร
ถ้า งบการเงินคือใบตรวจสุขภาพของกิจการ มันก็ไม่ได้มีไว้ส่งให้สรรพากรเท่านั้น แต่เป็นสิ่งที่เถ้าแก่ต้องหมั่นดูเป็นระยะๆ อย่าปล่อยให้มันสายเกินกว่าคุณจะแก้ไขได้ ตอนนั้นงบการเงินอาจจะไม่ใช่ใบตรวจสุขภาพ แต่อาจจะเป็นมรณะบัตรที่กิจการไม่มีโอกาสได้ดูหรือแก้ไขได้ เพราะไม่มีใครได้เห็นมรณะบัตรก่อนตาย
ตัว เลขต่างๆ ในงบการเงินมักจะบ่งบอกอาการ บางทีก็บอกมาตรงๆ บางทีก็ไม่ตรงไปตรงมา ต้องลงไม้ลงมือปรับแต่งให้เป็นอัตราส่วนหรือเป็นเปอร์เซ็นต์ เขียนขึ้นเป็นกราฟจึงจะบอกความหมายได้
ธุรกิจ แต่ละประเภทมีตัวเลขสำคัญๆ แตกต่างกัน ตัวเถ้าแก่จะต้องเป็นผู้ที่รู้เองว่าอะไรสำคัญกับธุรกิจ อะไรไม่สำคัญนัก แต่ที่สำคัญตรงนี้ก็คือ เถ้าแก่จะต้องจัดทำชุดเครื่องมือที่เป็นดัชนีชี้วัดให้คอยส่งสัญญาณเตือน ก่อนจะสายเกินไป เหมือนหน้าปัดรถยนต์ที่จะคอยบอกผู้ขับขี่ว่าเร็วขนาดไหนแล้ว ความร้อนขึ้นสูงเกินไปหรือไม่ น้ำมันใกล้หมดหรือยัง ฯลฯ
ทั้ง หมดนี้ไม่ได้หมายความว่าเถ้าแก่ควรจะเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านบัญชี หรือลงมือไปทำบัญชีเสียเอง แต่เถ้าแก่จะต้องเข้าใจว่าตัวเลขใดที่สำคัญสำหรับธุรกิจ แล้วจัดระบบให้ตัวเลขเหล่านั้นมาปรากฏต่อหน้าของตัวเองเป็นระยะๆ จะได้รู้ถึงสถานการณ์อยู่ตลอดเวลาว่าเป็นอย่างไร ควรจะมีมาตรการอย่างไร ต่อไป
การจัดทำดัชนีทางการเงินที่จะ ช่วยชี้วัดนี้ อาจจะหาผู้เชี่ยวชาญมาช่วยทำได้ แต่เถ้าแก่ต้องทำความเข้าใจ และมองให้ออกอย่างถ่องแท้ถึงสัญญาณที่มันส่งออกมา ว่ามันกำลังบอกอะไรอยู่
ต้องดูกันถี่แค่ไหน
คน ทำธุรกิจรู้ดี ว่าเงินเหมือนกับเลือดของธุรกิจ ขาดเงิน ก็เหมือนคนขาดเลือด จะหน้ามืด ไร้เรี่ยวแรง ฉันใดก็ฉันนั้น ธุรกิจก็ขาดเงินไม่ค่อยได้ ต้องวางแผนการใช้เงินอยู่ตลอดเวลา
บัญชี รายรับรายจ่ายที่เถ้าแก่ทำนี่แหละคือตัวที่จะคอยรายงานให้รู้สถานะของเงินสด ในมือ ว่าเวลานี้มีเงินในมืออยู่เท่าไร จะเข้ามาอีกเท่าไรในเวลาใด ต้องจ่ายออกไปแค่ไหนเมื่อไร เวลาเงินเหลือจะได้เอาไว้เก็บไว้ในที่ที่ได้ผลตอบแทนสูงๆ และเวลาขาดจะได้หาแหล่งเงินสำรองไว้ก่อนที่จะขาดมือ เดี๋ยวจะหน้ามืดเอา
บัญชี รายรับรายจ่ายอันนี้เขาเรียกว่า “งบกระแสเงินสด” ซึ่งสำคัญที่การประมาณการ จะได้พร้อมรับมือกับปริมาณเงินที่ขึ้นๆ ลงๆ ได้ทันท่วงที ตัวนี้ถือว่าต้องดูทุกครั้งที่จะมีการจ่ายเงินออกไป ถ้าให้ดีต้องมีการวางแผนเงินเข้าเงินออก แล้วใช้เงินตามแผน อย่างนั้นจึงจะเรียกว่ามีวินัยทางการเงิน
