สาโรจน์ ชวนะวิรัช
นายเนลสัน แมนเดลา (Nelson Mandela) อดีตผู้นำการต่อสู้เพื่อความเสมอภาคของคนผิวดำในแอฟริกาใต้ และต่อมาได้เป็นประธานาธิบดีของประเทศนั้น ได้มีอายุครบ 90 ปีเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคมที่ผ่านมา ท่านเป็นนักต่อสู้และรัฐบุรุษคนสำคัญคนหนึ่งของโลกผู้ซึ่งเคยถูกรัฐบาลผิว ขาวของแอฟริกาใต้จับขังคุกมาถึง 27 ปีเต็ม แต่ก็สามารถต่อสู้จนล้มล้างระบบเหยียดผิว (Apartheid) ได้สำเร็จ จนทำให้เขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพร่วมกับนาย F.W. de Klerk ประธานาธิบดีผิวขาวคนสุดท้ายในระบบ Apartheid ในปี ค.ศ. 1993 และได้ชนะการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีของประเทศแอฟริกาใต้เมื่อปี ค.ศ. 1994 ทั้งนี้นาย Mandela ได้เคยมาเยือนประเทศไทยในฐานะพระราชอาคันตุกะของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อปี ค.ศ. 1997 ด้วย
ในโอกาสที่นาย Mandela มีอายุครบรอบ 90 ปี ท่านได้ให้เคล็ดลับ 8 ประการของการเป็นผู้นำ ซึ่งน่าสนใจและผมขอนำมาถ่ายทอดดังต่อไปนี้
1. ความกล้าหาญไม่ใช่การปราศจากความกลัว แต่เป็นการจูงใจให้ผู้อื่นก้าวข้ามความกลัวนี้ไป ในปี ค.ศ. 1994 ในช่วงหาเสียงเป็นประธานาธิบดี นาย Mandela กำลังนั่งอยู่ในเครื่องบินใบพัดลำเล็ก ๆ เพื่อไปปราศรัยหาเสียงที่เมือง Natal แต่ขณะที่อีก 20 นาทีเครื่องบินจะถึงสนามบินก็ปรากฏว่าเครื่องเสียไปเครื่องหนึ่ง ผู้คนที่นั่งในเครื่องต่างเริ่มเสียขวัญ แต่เมื่องมองไปที่นาย Mandela ต่างก็ใจชื้นขึ้น เพราะเห็นเขาอ่านหนังสือพิมพ์ต่อไปอย่างสงบ ขณะนั้นที่สนามบินก็ได้ตระเตรียมการลงฉุกเฉินไว้แล้ว แต่ในที่สุดนักบินก็นำเครื่องลงได้โดยปลอดภัย เมื่อลงมาได้แล้วนาย Mandela จึงยอมรับว่าเขากลัวอย่างสุดขีดทีเดียวขณะที่เกิดเรื่องบนเครื่องบิน นาย Mandela ยอมรับว่าเขาได้ผ่านความกลัวมามากไม่ว่าในช่วงที่เขาดำเนินการต่อสู้ใต้ดิน กับรัฐบาลเหยียดผิว หรือในช่วงการไต่สวนคดี Rivonia ที่นำไปสู่การถูกจำคุกของเขาที่เกาะ Robben Island เขายอมรับว่าเขาไม่สามารถหลอกตัวเองได้ว่าไม่กลัวและจะเอาชนะอุปสรรคต่าง ๆ ได้ทั้งหมด แต่การที่เป็นผู้นำได้ทำให้เขามีความจำเป็นที่จะต้องรักษาท่าทีไว้ แสดง ออกมาว่าไม่กลัวจึงจะนำผู้อื่นได้ เขาทราบดีว่าเขาเป็นแบบอย่างให้กับผู้อื่น และสิ่งนี้ได้เป็นแรงบันดาลใจให้เขาเอาชนะความกลัวได้
