สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

"โกร่ง" มองเศรษฐกิจโต 5%

"โกร่ง" มองเศรษฐกิจโต 5%
   
วันพุธที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2551
"วีรพงษ์" ชี้มาตรการดูแลเศรษฐกิจไทยต้องทำควบคู่กันทั้งการเงินและการคลัง ติง 3 หน่วยงานต่างคนต่างทำ ใช้ฐานเงินเฟ้อไม่เท่ากัน ชี้อัตราเงินเฟ้อที่เหมาะสม 2-5% เพื่อให้จีดีพีโตในระดับสูงกว่า 5%

นาย วีรพงษ์ รามางกูร ประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ กล่าวในงานสัมมนา “60 ปีดัชนีไทยก้าวไกลสู่สากล” โดยระบุว่าเศรษฐกิจไทยขึ้นอยู่กับ 4 ปัจจัยหลัก ได้แก่ 1.ดูแลการผลิต 2. ดูแลอัตราเงินเฟ้อ 3. ดูแลดุลการค้า ดุลบัญชีเดินสะพัด และ4. เสถียรภาพทางการเมือง

นายวีรพงษ์ กล่าวว่า ในการดูแลการผลิต เพื่อให้รายได้ประชาชาติมีอัตราการเติบโตที่ดี ขณะที่การดูแลอัตราเงินเฟ้อ ในระดับที่เหมาะสมร้อยละ 5 และไม่ควรสูงกว่านี้ หรือต่ำกว่าร้อยละ 2 เพราะนักลงทุนและหลายประเทศกำลังจับตามอง แต่จะทำอย่างไรให้สอดคล้องกับอัตราเงินเฟ้อโลก ส่วนการดูแลดุลการค้า ดุลบัญชีเดินสะพัด จะต้องดูแลอย่างไรไม่ให้ขาดดุลการค้าหรือดุลบัญชีเดินสะพัดนานเกินไป แต่ไม่ได้หมายความว่าดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลไม่ได้ ซึ่งภาครัฐจะต้องดูแล และเสถียรภาพทางการเมือง ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะทำให้นักลงทุนเกิดความมั่นใจและเข้ามาลงทุนในไทย ที่สำคัญแนวทางเหล่านี้จะต้องเดินหน้าไปพร้อม ๆ กัน และไปในทิศทางเดียวกัน หากไม่มีเป้าหมายแน่ชัดเจน ดูแลจุดใดจุดหนึ่งหรือการทำงานไม่ประสานกันก็จะทำให้การแก้ไขมีปัญหา

นายวีระพงษ์ มองว่า ขณะนี้เป้าหมายแต่ละตัวมีแต่ละหน่วยงานดูแลแยกกันอยู่ ซึ่งต่างก็ดูแลกันไป แต่ละหน่วยงานยังไม่มีการประสานงานให้มีความชัดเจนว่า การดูแลเศรษฐกิจของประเทศควรจะมีเป้าหมายใดเป็นตัวนำ ดังนั้น ทุกฝ่ายที่มีหน้าที่ในการกำกับดูแลบริหารจัดการอัตราเงินเฟ้อ จะต้องประสานกันในการใช้มาตรการดูแลอัตราเงินเฟ้อให้เหมาะสม ทั้งในส่วนของนโยบายการเงินและนโยบายการคลัง หากตัดสินใจผิดจะทำให้ได้ไม่คุ้มเสีย นอกจากจะไม่สามารถจัดการกับอัตราเงินเฟ้อได้แล้วจะทำให้เศรษฐกิจของประเทศ ได้รับผลกระทบด้วย สำหรับอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ(จีดีพี) ที่เหมาะสมของไทย ควรจะอยู่ในระดับ 5% ขึ้นไป ขณะที่มองอัตราเงินเฟ้อที่เหมาะสมไว้ที่ระดับ 2-5%

"ประเทศเราในช่วง 20-30 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยถ้าต่ำกว่า 5% ถือว่าเป็นปัญหา ถ้าขยายตัวเกิน 5% แปลว่าใช้ได้ อัตราเงินเฟ้อที่ยึดถือกันมา ก็ควรจะอยู่ต่ำกว่า 5% และไม่ควรต่ำกว่า 2% เพราะหากเงินเฟ้อต่ำกว่า 2% อาจส่งผลให้เกิดปัญหาทางจิตวิทยาเรื่องภาวะเงินฝืด ตอนนี้เรามีหน่วยงานดูและเป้าหมายต่างกัน บางทีไม่คุยกัน เพราะฉะนั้นจำเป็นต้องมีผู้ประสานงานเพื่อดูแลและตกลงกันได้ ว่าจะใช้เป้าหมายใด ในขณะใด ควรได้รับการดูแลมากกว่าอีกเป้าหมายหนึ่ง" นายวีระพงษ์ กล่าว

