แม้ว่าภาวะเศรษฐกิจจะชะลอ ลง แต่ 3-4 เดือน ที่ผ่านมานี้ ตลาดจ้างงานเริ่มคึกคักขึ้นเล็กน้อย เพราะเป็นฤดูกาลที่บริษัทต่างๆ ได้มีโอกาสคัดเลือก บัณฑิตใหม่ เข้าร่วมงาน ซึ่งผู้ที่มีผลการเรียนดี และบุคลิกภาพดี ก็มีโอกาสเริ่มต้นชีวิตการทำงานกันไปแล้ว
บัณฑิตใหม่ วัย 20 ต้นๆ หัวใจใส บริสุทธิ์ ประสบการณ์ชีวิตยังน้อย บางครั้งพวกเขาก็มีคำถามดีๆ ให้เราต้องคิดคำตอบเหมือนกัน มีอยู่คนหนึ่ง ปรารภกับผมในงานสัมมนาแห่งหนึ่งว่า เขาเริ่มทำงานมาได้ 3-4 เดือนแล้ว แต่อดถามตัวเองไม่ได้เหมือนกันว่า งานที่เขาทำอยู่ทุกวันนี้ สร้างคุณค่าให้แก่ชีวิตและคนในสังคมเพียงใด เพราะเขาทำงานที่เกี่ยวกับการจัดหาแหล่งเงินทุนให้บริษัทที่เป็นลูกค้า และในความรู้สึกของบัณฑิตใหม่คนนี้ เขาคิดว่า บริษัทเหล่านั้น ก็เอาเงินทุนที่ได้ ไปขยายกิจการ เพื่อทำกำไรต่อ เท่านั้นเอง
ผมรู้สึกประทับใจกับ คำถามซึ้งๆ แบบนี้ เพราะคนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อย เพียงแค่มีงานทำ มีเงินเดือนดี และใช้ชีวิตสนุกสนาน ก็ถือว่าเพียงพอแล้ว ผมจึงอธิบายให้เขาฟังว่า การหาแหล่งเงินทุนให้แก่บริษัทลูกค้า ก็เป็นสิ่งที่ดีนะ เพราะถ้าลูกค้าได้เงินทุนที่ต้นทุนต่ำ เขาก็สามารถแข่งขันได้ และเมื่อกิจการของเขาเติบโต มีการขยายกิจการ ก็จะมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นด้วย
ผมบอกกับเขาด้วยว่า งานทุกชนิด มีคุณค่าทั้งนั้น เพียงแต่ว่า งานชนิดเดียวกัน อาจมีคุณค่าสำหรับคนแต่ละคนไม่เหมือนกันก็ได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ผิดปกติแต่อย่างใด เพราะคนเรา ย่อมมีความรู้สึกนึกคิดไม่เหมือนกัน รวมทั้งให้คำจำกัดความของคำว่า คุณค่าของงาน แตกต่างกันด้วย คนบางคน ไม่อยากขายบัตรเครดิต เพราะเห็นว่าเป็นสินค้าที่เร่งเร้าให้คนใช้จ่ายเกินตัว แต่บางคนขายบัตรเครดิตด้วยความภาคภูมิใจ ว่าเขาช่วยให้ลูกค้าปลอดภัย เพราะไม่ต้องพกเงินสดเสี่ยงอันตราย อย่างนี้เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม คำถามของน้องบัณฑิตใหม่คนนี้ น่าจะสะท้อนให้เห็นว่า การที่บริษัทรับพนักงานเข้าทำงานนั้น ถึงแม้การให้เงินเดือนและสวัสดิการที่เหมาะสม รวมทั้งให้โอกาสในการเรียนรู้และฝึกอบรม และจัดสภาพแวดล้อมในการทำงานให้ดี จะเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญมาก แต่ลึกไปกว่านั้น ก็คือบริษัทควรจะต้องคำนึงด้วยว่า ทำอย่างไร พนักงานจึงจะมีความรู้สึกภาคภูมิใจในงานที่ทำ และภาคภูมิใจในบริษัทที่เขาทำงานด้วย