2. การนำต้องนำจากข้างหน้าและต้องไม่ทิ้งฐานการสนับสนุนไว้เบื้องหลัง ตลอดเวลาของการต่อสู้ของเขามาตั้งแต่ต้น เขาได้ใช้ไม้แข็งมาโดยตลอดโดยได้เลือกใช้วิธีการต่อสู้กับรัฐบาลเหยียดผิว ด้วยอาวุธ แต่จู่ ๆ ในปี ค.ศ. 1985 ในขณะที่เขาก็ยังถูกขังอยู่ที่เกาะ Robben เขาก็ประกาศว่าจะเริ่มหันมาใช้การเจรจาแทน ซึ่งก็ทำให้พวกลูกน้องและกลุ่มผู้สนับสนุนต่างก็นึกว่าเขาถอดใจที่จะทำการ ต่อสู้เสียแล้ว แต่ในที่สุดเขาก็พยายามชี้แจงกับทุกคนทุกฝ่ายได้สำเร็จและทำให้ทุกคนเชื่อ ว่าถึงเวลาแล้วที่จะเปลี่ยนยุทธวิธีมาเป็นการเจรจา สำหรับเขาแล้ว จุดมุ่งหมายใหญ่หรือหลักการสำคัญในการต่อสู้ไม่เคยมีการเปลี่ยนแปลง นั่นคือ การล้มระบบเหยียดผิวและให้คนดำมีสิทธิมีเสียงเท่าเทียมกับคนขาว ส่วนการเจรจาหรือการต่อสู้ด้วยอาวุธคือเป็นเพียงกลยุทธ์เท่านั้น มิใช่หลักการ นาย Cyril Ramaphosa อดีตเลขาธิการพรรค African National Congress หรือ ANC ซึ่งได้เป็นพรรครัฐบาลเรื่อยมาหลังล้มระบบเหยียดผิวได้กล่าวว่า นาย Nelson Mandela เป็นผู้ที่เชื่อในประวัติศาสตร์และประวัติศาสตร์อยู่ข้างเขา เขาสามารถคิดไปไกลกว่าคนอื่น ๆ โดยมองไปข้างหน้าเป็นสิบ ๆ ปี ไม่ใช่เพียงเป็นอาทิตย์หรือเดือน และเข้าใจด้วยว่าต่อไปในอนาคต ผู้คนทั่วไปจะคิดถึงสิ่งที่เขาทำไปอย่างไร เขาเป็นผู้มีสายตายาวไกลเสมอและรู้ว่าผลจะเป็นอย่างไรต่อไป เขาจะชอบพูดอยู่เสมอว่า “ทุกสิ่งจะดีขึ้นเองในระยะยาว”
3. นำจากข้างหลัง และทำให้คนอื่นเชื่อว่าพวกเขาอยู่ข้างหน้า หรือพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ในการจะกระทำอะไรสักอย่างหนึ่ง ควรใช้วิธีการชักจูงใจให้คนทำ ขณะเดียวกันก็ควรให้ผู้นั้นนึกว่าเป็นความคิด ของเขาเองด้วย ในสมัยเด็ก นาย Mandela ได้รับอิทธิพลจาก Jongintaba กษัตริย์หัวหน้าเผ่าที่เป็นผู้เลี้ยงดูเขามามาก ในการออกว่าราชการ Jongintaba จะให้ผู้เข้าร่วมประชุมนั่งเป็นวงกลม และเขาจะให้ทุก ๆ คนพูดให้หมดก่อนแล้วเขาถึงจะพูด นาย Mandela เห็นว่าวิธีการเช่นนี้จะช่วยให้หาฉันทามติได้ง่ายขึ้นและไม่ควรเข้าร่วมการ โต้เถียง เร็วเกินไป ต่อมานาย Mandela เองก็จะใช้วิธีการนี้ เขาจะปล่อยให้นาย Ramaphosa หรือนาย Thabo Mbeki ผู้ซึ่งเป็นประธานาธิบดีคนปัจจุบันของแอฟริกาใต้และผู้นำคนอื่น ๆ โต้เถียงกันอย่างเผ็ดร้อนให้เสร็จสิ้นก่อน