นายวีระพงษ์ กล่าวว่า เมื่อปลายเดือน ก.ค. สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กระทรวงการคลังคาดการณ์การขยายตัวของจีดีพีในไตรมาส 3 และ 4/51 ที่ 5.3-5.5% ขณะที่ยังคงคาดการณ์จีดีพีทั้งปีนี้โต 5.0-6.0% ส่วนธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เมื่อเดือนที่แล้ว ได้ลดคาดการณ์การขยายตัวของจีดีพี ปี 51 เหลือโต 4.8-5.8% จากคาดการณ์ว่าจะโต 4.8-6.0% เมื่อเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา หลังมองการบริโภคและการลงทุนฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดไว้ และเมื่อต้นเดือน ส.ค.นี้ กระทรวงพาณิชย์ เผยดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป(CPI) ในเดือนก.ค.51 เพิ่มขึ้น 9.2% จากเดือนก.ค.50 ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 10 ปี โดยยังเป็นผลจากราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง ขณะที่ช่วง 7 เดือนแรกปีนี้ CPI เฉลี่ยเพิ่ม 6.6%

นายวีรพงษ์ กล่าวว่า การใช้นโยบายการคลังเหมือนเป็นการให้ยาหม้อ แต่การใช้นโยบายการเงิน ถือเป็นการเยียวยาเพื่อให้เศรษฐกิจหยุดชะงัก แต่จะทำอย่างไรให้การใช้นโยบายการเงินและการคลังสอดคล้องกัน หากเดินไปในทิศทางเดียวกันจะทำให้เศรษฐกิจไทยมีเสถียรภาพ แต่หากใช้ด้านใดด้านหนึ่งก็อาจจะทำให้เศรษฐกิจหยุดชะงัก ซึ่งต้องช่วยกันดูแล เพราะขณะนี้นักลงทุนหลายประเทศกังวลใจในเรื่องอัตราเงินเฟ้อ ต้องดูแลไม่ให้สูงขึ้นหรือลดลงมากเกินไป อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าหากจะให้เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างมีเสถียรภาพ จะต้องขยายตัวสม่ำเสมอและเติบโตแบบค่อยเป็นค่อยไป

ด้านนายไชยา สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ในการดูแลปัญหาเงินเฟ้อ ขณะนี้ปัจจัยหลักคือปัญหาราคาน้ำมัน และปัญหาของรัสเซียและจอร์เจีย หาก 2 ประเทศหยุดยิง รวมถึงจีนลดนำเข้าน้ำมัน ก็เชื่อว่าสถานการณ์ราคาน้ำมันตลาดโลกน่าจะมีแนวโน้มลดลง ดังนั้น การเชิญกลุ่มผู้ผลิตสินค้าของใช้ประจำวัน หารือในวันนี้ (13 ส.ค.) เพื่อรับทราบต้นทุนที่แท้จริง เมื่อสถานการณ์ราคาน้ำมันตลาดโลกลดลง ผู้ผลิตสินค้ามี ต้นทุนสูงขึ้นหรือลดลงสมเหตุสมผลหรือไม่ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์เข้าใจว่า ผู้ผลิตแบกรับภาระต้นทุนวัตถุดิบสูง แต่อยากให้ผู้ผลิตช่วยเหลือผู้บริโภค โดยความเห็นส่วนตัวอยากให้ตรึงราคาไว้อย่างน้อย 1 ปี แต่คงต้องดูว่าผู้ผลิตสามารถแบกรับภาระตรงนี้ได้หรือไม่ ซึ่งปัจจัยหลักอยู่ที่ราคาน้ำมันตลาดโลก ต้องมีการติดตาม และอยาก เห็นอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยปีนี้อยู่ระดับร้อยละ 5-6 แต่จะเป็นไปได้หรือไม่ต้องติดตาม อย่างไรก็ตามหากดูค่าเฉลี่ยเงินเฟ้อของไทยในช่วงที่ผ่านมาจากปัญหาราคา น้ำมัน ทำให้เงินเฟ้อของไทยขยับตัวสูงขึ้นประมาณร้อยละ 7-8 ถือว่าค่อนข้างสูง



จาก POST TODAY
view