สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

วิกฤติเกิดแต่การออกแบบโดยนักบริหาร

วิกฤติเกิดแต่การออกแบบโดยนักบริหาร

ธงชัย สันติวงษ์ คณะพาณิชย์ฯ ม.ธรรมศาสตร์


กรุงเทพ ธุรกิจ ออนไลน์ : ถึงวันนี้ เหตุการณ์วิกฤติทางการเมืองในประเทศคงปรากฏผลออกมาทางใดทางหนึ่งแล้ว ขณะปัญหาเศรษฐกิจที่กระทบมาจากระดับโลกกำลังเป็นเรื่องใหญ่ ที่ยังรอการคิดออกแบบแก้ไขให้บรรเทาจากหนักเป็นเบา

ต้องยอมรับว่า วิกฤติที่เกิดขึ้น มักเกิดจากการออกแบบในทางการบริหาร ที่เกิดจากทั้งสองส่วน คือ การคิดออกแบบกลยุทธ์เป็นแผนงาน (designing strategy) กับการออกแบบกลวิธีการปฏิบัติ (Designing the Implementation) โดยผู้บริหาร ที่อาจเกิดการผิดพลาดขึ้นหลายยุคสมัย ทำให้เกิดช่องว่างหรือมีปัญหาทับซ้อนและขัดแย้งกันขึ้น สำหรับวิกฤติการเมืองของไทยที่เจอทางตันและแก้ยากนั้น สาเหตุมาจากปัจจัยทางด้าน "สไตล์ของผู้นำ" กับคณะบริหารพรรคการเมือง ที่แตกต่างกัน โดยในสมัยช่วงทายของรัฐบาลอดีตนายกฯ ชวน หลีกภัย การบริหารประเทศ ซึ่งมีสไตล์การบริหารที่นิยมหลักการ เน้นตัวบทกฎหมายและตีความตามตัวอักษร ได้มี "การออกแบบ" (Design) จัดวางกลยุทธ์การพัฒนาการเมืองไว้มากเป็นพิเศษ และให้น้ำหนักมากกว่าด้านเศรษฐกิจ

แล้วต่อมา เมื่อเข้าสู่ยุคของอดีตนายกฯ ทักษิณ "การบริหารภาคปฏิบัติ" กลับแตกต่างกัน โดยเป็นไปตาม "สไตล์ของผู้นำนักธุรกิจ" ที่มีสไตล์นักบริหารปฏิบัตินิยม ชอบแบบ "ทำไป ก่อนคิดทีหลัง" หรือหลักการเป็นเรื่องน่าเบื่อ จึงดำเนินการไปตามความคิด ใจชอบและตามเหตุการณ์ ซึ่งต่างไปจากที่เคยมีการวางและออกแบบเอาไว้

โดยเฉพาะตาม "นโยบายคิดใหม่-ทำใหม่" ที่ได้มีการมุ่งปฏิบัติโดยเน้นหนักไปในทางการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ๆ (มากกว่าด้านการเมือง) โดยทำมากและทำไว เพื่อเร่งเข้าสู่ความทันสมัยทางเศรษฐกิจ ซึ่งได้มีการออกแบบซ้อนขึ้นมาและถือเอากลยุทธ์การพัฒนาการเมืองที่ได้มีการ วางไว้แล้วก่อนหน้ามาใช้เป็นเครื่องมือทำประโยชน์กับฝ่ายตน

จึงอาจกล่าวได้ว่า วิกฤติที่เกิดขึ้นมาจากทั้งสองทางและก่อเงื่อนไขเกิดการทับซ้อนและขัดแย้ง กันขึ้นในระบบอย่างหนัก จนทำให้ประสานและแก้ไขได้ยากมาก

เพราะการจะแก้ไขได้นั้น จำต้องอาศัยตัว "ผู้นำ" ที่จะต้องมองถึงประโยชน์และเป้าหมายร่วมของส่วนรวมเป็นสำคัญ ซึ่งเป็นไปได้ยากเพราะในทางการเมืองทุกพรรคต่างมุ่งแข่งขันชนะ เพื่อเป็นรัฐบาลเป็นสำคัญ การประนีประนอมจึงเป็นไปได้ยาก ทั้งนี้ ทางเดียวที่จะช่วยได้ คือ การต้องพึ่งพาอาศัยใช้พลังจากหลายทางของผู้นำ คือ ทั้งในด้านความรู้ (knowledge) ความฉลาดเฉลียว (wisdom) และประสบการณ์ (Experiences) ที่จะมารวมกันใช้แก้ไขปัญหาและปรับให้เห็นตรงกัน จึงจะสามารถออกแบบหาทางออกที่เป็นไปอย่างสอดคล้องได้ เพื่อให้สามารถบรรเทาปัญหาให้ได้รับการแก้ไขให้ลุล่วงไปได้ด้วยดี

