n ประเภทเงินได้พึงประเมิน ประมวลรัษฎากรกำหนดให้ผู้มี เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (5)-(8) จะต้องยื่นแบบเสียภาษี เงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปี ซึ่งเงินได้ประเภทนี้ได้แก่ เงินได้จากค่าเช่าทรัพย์สิน เงินได้จากการประกอบวิชาชีพกฎหมาย บัญชี วิศวกรรม โรคศิลปะ สถาปัตยกรรม ประณีตศิลปกรรม เงินได้จากการรับเหมา การขายสินค้า การพาณิชยกรรม การขนส่ง เป็นต้น ท่านที่ได้รับ เงินได้พึงประเมินที่กล่าวมาข้างต้นตั้งแต่เดือน ม.ค. 2551 ถึงเดือน มิ.ย. 2551 ควรตรวจสอบดูว่าตนเองมีเงินได้ถึงเกณฑ์ที่ต้องยื่นแบบเสียภาษีเงินได้บุคคล ธรรมดาครึ่งปีหรือไม่ หรือหากไม่แน่ใจว่าเงินได้พึงประเมินเป็นเงินได้ประเภทใด ก็ให้สอบถามเจ้าหน้าที่ จะได้ปฏิบัติได้ถูกต้อง
n ยื่นเสียภาษีในนามใคร โดยปกติกฎหมายกำหนดให้ยื่นแบบ เสียภาษีในนามของผู้ที่มีเงินได้พึงประเมิน กรณีผู้มีเงินได้เป็นฝ่ายหญิงที่มีคู่สมรส การยื่นแบบเสียภาษีเงินได้ครึ่งปีให้ยื่นในนามของฝ่ายหญิง แต่การยื่นแบบเสียภาษีเงินได้ประจำปีภาษี ถ้าหากฝ่ายชายคู่สมรสที่ได้อยู่ร่วมกันตลอดปีภาษีมีเงินได้พึงประเมินด้วย การยื่นแบบเสียภาษีเงินได้ประจำปีภาษี กฎหมายให้นำเงินได้ของภรรยาไปยื่นรวมคำนวณเสียภาษีในนามของสามี แต่ถ้าหากอยู่ร่วมกันไม่ครบปีภาษีหรือฝ่ายชายคู่สมรสไม่มีเงินได้ ก็ให้ยื่นแบบเสียภาษีในนามของฝ่ายหญิงผู้มีเงินได้พึงประเมิน
n การหักค่าใช้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (5)-(8) กฎหมายให้เลือกหักค่าใช้จ่ายเหมา หรือเลือกหักตามที่จ่ายจริงก็ได้ เว้นแต่เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) บางรายการที่กฎหมายไม่ได้กำหนดให้หักค่าใช้จ่ายเหมา จะต้องหักค่าใช้จ่ายตามจริงเท่านั้น การหักค่าใช้จ่ายเหมา ท่านสามารถศึกษาได้จากพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการ กำหนดค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักจากเงินได้พึงประเมิน (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2502
n การหักค่าลดหย่อน การใช้สิทธิหักค่าลดหย่อนให้นำมาหักได้เพียงกึ่งหนึ่งของสิทธิทั้งปีภาษี เช่น ค่าลดหย่อนส่วนตัวของผู้มีเงินได้ ปกติทั้งปีภาษี หักได้ 3 หมื่นบาท ก็ให้นำมาหักได้เพียง 1.5 หมื่นบาทเท่านั้น
n เงินได้ที่ยกเว้นภาษี เช่น ผู้มีเงินได้พึงประเมินที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป ได้รับยกเว้นภาษีสำหรับเงินได้ไม่เกิน 1.9 แสนบาท, ค่าซื้อหน่วยลงทุนรวมหุ้นระยะยาว ยกเว้นภาษีได้ไม่เกิน 5 แสนบาท เป็นต้น เงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ ผู้มีเงินได้สามารถใช้สิทธิได้เต็มวงเงินตามที่กฎหมายกำหนด ไม่ใช่นำกึ่งหนึ่งมาคำนวณเหมือนค่าลดหย่อน
n การคำนวณภาษี หลังจากที่ได้นำเงินได้พึงประเมินหักออกด้วยค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนแล้ว เงินได้ที่เหลือจะเป็นเงินได้สุทธิที่ นำไปคำนวณภาษีตามบัญชีอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กฎหมายได้ยกเว้นภาษีสำหรับเงินได้สุทธิ 1.5 แสนบาทแรก ส่วนที่เกินกว่า 1.5 แสนบาทขึ้นไป จะต้องเสียภาษีในอัตราร้อยละ 10–37 ซึ่งขึ้นอยู่กับเงินได้สุทธิว่ามีมากน้อยเพียงใด อย่างไรก็ตาม ผู้เสียภาษีจะต้องคำนวณภาษีอีกวิธีหนึ่ง โดยนำเงินได้พึงประเมินที่ได้รับไปคำนวณภาษีในอัตราร้อยละ 0.50 หากมีเงินได้พึงประเมินตั้งแต่ 6 หมื่นบาทขึ้นไป จำนวนภาษีที่คำนวณได้ ให้นำไปเปรียบเทียบกับจำนวนภาษีที่คำนวณจากเงินได้สุทธิ ภาษีวิธีใดคำนวณได้มากกว่า ก็ให้ชำระภาษีจำนวนนั้น
ข้อสังเกตของการยื่นแบบเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปี (ภ.ง.ด.94) ที่กล่าวมา ท่านที่จะยื่นแบบเสียภาษีสามารถนำไปปรับใช้ได้ หากไม่เข้าใจก็สอบถามเจ้าหน้าที่ได้เลยครับ
จาก POST TODAY