สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

"รู้หรือไม่ ไฟป่ามาแล้ว"

นักเศรษฐศาสตร์ชั้น นำอย่าง อดัม สมิธ ได้อธิบายไว้น่าฟังว่า เศรษฐกิจจะเติบโตได้อย่างดี ถ้าหากทุกคนต่างกระทำการเพื่อ “ผลประโยชน์ของตนเอง” หรือที่เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า Self Interest คำกล่าวอย่างนี้ คนที่ไม่ใช่นักเศรษฐศาสตร์ฟังแล้ว อาจจะรู้สึกทะแม่งๆ เพราะคล้ายกับส่งเสริมให้คนเรา “เห็นแก่ตัว” และจะเป็นไปได้อย่างไร ที่เมื่อทุกคนต่างก็เห็นแก่ตัว แล้วเศรษฐกิจโดยรวมกลับจะดีขึ้น

 

ความหมายของ อดัม สมิธ ก็คือว่า ในระบบเศรษฐกิจทุนนิยมนั้น ใครที่ต้องการผลประโยชน์ เขาก็จะต้องพยายามผลิตสินค้า หรือเสนอบริการใหม่ๆ ที่ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค ซึ่งถ้าเขาทำได้สำเร็จ ผลตอบแทนก็คือ กำไร ซึ่งตอบแทนความพยายามและความเหนื่อยยากของเขา ส่วนผู้บริโภคเอง ก็ได้รับประโยชน์ จากการบริโภคสินค้าหรือบริการที่เขาอุตส่าห์คิดค้นหรือสรรหามาให้เช่นกัน

 

ถ้ากำไรของเขาดีมาก ในที่สุดก็จะมีคนอื่นๆ ซึ่งมี Self Interest เหมือนกัน คนเหล่านั้น ก็จะพยายามเข้ามาแข่งขัน เพื่อขายสินค้าที่ดีกว่า ในราคาที่ถูกกว่า ซึ่งผู้บริโภคก็จะเปลี่ยนไปใช้สินค้าหรือบริการนั้น และถ้าหากผู้ผลิตรายเดิม ยังไม่ปรับปรุงให้สินค้าของตนเองดีขึ้นหรือราคาถูกลง ในที่สุดก็จะอยู่ไม่ได้ ส่วนผู้บริโภคนั้น ก็ยิ่งได้ประโยชน์ เพราะอยู่เฉยๆ ก็มีคนมาแข่งขันกันนำเสนอสิ่งที่ดีที่สุด ในราคาถูกที่สุด มาให้เลือกใช้

 

ซึ่งในที่สุดแล้ว ตลาดก็จะมีประสิทธิภาพสูงสุด กำไรที่ใครได้รับเกินควร (Excess Profit) ก็จะค่อยๆ หายไป เหลือแต่กำไรที่พอเหมาะพอสม (Normal Profit) เท่านั้น ผู้ผลิตที่มีประสิทธิภาพจริงๆ ก็จะอยู่ได้อย่างดี 

 

บางท่านอาจจะตั้งคำถามว่า “ฝันไปหรือเปล่า” คำตอบคือ ไม่ได้ฝันหรอกครับ เพราะนี่คือพื้นฐานจริงๆ ของระบบทุนนิยม และหลายประเทศก็ได้พิสูจน์มาแล้วว่าระบบนี้ได้นำมาซึ่ง นวัตกรรม ที่ทำให้คุณภาพชีวิตโดยรวมของมนุษย์ดีขึ้นจริง แต่ข้อเสียก็มีไม่น้อย เพราะถ้าหากปล่อยให้มี Self Interest อย่างเดียว และขาดจริยธรรมหรือการควบคุมดูแล ก็อาจจะมีการทำลายทรัพยากร หรือสภาพแวดล้อม หรือเอาเปรียบชนชั้นแรงงานได้

 

สรุปก็คือ การแสวงหาประโยชน์ส่วนตน โดยที่ทุกคนต่างอยู่ในกรอบกติกา และมีแนวปฏิบัติอันชอบธรรม  จะสามารถนำความเจริญมาสู่สังคมได้ แต่ปัญหาก็คือ ในสังคมแห่งความเป็นจริงนั้น อาจมีหลายคนที่เสมือนหนึ่งอยู่ในกติกา แต่ความจริงไม่ใช่เช่นนั้น  หรืออยู่ในกติกาก็จริง แต่อาจไม่ชอบธรรม

