นอกจากนี้ วิกฤตการณ์ทางการเงินในครั้งนี้ ก็เป็นวิกฤตการณ์ทางการเงินที่มีผลกระทบในวงกว้างไปทั่วโลก ทั้งอเมริกา ยุโรป และแม้กระทั่งภูมิภาคเอเชีย ซึ่งโดยหลักการแล้วไม่ควรจะเกี่ยวข้อง เท่าไหร่นัก ที่สำคัญรัฐบาลของแต่ละประเทศโดยเฉพาะอเมริกาและยุโรป ได้เข้าช่วยเหลือสถาบันการเงินหลายแห่งเพื่อความอยู่รอด เพราะมีความเชื่อว่าการปล่อยให้สถาบันการเงินเหล่านั้นล้มลงย่อมกระทบต่อ เศรษฐกิจของประเทศโดยรวม และทำให้ผู้คนเกิดความ ไม่มั่นใจในสถาบันการเงินอีกต่อไป
ในครั้งนี้รัฐบาลอเมริกันและรัฐสภาอเมริกาได้อนุมัติเงินช่วยเหลือแก่สถาบัน การเงินที่ประสบปัญหาถึง 7 แสนล้านเหรียญสหรัฐ โดยผ่านทาง Federal Reserve Bank หรือเรียกสั้นๆ ว่า Fed หลายท่านอาจสงสัยว่ารัฐบาลอเมริกันอนุมัติเงินให้ความช่วยเหลือดังกล่าวได้ อย่างไร แล้วจะแน่ใจได้อย่างไรว่าธนาคารที่ได้รับเงินให้ความ ช่วยเหลือดังกล่าวจะสามารถหาเงินจำนวนดังกล่าวมาคืน Fed ได้อย่างไร
และถ้าหากสถาบันการเงินเหล่านั้นไม่สามารถนำเงินมาคืน Fed ได้ Fed จะทำอย่างไร เพราะอย่าลืมว่าเงินจำนวนดังกล่าวเป็นเงินภาษีของประชาชน
คำถามเหล่านี้เป็นคำถามที่คนอเมริกันต้องการคำตอบมากกว่าคนไทย สำหรับคนไทยนั้นอาจต้องถามว่า แล้วเมืองไทยเรามีระบบหรือ System อะไรที่จะมาช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้บ้าง หากเกิดวิกฤตขึ้นกับสถาบันการเงินไทย แล้วเรามีระบบกฎหมายที่เพียงพอหรือมีองค์กรที่จะเข้าให้ความช่วยเหลือแก่ สถาบันการเงินที่ประสบปัญหา หรือมีอำนาจที่จะดำเนินการใดๆ ได้บ้างหรือไม่ อย่างไร
ความเป็นมา
ก่อนอื่นผู้เขียนขออนุญาตกล่าวถึงวิธีการของประเทศสหรัฐอเมริกาก่อนว่า Fed เป็นใคร และเขามีมาตรการในการให้ความช่วยเหลือแก่สถาบันการเงินของตนอย่างไรบ้าง
สหรัฐอเมริกานั้นเขามีองค์กรหลักที่ทำหน้าที่ดูแลให้ความช่วยเหลือแก่สถาบันการเงินและผู้ฝากเงินอยู่ 2 องค์กรด้วยกันคือ Federal Reserve Bank หรือ Fed และ Federal Deposit Insurance Corporation หรือ FDIC
Federal Reserve Bank หรือ Fed นั้นถือเป็นธนาคารกลางของสหรัฐอเมริกา ทำหน้าที่กำหนดนโยบายการเงินรวมถึงกำกับดูแล และให้ความช่วยเหลือและดูแลสถาบันการเงินในเวลาที่เกิดวิกฤตการณ์ทางการเงิน ด้วย จะว่าไปก็คล้ายๆ กับบทบาทของธนาคารแห่งประเทศไทยของเรา โดยก่อนที่จะพัฒนามาเป็น Fed นั้นสหรัฐอเมริกาเขามีธนาคารกลางมาแล้ว 2 แห่ง คือ First Bank of United States และ Second Bank of United States แต่ทั้ง 2 แห่งนั้นไม่ค่อยประสบความสำเร็จมากนัก เนื่องจากไม่ได้รับการสนับสนุนจากสภา Congress เท่าที่ควร ต่อมา Fed จึงถูกจัดตั้งขึ้น ในเบื้องต้นนั้นเพื่อแก้ไขปัญหาการตื่นตระหนกของประชาชนที่มีต่อสถาบัน การเงิน ต่อมาจึงพัฒนามาเป็นสถาบันที่ทำหน้าที่กำหนดนโยบาย และกำกับดูแลสถาบันการเงินในประเทศสหรัฐอเมริกา
ส่วนสถาบันสำคัญอีกแห่งหนึ่งคือ Federal Deposit Insurance Corporation หรือ FDIC นั้น ทำหน้าที่หลักในการรักษาและ เสริมสร้างความมั่นใจของสาธารณะในระบบการเงินของสหรัฐอเมริกา ด้วยการรับประกันเงินฝากของประชาชนชาวอเมริกันที่ฝากเงินไว้ ในธนาคารหรือสถาบันการเงินรูปแบบอื่น ลักษณะคล้ายๆ บริษัทประกันภัยหรือการประกันเงินฝากที่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบ สถาบันการเงิน หรือ FIDF ได้ให้ประกันการเงินแก่ผู้ฝากเงินทุกคนที่ฝากเงินไว้กับธนาคารไทย
ปัจจุบันนั้น FIDF ได้ยุติบทบาททางด้านประกันเงินฝากไปแล้ว และมีสถาบันประกันเงินฝากที่ถูกจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติประกันเงินฝาก พ.ศ. 2551 ซึ่งมีผลบังคับใช้ไปเมื่อวันที่ 11 ส.ค. 2551
บทบาทของ FED และ FDIC ในกรณีวิกฤตการณ์ทางการเงิน
ในวิกฤตการณ์ทางการเงินครั้งนี้ รัฐสภาสหรัฐอเมริกาได้อนุมัติเงินจำนวน 7 แสนล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อให้ Fed นำไปใช้ให้ความช่วยเหลือแก่สถาบันการเงิน
ล่าสุดเมื่อวันที่ 16 ก.ย.ที่ผ่านมา คณะกรรมการ Fed (Federal reserve board) ได้อนุมัติเงินกู้จำนวน 8.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ เป็นเวลา 2 ปี ให้แก่กลุ่ม AIG เพื่อป้องกันไม่ให้ AIG ซึ่งเป็นกลุ่มสถาบันการเงินและบริษัทประกันภัยรายใหญ่ของประเทศสหรัฐอเมริกา ต้องล้มละลาย
นอกเหนือจากมาตรการแก้ไขปัญหาสถาบันการเงินตามปกติแล้ว สำหรับวิกฤตการณ์ทางการเงินครั้งนี้ Fed ได้สร้างเครื่องมือ ในการแก้ไขปัญหาทางการเงินขึ้นใหม่อีก 3 ประการ คือ
3 ประการนั้นจะเป็นอย่างไร ฉบับหน้ามาดูด้วยกันนะครับ