อ.สุเทพ พงษ์พิทักษ์
เดลินิวส์ - สำหรับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยขนาดเล็ก ได้แก่ ห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนที่มีทุนชำระแล้วในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีไม่ เกิน 5 ล้านบาท และมีสินทรัพย์ไม่เกิน 30 ล้านบาท และมีรายได้ไม่เกิน 30 ล้านบาท ได้รับยกเว้น ไม่ต้องจัดให้งบการเงินได้รับการตรวจสอบและแสดงความเห็นโดยผู้สอบบัญชีรับ อนุญาต ในรอบระยะเวลาบัญชีที่สิ้นสุดในหรือหลังวันที่ 31 ธ.ค. 45 เป็นต้นมา
ซึ่งมีเหตุผลสำคัญ คือ ในประเทศไทยมีผู้สอบบัญชีรับอนุญาตไม่เพียงพอที่จะให้บริการ และห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนขนาดเล็กดังกล่าวมีงบการเงินยังไม่มีนัยสำคัญหรือ มีจำนวนเงินที่มากเพียงพอแก่การที่ต้องตรวจสอบและรับรองบัญชี
คงปล่อยให้เป็นภาระความรับผิดชอบของผู้จัดทำบัญชีของห้างหุ้นส่วนดังกล่าว ที่ต้องรับรองว่างบการเงินของห้างฯ เป็นไปตามมาตรฐาน หรือเข้า “แกป” (GAAP)
สำนวน “ทำอะไรไม่เข้าแกป” จึงหมายถึงการไม่มีมาตรฐาน หรือไม่ได้ตามมาตรฐาน เพราะ แกป หมายถึง หลักการบัญชีที่รับรองทั่วไป หรือมาตรฐานการบัญชี
เมื่อกฎหมายว่าด้วยการบัญชีมีผลใช้บังคับในวันที่ 10 ส.ค. 43 ก่อให้เกิดความกระเพื่อมไหวหรือมีผลกระทบต่อการบริหาร จัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลของกรมสรรพากร ที่อาศัยพื้นฐานการตรวจสอบและรับรองบัญชี งบดุล บัญชีทำการ และบัญชีกำไรขาดทุน โดยผู้สอบบัญชีรับอนุญาต (ซีพีเอ) มาตั้งแต่ปี 23 จนชินว่า ต้องมีผู้ตรวจสอบและรับรองงบการเงินมาชั้นหนึ่งก่อนที่จะยื่นแบบแสดงรายการ และเสียภาษีเงินได้ให้แก่กรมสรรพากร
ดังเป็นที่ทราบกันว่า แม้จะแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 3 สัตต แห่งประมวลรัษฎากร กำหนดให้อธิบดีกรมสรรพากรมีอำนาจอนุญาตให้มีบุคคลทำการตรวจสอบและรับรอง บัญชี เพื่อประโยชน์ในการจัดเก็บภาษีอากรตามประมวลรัษฎากรมาตั้งแต่ปี 2496 แล้วก็ตาม กรมสรรพากรก็มิได้ดำเนินการอะไร
หากแต่มีข้อสมมุติว่า ถ้าผู้ต้องเสียภาษีจัดทำบัญชีตามหลักการบัญชีที่รับรองทั่วไป ก็จะนำไปสู่การเสียภาษีอากรที่ถูกต้องครบถ้วนได้ จึงได้กำหนดให้ ผู้สอบบัญชีรับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการสอบบัญชี เป็นผู้ตรวจสอบและรับรองบัญชีงบดุล บัญชีทำการ และบัญชีกำไรขาดทุนทางภาษีอากรอีกชั้นหนึ่ง
เมื่อทางบัญชีมาละทิ้งห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนขนาดเล็ก ว่าไม่ต้องจัดให้มีการตรวจสอบและรับรองบัญชีเสียแล้ว กรมสรรพากรจึงต้องลุกขึ้นมาดำเนินการอะไรกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนขนาดเล็ก ดังกล่าว
และแล้ว คำว่า “ผู้สอบบัญชีภาษีอากร” หรือ ทีเอ (Tax Auditor) ก็บังเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 44 เป็นต้นมา.