 

มิใช่เพราะ Self Interest นี่หรอกหรือ ที่ทำให้ผู้หวังผลประโยชน์ส่วนตนบางราย หาวิธีลดต้นทุนโดยการโยนภาระไปให้สิ่งแวดล้อม จนโลกทั้งใบอันใหญ่โตขนาดนี้ ยังต้องประสบกับปัญหา โลกร้อน ขึ้นมาจนได้
 ผมคิดว่า ปัญหาการเมืองของเราทุกวันนี้ ก็คือปัญหาอันเกิดจาก Self Interest นี่แหละ

 

ความจริง พรรคการเมืองก็คือการรวมกลุ่มของคนที่มีอุดมการณ์ร่วมกัน มีความคิดที่สอดคล้องกัน และประสงค์จะให้ประเทศชาติเดินไปในทิศทางที่พวกเขาเห็นว่าถูกต้องเหมาะสม ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติธรรมดา แต่ที่มันผิดเพี้ยนไปได้ถึงขนาดนี้ และผิดเพี้ยนยาวนานมาถึงขนาดนี้ ก็เพราะบางกลุ่มหรือหลายกลุ่ม ได้นำเอา Self Interest เป็นหลัก แต่เอาผลประโยชน์ของชาติ หรือ Social Interest เป็นรอง

 

ในโลกของเรานี้ ส่วนใหญ่ก็ไม่มีอะไรที่ถูกต้องไปเสียทั้งหมด หรือผิดไปทั้งหมด ถ้าคิดอย่าง พันธมิตร เขาก็มีสิทธิที่จะคิดว่าเขาต้องการระบบการเมืองที่ดีกว่านี้  ผู้ปกครองที่ไม่โปร่งใสและหาประโยชน์ส่วนตนจะต้องออกไป  คิดอย่างรัฐบาล เขาก็มีสิทธิที่จะคิดว่า ฝูงชนเหล่านี้ ยึดทำเนียบไปก็แล้ว ยังจะมายึดรัฐสภาอีกเพื่อไม่ให้มีการประชุมรัฐสภา จะปล่อยไปอย่างนี้ได้อย่างไร  ฯลฯ

 

มีข้อเสนอจากอธิการบดี ให้มีการตั้งคนกลาง รัฐบาลก็ไม่เอา มีข้อเสนอให้ยุบสภา รัฐบาลก็ไม่ทำ ซึ่งก็อาจจะเกิดจากวิธีคิดแบบ Self Interest ว่า ฉันได้รับเลือกตั้งมาด้วยคะแนนมากมาย แล้วฉันทำอะไรผิด จึงจะต้องยุบสภา แต่พอริเริ่มขึ้นมาใหม่ ด้วยการเจรจา 4 ฝ่าย ซึ่งทำท่าว่าจะเริ่มต้นด้วยดี แต่ก็เพียงวันสองวันเท่านั้น เลือดของประชาชนก็หลั่งที่หน้ารัฐสภา เหตุการณ์ก็เลยค้างกันอยู่อย่างนี้

 

วันนี้ ผู้คนระดับที่มีปัญญาในสังคม และไม่เข้าข้างฝ่ายใด เริ่มปรากฏตัวชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ แล้ว อธิการบดี หลายสิบคนออกมาส่งเสียง แพทย์หลายสถาบันออกมาส่งเสียง อาจารย์มหาวิทยาลัยและนักศึกษาอีกจำนวนหนึ่ง ออกมาส่งเสียง นักธุรกิจซึ่งปกติก็ระมัดระวังท่าที แต่วันนี้ ก็ออกมาส่งเสียงดังเช่นกัน การแต่งกายสีดำ เริ่มปรากฏให้เห็น เสียงทั้งหลายที่ออกมานั้น ได้ยินคล้ายๆ กัน คือ ขอให้รัฐบาลลาออก หรือยุบสภาเสียเถอะ

 