หลังจากนั้นนาย Mandela จึงจะเริ่มพูดช้า ๆ สรุปความเห็นของทุกคนที่พูดไปแล้วจึงเริ่มออกความคิดเห็นของตนเองด้วยเหตุ ด้วยผล และเป็นไปในวิถีทางที่ไม่ได้บังคับให้ผู้อื่นรับความเห็นของตน ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะสามารถชี้ชวนผู้อื่นยอมรับความเห็นของตนได้สำเร็จ
4. รู้จักศัตรูของตนและควรรู้ด้วยว่าเขาชอบกีฬาอะไร ตั้งแต่อายุ 40 กว่า นาย Mandela ได้เริ่มเรียนภาษา Afrikaans ซึ่งเป็นภาษาของคนผิวขาวในแอฟริกาใต้เพราะต้องการที่จะรู้ว่าคนผิวขาวเหล่า นี้มีความคิดความอ่านอย่างไร เขารู้ว่าวันหนึ่งเขาจะต้องต่อสู้หรือต้องเจรจากับคนเหล่านี้ ซึ่งทำให้เขาเข้าใจถึงจุดอ่อนและจุดแข็งรวมทั้งประวัติศาสตร์ความเป็นมาและ ความรักกีฬารักบี้ของคนผิวขาวในแอฟริกาใต้เป็นอย่างดี และทำให้เขาวางแผนการเจรจาได้อย่างดี อีกอย่าง ที่สำคัญที่เขาเรียนรู้ก็คือจริง ๆ แล้ว รัฐบาลอังกฤษและผู้มาตั้งถิ่นฐานชาวอังกฤษก็มีความรู้สึกดูถูกคนผิวขาวใน ท้องถิ่นเองด้วย เพราะฉะนั้นคน ขาวในแอฟริกาใต้ก็มีความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจไม่แตกต่างกับคนดำเช่นกัน
5. รักษาความใกล้ชิดกับผู้เป็นเพื่อนไว้ ขณะเดียวกันก็ควรใกล้ชิดกับคู่แข่งมากกว่าด้วย นาย Mandela เป็นคนที่มีเสน่ห์และหลายครั้งที่เขาใช้เสน่ห์ดังกล่าวกับคู่แข่งหรือศัตรู ของเขาเองอย่างได้ผลดีด้วย เขาจะถือโอกาสโทรศัพท์ไปอวยพรวันเกิด หรือไปร่วมงานศพของครอบครัวผู้ที่ไม่หวังดีต่อเขาเสมอ เมื่อเขาออกจากคุกแล้วเขาก็ยังเป็นเพื่อนกับพวกผู้คุมในคุก และยังแต่งตั้งผู้ที่มีส่วนร่วมในการส่งเขาเข้าคุกเข้ามาเป็นรัฐมนตรีชุดแรก ของเขาด้วย นาย Mandela เชื่อว่าการทำความดีกับคู่แข่งไว้จะทำให้สามารถควบคุมคนเหล่านี้ได้ดีกว่า การกระทำตรงข้าม แน่นอน เขาชอบคนที่จงรักภักดีแต่เขาก็เข้าใจดีว่าธรรมชาติของมนุษย์ย่อมทำในสิ่งที่ เป็นประโยชน์กับตนเองเป็นสำคัญ แต่ก็เป็นการดีกว่าที่จะทำดีกับบุคคลเหล่านี้ไว้
6. กิริยาท่าทางและการแต่งตัวเป็นสิ่งสำคัญและต้องจำไว้ว่าต้องยิ้มอยู่เสมอ นาย Mandela เป็นผู้ที่ให้ความสำคัญต่อการแต่งตัวและบุคลิกภาพของตัวเองมาก เขาได้เปรียบอยู่แล้วเนื่องจากเป็นคนหน้าตาดี สูงและมีบุคลิกของการเป็นลูกผู้นำเผ่าอยู่แล้ว เมื่อนาย Walter Sisulu อดีตผู้นำคนหนึ่งของ ANC ได้พบนาย Mandela