งบ กำไรขาดทุนนั้น เป็นที่ชื่นชอบของเถ้าแก่ทุกคนอยู่แล้ว ทุกคนมักอยากดูผลกำไรของตัวเอง เห็นตัวเลขกำไรสวยๆ แล้วมีความสุข หายเหนื่อย เพราะเป็นรางวัลความเหนื่อยยากได้พยายามกัน จึงหมั่นดูได้บ่อยครั้งเท่าที่ต้องการ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่จะไปเสียเวลากับมันมากนัก แน่นอน ธุรกิจไม่มีกำไรย่อมไม่มีเงิน
แต่ หลายๆ ครั้งมีกำไรก็ไม่ได้หมายความว่ามีเงินเสมอไป โดยเฉพาะการทำธุรกิจ "เงินเชื่อ" ถึงจะขายได้กำไร แต่ต้องจ่ายเงินออกไปก่อนเงินค่าสินค้าก็ยังไม่ได้ ในทางกลับกัน ธุรกิจมีเงินก็ไม่ได้หมายความมีกำไร
ในการทำธุรกิจระยะยาว ต้องมีทั้งเงินสดและมีกำไรจึงจะเป็นธุรกิจที่ยั่งยืน
ธุรกิจ ที่มีกำไรแต่ไม่มีเงิน ไม่นานก็แห้งตาย แต่ธุรกิจที่มีเงิน ไม่มีกำไร ไม่นานเงินก็จะร่อยหรอเหมือนกัน พูดอีกอย่าง ธุรกิจสามารถขาดทุนได้สักพักหนึ่ง แต่ขาดเงินไม่ได้เลย
เป็น เจ้าของธุรกิจจึงต้องระวังไม่ให้ธุรกิจขาดเงิน ขณะเดียวกันก็ต้องไม่ให้ขาดทุนด้วย นอกจากรายรับรายจ่ายแล้ว เถ้าแก่ต้องคอยดูงบกำไรขาดทุนด้วย อะไรที่ส่งสัญญาณไม่ดีต้องรีบลงมือจัดการ ทางที่ดีต้องปิดงบกำไรขาดทุนให้ได้ทุกเดือน นั่นเป็นวิธีปฏิบัติของบริษัทใหญ่ทั่วๆ ไป
งบ ดุลนั้นอาจจะสรุปออกมาเป็นรายเดือนได้ยาก แต่อย่างน้อยต้องทำให้มีงบดุลรายไตรมาสหรือรายครึ่งปีครั้ง (อันนี้หมายถึงงบดุลสำหรับบริหาร ไม่ใช่งบดุลสำหรับส่งสรรพากร) แต่รายการบางอย่างที่แม้จะอยู่ในงบดุลก็ต้องดูแลกันใกล้ชิด เช่นบัญชีลูกหนี้ บัญชีเจ้าหนี้ทั้งหลาย สินค้าคงคลัง ตั๋วเงินรับ ตั๋วเงินจ่าย ฯลฯ
ขายเพิ่มขึ้น แต่ก็ยังไม่มีเงิน
อาการนี้ไม่ใช่เกิดกับคุณคนเดียว
เห็นเพื่อนที่เป็นเถ้าแก่เจ้าของกิจการ หลายคนบ่นให้ฟัง ว่าเห็นกิจการมีกำไรไม่น้อย เสียภาษีก็เยอะ แต่ทำไมไม่เห็นมีเงินสด บางครั้งยังต้องหันไปพึ่งโอดีของธนาคาร บางทีต้องขอแลกเช็คกับเพื่อน เข้าทำนอง “ยิ่งขายดียิ่งจน” ไม่รู้เงินทองหายไปไหนหมด
อาการแบบนี้ ฟังดูเหมือนจะเกิดกับคุณด้วยเหมือนกัน อันนี้ขอบอกไว้ตรงนี้ว่า อาการนี้ไม่ได้เกิดกับคุณคนเดียว เถ้าแก่หลายคนเป็นแบบเดียวกัน บางครั้งถึงกับขาดเงินสด ต้องเอาเงินฝากประจำไปค้ำเงินกู้ระยะสั้น จ่ายดอกเบี้ยให้แบงก์อีกต่างหาก ฟังดูแปลกๆ แต่เป็นเรื่องจริงนอกจอที่เถ้าแก่หลายคนเผชิญอยู่