โดยปกติแล้ว ในท่ามกลางโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงสูงนั้น นักบริหารจะเป็นปัจจัยที่มีน้ำหนักมาก ที่ต้องมี "วิสัยทัศน์" ที่ดีพอ สามารถออกแบบกลยุทธ์ให้องค์การก้าวเดินไปสู่เป้าหมายที่ต้องการได้ กับที่สำคัญมากกว่า ก็คือ การต้องสามารถบริหารการปฏิบัติตามกลยุทธ์ (Strategy Implementation) ที่ได้ออกแบบไว้ เพื่อให้มีการเปลี่ยนแปลงเป็นไปตามที่ต้องการ ตามการชี้นำของผู้บริหารที่กำหนดและได้ออกแบบไว้แล้วนั้นได้

ต่อเรื่องการเมืองการปกครองที่ขัดแย้งกันนั้น เกิดจากปัญหาการออกแบบที่ขัดแย้งกันไปของการเมืองสองพรรคใหญ่ คือ

ฝ่ายหนึ่ง ได้ถูกกล่าวหาว่าต้องการรักษาระบอบเดิม (คือ ระบอบทักษิณ) ที่ได้ "ออกแบบบริหารประเทศให้โตไว" ต่อเนื่องกันนานถึง 7-8 ปี ที่มีการถือทุนและการพัฒนาทางวัตถุเป็นส่วนใหญ่ จนอิทธิพลทางวัตถุและเงินมีอำนาจสูง ผูกติดกับฝังแน่นในระบบ อันเป็นอันตรายต่อความมั่นคงกับความมีอิสระของประเทศ

กับอีกฝ่ายหนึ่ง คือ ฝ่ายพันธมิตรที่มุ่งหวังจะออกแบบ "สร้างการเมืองใหม่" ที่เป็นไปในทางตรงข้ามกัน

ต่อเรื่องนี้ ทำให้ต้องนึกย้อนไปถึง ศจ.แห่งฮาร์วาร์ด ชื่อ John P. Kotter ที่ได้เตือนไว้ในหนังสือ Leading Change เมื่อยี่สิบปีก่อน ว่า ในการออกแบบการเปลี่ยนแปลงนั้น ผู้นำต้องระวังไม่ทำผิดในสองประการ คือ

อย่าเปลี่ยนแปลงโดยชี้นำมากเกินไป (Donโ€�t Over Led) เพราะจะทำให้สมาชิกตามไม่ทันกับไม่ต่อเนื่อง และเตลิดออกไปจนยากที่จะควบคุมได้

กับอย่าผลักดันบริหารจัดการการเปลี่ยน แปลงที่มากเกินไป (Donโ€�t Over Manage) เพราะเท่ากับเป็นการเร่งจนเกิดช่องว่างต่อไม่ติดระหว่างเก่ากับใหม่

เมื่อนำมาเทียบเคียงกับวิกฤติเหตุการณ์การเมืองขณะนี้ ปัญหาดูคล้ายกัน นั่นคือ ความผิดอันเกิดจากสองสาเหตุ คือ

ก. เกิดจากสาเหตุที่มีการออกแบบระบบการเมืองมากเกินไป ซึ่งแท้จริงเป็นยุคของอดีตรัฐบาลประชาธิปัตย์ต่อเนื่องกับหลายรัฐบาล ที่ได้มีการคิดออกแบบระบบการเมือง โดยจะให้มีการตั้งองค์กรอิสระต่างๆ มากมาย มีการปฏิรูประบบราชการ ขยายกระทรวง มีการต่ออายุข้าราชการบางกลุ่ม การปฏิรูปการศึกษา กับมีการคิดแผนเอาระบบอุดมศึกษาออกนอกระบบ ซึ่งทั้งหมดมองดูดี มีความทันสมัยทันยุค แต่ต้องถือว่าเป็น การออกแบบเป็นอุดมคติมากเกินไป (over design) โดยไม่สอดคล้องและไม่มีความพร้อม และต้องการเวลากับขั้นตอนการพัฒนา

ข. เกิดจากสาเหตุของการบริหารการเปลี่ยนแปลง ที่มีการออกแบบการปฏิบัติตามกลยุทธ์หรือการบริหารให้เกิด การเปลี่ยนแปลงที่มากและเร็วเกินไป (over change) โดยฝ่ายของอดีตรัฐบาลนายกฯ ทักษิณที่เข้ามาปฏิบัติ (ตามแผนที่มีการวางไว้) เป็นเชิงรุก ล้ำหน้ากับสวมรอยสิ่งที่ได้ออกแบบไว้ และเบี่ยงเบนไปจนขัดกับความเป็นจริง ทั้งยังได้มีการออกแบบนโยบายใหม่ๆ ทำให้เกิดช่องว่างใหญ่ที่สะสมมากมาย กับไปคนละทางจนกลายเป็นความขัดแย้ง และเป็นจุดปะทะของปัญหาที่เกิดจากการออกแบบต่างๆ ของทั้งสองฝ่ายสองแนวคิด ที่ต่างมีมากเกินไปและเดินไปคนละทิศทาง