เพราะพนักงานที่รู้สึกภาคภูมิใจในบริษัทและคุณค่าของงานที่เขาทำ ย่อมปฏิบัติหน้าที่ด้วยความกระตือรือร้น กลับบ้านทุกวัน ด้วยความอิ่มเอิบใจ ตอบเพื่อนฝูงด้วยความมั่นใจ ว่าเขาทำงานที่ใด และงานของเขามีคุณค่าอย่างไร ซึ่งถ้าบริษัทใดมีพนักงานที่รู้สึกอย่างนี้จำนวนมากๆ ก็แน่นอนว่าบริษัทนั้น มีแนวโน้มที่จะเจริญเติบโตอย่างมั่นคง
ผู้บริหารมีหลายวิธีการ ที่จะทำให้พนักงานรู้สึกเช่นนั้นได้ อย่างน้อยที่สุด ก็เริ่มได้ด้วยการอธิบายได้อย่างชัดเจนว่า สินค้าหรือบริการที่บริษัทขายอยู่นั้น เพิ่มคุณภาพชีวิตให้แก่ผู้บริโภคได้อย่างไร บริษัทที่ขายสินค้าหรือบริการบางประเภท อาจจะตอบคำถามข้อนี้ลำบากสักนิด เพราะเป็นสินค้าหรือบริการที่สังคมไม่ได้รู้สึกชื่นชอบไปด้วย เช่น บุหรี่ เป็นต้น ในขณะที่สินค้าหรือบริการบางประเภท ก็อาจจะได้เปรียบ เพราะมีภาพลักษณ์ที่ดีอยู่แล้ว เช่น อาหารปลอดสารพิษ อย่างนี้เป็นต้น
แต่สินค้าและบริการส่วนมาก ไม่ได้สุดกู่ไปทางใดทางหนึ่ง ในกรณีเช่นนี้ ผู้บริหารควรจะต้องรู้วิธีสื่อสารกับพนักงานให้ได้อย่างชัดเจนว่า สินค้าและบริการที่พวกเขาช่วยกันขายอยู่ทุกวี่วันนั้น ไม่ใช่เพียงเพื่อให้มีงานทำ และมีเงินใช้เท่านั้น แต่สินค้าและบริการนั้นๆ ได้สร้างคุณค่าให้แก่ชีวิตของผู้ใช้และสังคมอย่างมากด้วย รวมทั้งต้องให้พนักงานภูมิใจด้วยว่า ในกระบวนการผลิต หรือการจัดซื้อวัตถุดิบนั้น บริษัทได้สร้างประโยชน์หรือรักษาสิ่งแวดล้อม อย่างไร เพราะถ้าบริษัททำเรื่องนี้ได้ดี พนักงานก็จะเกิดแรงบันดาลใจ และทำงานด้วยความภาคภูมิใจ ผลดีก็จะเกิดแก่พนักงาน และแก่บริษัทพร้อมๆ กันไป
สมัยนี้ บริษัทจำนวนมาก ต่างก็มีกิจกรรมที่สะท้อนความรับผิดชอบต่อสังคม แต่ที่สำคัญก็คือ กิจกรรมเหล่านั้น ควรจะต้อง เข้าถึงหัวใจของพนักงาน ด้วย เช่นการขอให้พนักงานมานั่งห้องประชุม เพื่อร่วมปรบมือเป็นเกียรติในโอกาสที่ซีอีโอแจกทุนให้แก่นักศึกษา ก็เป็นของดี แต่อาจจะให้ ความรู้สึก ที่แตกต่างไปจากการที่พนักงานได้ออกไปเลี้ยงอาหารเด็กด้อยโอกาส หรือปลูกป่า เพราะเขาได้สัมผัสด้วยมือตัวเอง แต่ถ้าจะให้ดีที่สุดก็คือ การออกไปเลี้ยงอาหาร หรือปลูกป่า นั้น ทำไป เพราะหัวใจของพนักงาน เร่งเร้า ให้ทำเช่นนั้น และบริษัทก็สนับสนุนให้เขาทำเช่นนั้นด้วย