เถ้าแก่ ที่ไม่ประสีประสากับตัวเลขมากนัก มักจะมีความคิดในทำนองที่ว่า “การทำธุรกิจให้กำไรต้องขายไว้ก่อน พนักงานทุกคนควรใช้เวลาว่างในการสร้างยอดขาย”
แต่ หารู้ไม่ว่า ยิ่งหลับหูหลับตาขายบางครั้งก็ยิ่งทำให้ชีวิตลำบากมากขึ้น ยิ่งบริษัทเล็กๆ ด้วยแล้ว เถ้าแก่ต้องทำหน้าที่ขายเสียเอง ไม่มีเวลามานั่งดูตัวเลข ไม่มีเวลาวิเคราะห์ตัวเลข งานหลักคือการสร้างยอดขาย หาเงินมาให้กิจการใช้ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ อันนี้ใครๆ ก็เข้าใจและเห็นใจ
แต่การขายอย่างไม่ลืมหูลืมตาเป็นหนทางเดียวที่จะทำให้บริษัทกำไรหรือ
คำตอบคือ “ไม่”
มา ลองดูกัน ผู้จัดจำหน่ายกล้องดิจิทัลรายหนึ่ง มียอดขายกล้องเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วทุกๆ ปี กำไรก็มีเพิ่มมากขึ้นตาม แต่เนื่องจากการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น มีการตัดราคากัน ทำให้กำไรที่ได้จากการขายแต่ละเครื่องลดลง เมื่อก่อนขายเครื่องหนึ่ง เคยกำไร 30% ตอนนี้เหลือแค่ไม่ถึง 15% นอกจากนั้น ตลาดปัจจุบันเป็นของผู้ซื้อ อำนาจต่อรองของผู้ขายลดลง ทำให้ต้องให้เครดิตกับผู้ค้าปลีกเพิ่มขึ้นจาก 30 วันเป็น 60 วัน ตรงกันข้ามเครดิตจากผู้ผลิตกลับไม่ยาวขึ้น ยิ่งขายดีก็ยิ่งต้องซื้อเพิ่ม
ผล ก็คือ ยิ่งขายได้มาก ก็ยิ่งได้ลูกหนี้มากขึ้น เจ้าหนี้ก็มากขึ้นตาม แต่เก็บเงินได้ช้าลง เงินสดในมือลดลง ขณะเดียวกันเปอร์เซ็นต์ของกำไรต่อยอดขายก็ต่ำลงด้วย การหมุนเงินก็ยิ่งลำบากขึ้นไปอีก ยิ่งขายดีเท่าไรก็ยิ่งอึดอัด
กิจการ แบบนี้มีแทบนับไม่ถ้วน สินค้าไม่ใช่ขายไม่ได้ แต่เงินไม่มี ถ้าวันใดยอดขายอืด สินค้าในสต็อกราคาตกต่ำ หรือเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นมาแบบไม่คาดฝัน ตอนนั้นคงจะเหนื่อยกว่าตอนหมุนเงินอีก
บริษัทที่ขาดเงิน ก็เหมือนคนขาดเลือด มีสิทธิล้มได้ตลอดเวลา
เถ้าแก่ ที่มองตัวเลขของธุรกิจออก จะสามารถวางแผนทางหนีทีไล่ได้ก่อนที่จะถึงขั้นวิกฤติ ตรงกันข้ามกับเจ้าของกิจการที่ไม่เข้าใจตัวเลขทางธุรกิจ กลับมองความเสี่ยงของธุรกิจไม่ออก คิดว่า “สินค้าขายได้ ไม่มีปัญหาหรอก”
เพื่อ ให้เถ้าแก่สามารถมองเห็นภูเขาน้ำแข็งที่นาวาธุรกิจจะชน เถ้าแก่ต้องอ่านตัวเลขทางธุรกิจให้เข้าใจ และต้องเข้าใจด้วยว่า นั่นเป็นความรับผิดชอบของเจ้าของกิจการคนเดียว
จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์