เดลินิวส์ คอลัมน์มุมภาษี
สุเทพ พงษ์พิทักษ์
นับแต่วันที่ 2 ก.ย. 51 เป็นต้นไป กรมสรรพากรย่างก้าวสู่รอบปีที่ 94 เป็นการส่งต่อไม้วิ่งผลัดจากท่านอธิบดี ศานิต ร่างน้อย มาสู่ท่านอธิบดี วินัย วิทวัสการเวช และอีก 3 ปีก็ครบ 96 ปีหรือ 8 รอบนักษัตร ในวันที่ 2 ก.ย. 54 เป็น 3 ปีของสมัยอธิบดีท่านปัจจุบันที่จะ เกษียณอายุในวันที่ 1 ต.ค. 54 พอดีเช่นเดียวกัน
ในวันจันทร์ที่ 13 ต.ค.นี้ ท่านวินัย วิทวัสการเวช เดินทางจากกระทรวงการคลัง เข้ารับงานอธิบดีกรมสรรพากร หลังจากได้รับโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมมาแต่ต้นเดือน แต่ต้องรอให้ท่านนายกฯ รับสนองพระบรมราชโองการ หลังจากแถลงนโยบายต่อรัฐสภาเสียก่อน ซึ่งเป็นที่แน่นอนว่า งานหรือปัญหาทั้งหลายใน กรมสรรพากรนั้น ท่านได้รู้ ได้เห็น ได้สัมผัส ได้เข้าใจ-เข้าถึง มาตลอดเวลา
ความคาดหวังในตัวท่านอธิบดีท่านใหม่ย่อมสูงมากอยู่เป็นธรรมดา เพราะในสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ใน ลักษณะเช่นนี้ จะหาผู้ที่เหมาะสมกว่าท่านคงจะยากยิ่งฉันใด ความท้าทายในการปฏิบัติงานในตำแหน่งอธิบดีกรมสรรพากรของท่านวินัย จึงดูเหมือนสูงมากเป็นพิเศษ ฉันนั้น ความคาดหวังที่ผู้คนในสังคมมองมายังท่านก็คือ
1. จะสามารถจัดเก็บภาษีอากรให้ได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้หรือไม่ 2. จะบริหารงาน ต่าง ๆ ในกรมสรรพากร โดยเฉพาะการบริหารงานบุคคล มีตำแหน่งต่าง ๆ ในกรมสรรพากรที่ว่างลงเพราะการเลื่อนขั้น เลื่อนตำแหน่ง เกษียณ อายุราชการ และการปรับโครงสร้างระบบราชการจากเดิมระบบ พีซี และระบบใหม่ (ระบบแท่ง)
3. การประสานความรู้ความสามารถของเจ้าหน้าที่หรือบุคลากรในกรมสรรพากรที่ต้อง ยอมรับว่าเป็นกรมใหญ่ที่มีข้าราชการจำนวนมาก และมีความรู้ความสามารถสูง รอเจ้านายที่จะมาใช้ “โคนันทวิศาล” ผู้มีกำลังมากในการขับเคลื่อนกรมสรรพากรไปข้างหน้า อย่างองอาจทระนงอย่างไร
4. ปัญหาการประเมินภาษีครอบครัวบริวารนักการเมืองที่ค้างคาอยู่ 5. การปรับประยุกต์ในการนำเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์ สูงสุดในการบริหารจัดเก็บภาษีอากร เพื่อให้ได้เม็ดเงินภาษีอากรสูงสุดตามหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขของกฎหมาย ลดการทำงานด้วยคนที่เครื่องคอมพิวเตอร์ทำแทนได้ ช่วยให้มีข้อมูลในการบริหารจัดเก็บภาษีอากรที่สมบูรณ์ ชนิดรู้ว่า “ผ้าเมตรนั้นที่ผลิตหรือนำเข้า ขณะนี้อยู่ที่ไหน ก่อให้เกิดรายได้อย่างไร”
6. การปรับปรุงระบบการบริหารการ จัดเก็บภาษีอากรให้ทันสมัย และงานอื่น ๆ อีกมากมาย.