ถ้าหากคิดแบบ Self Interest รัฐบาลก็พูดว่า มาจากเสียงข้างมาก จึงมีสิทธิโดยชอบธรรมที่จะบริหารประเทศต่อไป ทำไมจะต้องยุบสภาหรือลาออก คนที่เข้าไปบุกทำเนียบ และทำผิดกฎหมายชัดๆ นั่นสิ สมควรที่จะต้องออกไป แต่ถ้าคิดแบบพันธมิตร (หรือคิดแบบคนที่เป็นกลางอีกจำนวนไม่น้อยที่ออกมาส่งเสียงดังในระยะหลังๆ) ก็เป็นประเด็นว่า รัฐบาลนี้อาจจะถูกกฎหมาย ก็จริง แต่หลายอย่างที่ได้กระทำมานั้น ทำให้หมดความชอบธรรมไปเสียแล้ว

 

ลงเอยก็คือทะเลาะกันไปเรื่อยๆ จนแทบจะไม่มีทางออกดีๆ เหลืออยู่อีกแล้ว

 

วันนี้ วิกฤติเศรษฐกิจของอเมริกาและยุโรป ซึ่งร้ายแรงอย่างมาก เปรียบเสมือนไฟป่าที่กำลังปะทุอย่างรุนแรง และลุกลามอย่างรวดเร็ว ผมคิดว่าสาหัสมากกว่าวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้งมากมายนัก ขณะนี้ ยังไม่มีใครรู้ว่าวิกฤติครั้งนี้ จะลามปามออกไปอีกมากแค่ไหน และนานเพียงใด

 

สุดสัปดาห์นี้ ท่านทั้งหลายลองไปที่ตลาดสด แล้วเลือกซื้อ กบ เป็นๆ สัก 5-6 ตัว นำกลับมาบ้าน แล้วจับ 2-3 ตัวใส่ลงไปในหม้อน้ำเย็น นำหม้อน้ำไปตั้งบนเตาแก๊ส เปิดไฟด้วยอุณหภูมิต่ำๆ ก่อน แล้วจึงค่อยๆ เพิ่มอุณหภูมิ ทีละน้อย และอย่างช้าๆ แต่ต่อเนื่อง จนถึงจุดที่น้ำเดือด  ส่วนกบที่เหลือ ให้ท่านต้มน้ำให้เดือดเสียก่อน แล้วจึงจับโยนลงไปในหม้อพร้อมๆ กันเลย

 

ช้าก่อนครับ ถ้าท่านทำอย่างนั้นจริงๆ ผมและท่านก็บาปหนักแน่ๆ...... เอาอย่างนี้แล้วกัน ไม่ต้องทำจริงก็ได้ แต่ช่วยตอบหน่อยว่า กบหม้อไหนจะรอด และหม้อไหนจะตาย คำตอบก็คือ กบที่ใส่ลงไปในน้ำเดือดๆ นั้นจะสะดุ้ง ทันที แล้วก็กระโดดออกทันทีเช่นกัน ในขณะที่กบอยู่ในหม้อน้ำเย็น ซึ่งน้ำค่อยๆ อุ่นขึ้นเรื่อยๆ ก็จะไม่ทำอะไร จนถึงจุดที่น้ำเริ่มร้อนจัดจนผิดปกติแล้ว จึงพยายามจะกระโดดหนี แต่เมื่อถึงจุดนั้น ก็หมดกำลังวังชาเสียแล้ว ผลคือ ตายอย่างเดียวครับ

 "รู้หรือไม่ ไฟป่ามาแล้ว"



ดร.วรภัทร โตธนะเกษม


บ้านเราวันนี้ ก็เหมือนกับกบที่อยู่ในหม้อน้ำเย็น ที่กำลังอุ่นขึ้นเรื่อยๆ จนเริ่มร้อนแล้ว แต่ก็ยังทะเลาะกันอยู่ในหม้อใบนี้ บนพื้นฐานของ Self Interest อยู่นั่นแหละ ไม่ได้คำนึงถึงเลยว่าไฟป่าทางเศรษฐกิจ ที่กำลังลุกลามเข้ามานั้น รวดเร็ว และรุนแรงเพียงใด 

 

หยุดทะเลาะ และร่วมใจกันกระโดดออกมาเสียก่อนที่น้ำจะเดือดเถอะครับ ยังพอมีเวลาเหลืออยู่บ้าง

 

เริ่มด้วย กบรัฐบาล ส่วนกบตัวอื่นๆ ก็ต้องลดราวาศอกลงไปด้วยเช่นกัน
ไม่เช่นนั้น ก็คงจะ เปื่อย กันอยู่ในหม้อใบนี้ แน่ๆ เลย

view