ทั้งหมดนี้ แสดงให้เห็นว่าเหตุการณ์ที่ปรากฏออกมา จนเป็นการขัดแย้งในขณะนี้ เกิดจากบุคลิกของอดีตนายกฯ ทักษิณ ที่เก่งและไวในฐานะ "นักปฏิบัตินิยม" ที่เน้น "การปฏิบัติตามกลยุทธ์" ที่ได้มีการออกแบบเอาไว้แล้ว ขณะเดียวกับที่อดีตนายกฯ คนนี้ เป็นนักธุรกิจที่เข้าใจเรื่องไอที และอิทธิพลของโลกาภิวัตน์ ในโลกนวัตกรรมการเงินที่ตามกันมากับกระแสการค้าเสรี รวมไปถึงการมองเห็นถึงความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันของธุรกิจกับการเมือง ภายใต้กระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก

อดีตนายกฯ ทักษิณจึงออกแบบเพิ่มเติมเสริมมากขึ้นไปจากเดิม กับเร่งขยายออกแบบวิธีการปฏิบัติตามกลยุทธ์ใหม่ๆ ออกมา โดยสอดแทรกเข้าไปกับระบบการเมืองที่มีการออกแบบไว้ก่อนแล้ว ทำให้เกิดการกลายรูปไป กลายเป็นช่องว่างใหญ่ และส่งผลทำให้เป้าหมายเปลี่ยนไป

ความขัดแย้งมีในหลายเรื่องหลายมิติ อาทิเช่น การเร่งเศรษฐกิจให้โตไว การเปิดกว้างให้ทุนต่างชาติเข้ามาได้มาก ให้มีการเปิดการค้าเสรีแบบเปิดกว้าง รวมถึงการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ สร้างและขยายตลาดทุน กับการให้บทบาทเอกชนในการเข้ามาทำเมกะโปรเจค พร้อมกับการเกิดสภาพทุนเป็นใหญ่ ซึ่งตรงกันข้ามกับการดำเนินการพัฒนาแบบเศรษฐกิจพอเพียง

ทั้งนี้ ในระหว่างทางของการดำเนินการตามกลยุทธ์การออกแบบ ปัญหาเรื่องการปฏิบัติมิชอบ ความโปร่งใส การมีประโยชน์ทับซ้อนได้ปรากฏสูงขึ้น ที่มีผลต่อด้านจริยธรรม เกิดปัญหาช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนที่ขยายใหญ่ ธุรกิจข้ามชาติที่เข้ามาเบียดธุรกิจครอบครัวจนล่มสลายไป และเกิดการขยายตัวของทุนใหม่ทั้งในและจากต่างประเทศ ที่เข้ามาครอบครองทรัพย์สินและแย่งชิงโอกาสจนกลายเป็นปัญหาต่อสังคม ทำให้เกิดพฤติกรรมบริโภคนิยมกับการทุจริตคอร์รัปชัน ไปจนถึงคุณธรรมเสื่อม

สะท้อนว่า การออกแบบกลยุทธ์ที่ทำมากเกินไป หรือเกินไกลไปจากความเป็นจริง กับการออกแบบการปฏิบัติที่เร่งรีบ ไวเกินไป ย่อมมีผลทำให้แก่นแท้หายไป เกิดความไม่ต่อเนื่อง หนักข้างเกิดความไม่สมดุล จนกลายเป็นความอ่อนแอที่เกิดขึ้น แล้วนำไปสู่การขัดแย้งภายใต้ปัญหาที่รุนแรงมากกว่าเดิม

ซึ่งซ้ำเติมให้การแก้ไขวิกฤติ ยิ่งต้องใช้ทักษะ ความรู้ ความสามารถในการคิด กับความฉลาดและเฉลียว มาประกอบใช้ในการออกแบบวิธีการแก้ไขปัญหาที่มีอยู่ให้ลุล่วงไปได้ กับที่ยากกว่า คือ การต้องมาช่วยกันออกแบบทิศทางประเทศไทยหลังวิกฤติ ซึ่งแน่นอนว่า การออกแบบระบบเศรษฐกิจใหม่และการเมืองใหม่ คือ เรื่องสำคัญที่รออยู่

แต่ที่ยากกว่าและสำคัญเป็นพื้นฐาน กว่ามากนั้น ก็คือ "การออกแบบระบบการศึกษาและการพัฒนาคน" ที่จะช่วยให้คนรุ่นใหม่ มี "หิริ โอตตัปปะ" กับสามารถคิดประสานประโยชน์กับบูรณาการความคิดในการออกแบบให้เป็นไปในแนวทาง เดียวกัน เพื่อประโยชน์ของส่วนรวมมากกว่าส่วนตนได้

view