การเป็นบริษัท ที่มีกำไรดี ให้สวัสดิการดี วันนี้ ไม่เพียงพอแล้ว บริษัทจะต้องมีภาพลักษณ์ที่ดีอย่างมากอีกด้วย จึงจะสามารถดึงดูดบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ ให้เข้ามาร่วมงานอย่างต่อเนื่อง
สมมติว่า วันนี้ มีเยาวชนที่อยากจะหัดเล่นกีฬา เพื่อหวังจะประสบความสำเร็จ และมีชื่อเสียงในอนาคต ถามว่าเขาจะเลือกกีฬาใด ระหว่าง ยกน้ำหนัก ชกมวย และฟันดาบ ...... หลังจากที่เราได้เห็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นในช่วงกีฬาโอลิมปิก แล้ว จะมีสักกี่คน ที่ตอบว่าอยากจะเล่น ฟันดาบ บ้างครับ..... คงชัดเจนนะครับ ว่า ใครๆ ก็อยากร่วมงานกับองค์กรที่ประสบความสำเร็จ และมีภาพลักษณ์ที่ดีกันทั้งนั้น
องค์กรที่ดี จะดึงดูดคนดี และคนดี ก็จะขับเคลื่อนองค์กรไปสู่ความเป็นเลิศ ฉันใดก็ฉันนั้น ประเทศที่ดี ย่อมดึงดูด นักท่องเที่ยว ให้มาชื่นชม และดึงดูด นักลงทุน ให้มาสร้างโรงงาน หรือซื้อหลักทรัพย์ และเมื่อเงินเข้าประเทศมากขึ้น ผู้คนของประเทศ ก็จะมีความเป็นอยู่ที่ดียิ่งขึ้น ประเทศก็พัฒนามากขึ้น
คุยกันเรื่อง คุณค่าของงานและองค์กร จนเกือบลืมบอกไปเลยว่า ก่อนที่จะจากกันในวันนั้น บัณฑิตใหม่ วัยใส ใจบริสุทธิ์ คนเดียวกันนี้ได้เล่าให้ผมฟังว่า ตอนอายุ 18 ปี เขาเคยถามพ่อแม่ เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ว่า การที่ใครจะมีอำนาจบริหารประเทศนี้ เพียงแค่เอาอาวุธออกมา แล้วก็ไล่คนเก่าออกไป ทำกันง่ายๆ แค่นี้ ก็ได้แล้วหรือ ซึ่งผมไม่ทราบว่าพ่อแม่ของเขาตอบว่าอย่างไร แต่เขาก็ยังถามผมต่ออีกว่า วันนี้กำลังเกิดอะไรขึ้นในประเทศเรา ที่เขาเห็นอยู่ทุกวันนี้ มันเป็น ความสูญเสียของสังคม ทั้งนั้นเลย ไม่ใช่หรือ.......
ก็คงต้องตอบว่าใช่อยู่แล้วแหละครับ .....เพราะประเทศเรานั้น สามปีผ่านไปก็แล้ว มีทั้งไล่นายกฯ ทั้งรัฐประหาร สามเดือนผ่านไปก็แล้ว มีทั้งประท้วงมาราธอน ทั้งข่มขู่และตอบโต้ทางทีวี อาทิตย์หนึ่ง ก็กำลังจะผ่านไปอีกแล้ว มีทั้งบุกทำลายสถานีโทรทัศน์ มีทั้งบอกให้สื่อเลือกข้าง.....ช่วยกันทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ แล้วนักท่องเที่ยวที่ไหน นักลงทุนที่ไหน เขาจะอยากมาบ้านเราเล่าครับ........
ตอบหน่อยได้ไหม หือ....!
จากกรุงเทพธุรกิจ ออนไลน์
ความคิดเห็น