ขณะที่เขายังเป็นนักศึกษาวิชากฎหมายอยู่ เขาก็รู้ได้ทันทีว่าเขาได้พบผู้ที่จะมานำมหาชนของ ANC ที่จะต่อสู้กับรัฐบาลเหยียดผิวได้แล้ว นาย Mandela เข้าใจถึงความสำคัญของการปรากฏตัวต่อหน้าฝูงชนอยู่เสมอ กล่าวกันว่าเขาเป็นคนผิวดำคนแรก ๆ ที่ไปตัดชุดสูทแบบวัดตัว นอกจากนั้น เขาก็ทราบดีว่าเขามีเสน่ห์ในการยิ้ม รูปโฆษณาในการหาเสียงประธานาธิบดีจะเป็นรูปที่ปรากฏรอยยิ้มของเขาอยู่เสมอ เพราะเขารู้ว่าสำหรับคนขาว รอยยิ้มของเขาแสดงถึงความใจกว้างที่ไม่ได้คิดถึงการจองเวรจองกรรม และมีความเห็นอกเห็นใจคนผิวขาวอยู่ด้วย และสำหรับคนผิวดำเอง รอยยิ้มของเขาก็บ่งบอกถึงความเป็นนักต่อสู้ที่จะประสบความสำเร็จและชัยชนะใน ที่สุด
7. ไม่มีอะไรขาวหรือดำโดยสิ้นเชิง นาย Mandela เคยถูกถามว่า การที่เขาเปลี่ยนกลยุทธ์จากการต่อสู้ด้วยอาวุธมาเป็นการเจรจานั้น เป็นเพราะเขาเห็นว่าไม่มีทางล้มล้างรัฐบาลด้วยอาวุธได้ หรือว่าเขาเห็นว่าประชามติโลกจะช่วยให้เขาเอาชนะได้ คำตอบของเขาก็คือ “เป็นเพราะทั้งสองอย่างได้ไหม” เขาเชื่อว่าทุก ๆ อย่างไม่ได้เป็นอย่างที่เราเห็นเสมอไป ปัญหาใหญ่แต่ละอย่างต่างมีสาเหตุที่สับสนวุ่นวาย เช่น ปัญหานโยบายเหยียดผิว ก็เป็นทั้งปัญหาประวัติศาสตร์ สังคมและจิตวิทยาไปพร้อมกัน ดังนั้น ในหัวคิดของเขาจึงมีแต่คำถามว่าในที่สุดแล้ว ผลจะออกมาเช่นใดและจะทำอย่างไรให้ได้ผลนั้นมาในวิถีทางที่เหมาะสมที่สุด
8. การยอมแพ้และการวางมือจากอำนาจก็เป็นลักษณะของผู้นำเช่นเดียวกัน ในปี ค.ศ. 1993 นาย Mandela ได้พยายามจะออกนโยบายใหม่เพื่อลดอายุผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งให้เหลือ เพียง 14 ปี (ในอินโดนีเซีย คิวบา อิหร่าน เกาหลีเหนือและนิการากัว ผู้มีสิทธิออกเสียงสามารถมีอายุต่ำกว่า 18 ปีได้) เขาได้พยายามหาเสียงกับพรรคและประชาชนทั่วไปอย่างแข็งขัน แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จ กระนั้น เขาก็ยอมรับความพ่ายแพ้ดังกล่าวแต่โดยดี อีกโอกาสหนึ่งก็คือ ในขณะที่เขาได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีแอฟริกาใต้ในปี ค.ศ. 1994 นั้น เขาเป็นที่นิยมของประชาชนเป็นอย่างมากและมีหลายฝ่ายที่เสนอให้เขาเป็น ประธานาธิบดีไปจนตลอดชีวิต แต่เขาก็เลือกที่จะปฏิเสธเพราะเขาต้องการที่จะให้เป็นตัวอย่างที่ดีของผู้นำ แอฟริกาคน อื่น ๆ ด้วยเท่านั้น.
จากเดลินิวส์ ออนไลน์