หากดูจากแนวโน้ม ที่ร่างกฎหมายค้าปลีก ค้าส่งจะสามารถผลักดันให้สำเร็จลุล่วงภายในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรรอบปีนี้ ต้องลุ้นเหนื่อยเต็มที เนื่องจากเหลือระยะเวลาอีกเพียง 1-2 สัปดาห์ ที่ ครม.จะต้องผ่านร่างกฎหมายให้ทัน เพื่อนำเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรให้ทันก่อนปิดสมัยการประชุมสภาใน วันที่ 28 พ.ย. นี้
ไม่เช่นนั้น จะต้องรอไปจนถึงเดือน ส.ค. ปีหน้า กว่าสภาจะเปิดรอบนิติบัญญัติใหม่ เท่ากับว่ากฎหมายค้าปลีกค้าส่งจะต้องค้างเติ่งไปอีก 1 ปีเต็มๆ และการนำเข้าสู่การพิจารณาของสภาในวาระแรก ก็ยังไม่แน่ใจว่าจะผ่านความเห็นชอบหรือไม่ หรือหากผ่านวาระแรกไปได้จริง ก็ต้องผ่านขั้นตอน ของการตั้งคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างกฎหมายค้าปลีกค้าส่ง เพื่อปรับปรุงกฎหมายรอบด้าน ซึ่ง ต้องใช้ระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 1 เดือนขึ้นไป
หรือเท่ากับว่ากว่าจะมีกฎหมายออกมาบังคับใช้อาจต้องกินเวลาไปถึง 2 ปี ในขณะที่การขยาย สาขาของค้าปลีกสมัยใหม่ (โมเดิร์นเทรด) คงผุดครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศไทยหมดแล้ว เพราะหากดูสถิติการขยายสาขาของห้างค้าปลีกสมัยใหม่เพียงแค่ 9 เดือนแรก (ม.ค.-ก.ย.) ของปีนี้ พบว่ามีสาขาเพิ่มขึ้นมาอีก 840 สาขา รวมเป็น 7,031 สาขา จากปี 2550 ที่มีสาขา 6,191 สาขา
เทียบกับปี 2544 ซึ่งเป็นช่วงที่กระทรวงพาณิชย์พยายามให้มีกฎหมายค้าปลีกค้าส่งในตอนนั้น มีจำนวนสาขาของร้านค้าปลีกสมัยใหม่เพียง 1,821 สาขา หรือเพิ่มขึ้นทุกปี และมาเพิ่มมากสุดในช่วงปี 2549 และ 2550 ต่อเนื่องถึงปีนี้ เพราะเป็นช่วง ที่กระทรวงพาณิชย์ได้พยายามผลักดันให้มีร่างกฎหมายค้าปลีกออกมาดูแลโชห่วย ไทยอีกครั้ง
จะเห็นได้ว่าทุกครั้งที่มีกระแสการปัดฝุ่นประเด็นกฎหมายค้าปลีกค้าส่งขึ้นมา เมื่อไหร่ จำนวนสาขาค้าปลีกสมัยใหม่จะยิ่งขยายตัวเพิ่มขึ้นมาก เพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่ตามแผนธุรกิจให้มากที่สุด ประกอบการบางรายได้เร่งขยายสาขาอย่างเต็มที่ ทั้งสาขาขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ขนาดเล็กลงไปถึงการเปิดร้านในลักษณะคล้ายๆ กับตลาดสด ซึ่งไม่เพียงแข่งขันกับโชห่วยโดยตรง แม้แต่ตลาดสดและ ร้านขายสินค้าเฉพาะอย่างก็ได้รับผลกระทบไปด้วย
ดังนั้น ในช่วงเวลาที่เหลือ 1-2 สัปดาห์นี้ คงต้องวัดใจรัฐบาลแล้วว่า จะมีความจริงใจแค่ไหนในการผลักดันกฎหมายฉบับนี้ หรือหากเห็นว่ากฎหมายค้าปลีกค้าส่งยังไม่มีความจำเป็นเท่ากับการออกมาตรการ มาอุ้มตลาดทุน หรือการพยุงราคาสินค้าเกษตรให้กับเกษตรกร ที่รัฐบาลจะต้องเร่งรีบคลอดมาตรการต่างๆ ออกมาช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน รัฐบาลก็ต้องให้คำตอบกับค้าปลีกรายย่อยให้ชัดเจนถึงสาเหตุไม่เร่งรีบผลักดัน และจะมีมาตรการใดมารองรับผลกระทบที่เกิดขึ้นกับการขยายสาขาจำนวนมากของห้าง ค้าปลีกสมัยใหม่ จนกระทบธุรกิจดั้งเดิมของคนไทยจำนวนมาก
เพราะกฎหมายเท่าที่รัฐบาลมีอยู่ ไม่สามารถแก้ไขปัญหาจากผลกระทบที่เกิดขึ้นให้กับค้าปลีกชุมชนได้อย่างแท้ จริง ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายผังเมืองและควบคุมอาคาร เนื่องจากไม่ใช่กฎหมายโดยตรงที่จะเป็นกฎกติกาให้กับการทำธุรกิจค้าปลีกค้า ส่ง ทำให้ดูแลการขยายสาขาของห้างค้าปลีกได้เพียงระดับหนึ่งเท่านั้น ยังเป็นช่องโหว่ที่รัฐบาลควรเห็นถึงความสำคัญ และถึงเวลาที่รัฐบาลจะต้องเข้ามาดูแลปัญหาจริงจังเสียที ก่อนที่ธุรกิจดั้งเดิมของไทยจะล้มหายตายไปจากสังคมไทยหมด