สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เรียนรู้ที่จะคิดแบบวิถีแห่งอินเดีย

POST TODAY
รายงานโดย :พอล เลอมัง/poldejw@hotmail.com:

เมื่อได้ไปอยู่ในสังคมชาวอินเดีย สิ่งหนึ่งที่ผมสัมผัสได้ก็คือ พ่อค้าชาวอินเดีย ไม่ว่าจะระดับไหนก็ตาม ไม่เคยละทิ้งโอกาสในการขายสินค้า ถึงแม้ว่าจะเป็นโอกาสอันน้อยนิด แทบจะไม่มีกำไร หรือไม่มีกำไรเลยก็ตาม
ยกตัวอย่างเช่น ไปเดินตลาด แล้ว ถูกใจของที่ระลึกชิ้นหนึ่ง เราก็ต่อราคาลงมากต่ำกว่าครึ่ง แต่พ่อค้าชาวอินเดียไม่ได้คิดต่อเดียว เมื่อเห็นว่าได้กำไรจากลูกค้าคนก่อนหน้านี้พอสมควรแล้ว ก็จะยอมขายให้ในราคาที่เราต้องการ ทั้งที่สินค้าที่ขายให้เรานั้นอาจต้องขาดทุนก็ตาม แต่เมื่อหักลบกับผลกำไรก่อนหน้าแล้วยังมีกำไร ก็นับว่าคุ้ม และยังได้โอกาสปล่อยสินค้าออกจากสต๊อกอีกด้วย นี่คือการ คิดแบบอินเดีย ยังไงก็ได้กำไร

ความเป็นนายหน้าและไขว่คว้าหาโอกาสของชาวอินเดียนั้น คงจะฝังอยู่ในสายเลือด ถ้าคุณเดินเข้าไปในร้านขายของชำร้านหนึ่ง แล้วถามหาสินค้าซึ่งบังเอิญไม่มี หรืออันที่จริงร้านไม่เคยนำมาวางขายเลย แต่เจ้าของร้านส่วนใหญ่จะ กุลีกุจอไปนำสินค้าจากร้านอื่นมาให้ หรืออาจจะขอให้เรารอสักครึ่งชั่วโมง แล้วก็ ไปหามาให้จนได้ หรือถ้าเรารอไม่ได้ คนขายก็จะต่อรองว่า ได้แน่ จะนำไปส่งให้ ที่บ้านตอนเย็น

ยังไม่หมด คนขายอินเดียจะยังพยายามเสนอขายสินค้าให้ได้มากที่สุด หรือแนะนำสินค้าชนิดอื่นที่ใกล้เคียงกัน หรือเหมือนกันแต่ไม่ใช่ยี่ห้อที่เราต้องการ นี่เป็นประสบการณ์น่าประทับใจในความพยายามอันสูงยิ่งของพ่อค้าชาวอินเดียที่ ผมได้พบมา และคิดว่าคนไทยน่าจะเรียนรู้และนำไปใช้บ้าง

ผมเคยคุยกับเจ้าของบริษัทซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์แห่งหนึ่งที่เข้ามา แนะนำตัวและนำเสนอสินค้า แต่ผมบอกไปว่า ผม ไม่ได้ต้องการซอฟต์แวร์ ผมต้องการติดต่อสำนักพิมพ์สักแห่ง เชื่อไหมว่า พ่อค้า คนดังกล่าวรับอาสาเป็นตัวกลางติดต่อให้ทันที ทั้งที่เขาก็ไม่ได้ทำธุรกิจสิ่งพิมพ์ สมกับสโลแกนที่ว่า ภายใต้ฟ้านี้ ไม่มีอะไรที่พ่อค้าอินเดียทำไม่ได้ เรียกว่าอะไรที่จะสามารถทำให้เกิดผลประโยชน์ได้ แม้จะเล็กน้อย ก็จะไม่ปล่อยให้โอกาสหลุดลอยไป

นี่เป็นคุณสมบัติที่น่าพิจารณานำมาปรับได้สำหรับคนในสังคมไทย หากใส่ศีลธรรมและคุณธรรมตามหลักพุทธเข้าไป คลุกเคล้าด้วยในสัดส่วนที่พอดี ก็จะเป็นสูตรที่น่าทดลองใช้เป็นอย่างยิ่ง

ตอนนี้ พักเรื่องการค้าการลงทุน หรือศักยภาพในการเป็นตลาดที่น่าสนใจของอินเดียไปก่อน มาคุยกันเรื่องเบาๆ ก่อนที่จะหนักในตอนต่อไป (ใครบ้างที่ควรจะไปบุกอินเดีย) นั่นคือเรื่องการจราจร บนท้องถนนในอินเดีย ชาวต่างชาติที่ใช้ ชีวิตอยู่ในประเทศอินเดียส่วนใหญ่บ่น เป็นเสียงเดียวกันถึงสภาพการจราจรบน ท้องถนนในเมืองใหญ่ของอินเดีย

ผมเองตั้งแต่วันแรกที่เดินทางไปถึงเดลี เมื่อออกจากสนามบินนานาชาติอินทิรา คานธี ไปยังที่พักในเมืองก็ต้องใจหายใจคว่ำกับการขับรถที่เป็นเอกลักษณ์อันโดดเด่น ของชาวอินเดีย เรียกว่าแทบจะต้องภาวนาถึงคุณพระคุณเจ้าอยู่ตลอดเวลา จนกระทั่งไปถึงที่พักได้โดยปลอดภัย

แต่เมื่อต้องไปใช้ชีวิตช่วงหนึ่งอยู่ที่นิวเดลี จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะหลีกเลี่ยงการผจญภัยบนท้องถนนในประเทศนี้ ซึ่งพอเริ่มคุ้นเคยกับวิถีชีวิตของคนที่นี่ ก็พบว่า ในความวุ่นวายของการจราจรนั้นก็ไม่ได้เลวร้ายอะไรนัก ตรงกันข้าม กลับพบว่า มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นให้เห็นน้อย ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าแปลกใจ

สภาพการจราจรบนท้องถนนอินเดียนั้น จะขอยกตัวอย่างแค่เมืองหลวงที่คือ นิวเดลี และเมืองใกล้เคียง ซึ่งผมได้มีโอกาสขับรถผ่านไปมาบ่อย มองในแง่ดีก่อนว่า คนอินเดียถือว่าใช้พื้นผิวจราจรอย่างคุ้มค่า คือ ไม่ได้ให้จำกัดสิทธิเฉพาะรถยนต์หรือรถบัสประจำทาง แต่เผื่อแผ่ไปทั้งหมด มีทั้งคน ทั้งรถหลายประเภทที่ใช้เป็นพาหนะของคน ไม่ว่าจะเป็นรถจักรยาน 2 ล้อ และ 3 ล้อสำหรับบรรทุกของ และคนเดินถนน รวมทั้งรถจักรยานยนต์ 3 ล้อสีเขียวเหลือง รูปร่างหน้าตาเหมือนกับรถตุ๊กตุ๊กบ้านเรา แต่ที่นี่เรียกว่า ออโต้ หรือริกชอว์ (Auto-rickshaw)

รถออโต้นี้เป็นสีสันบนท้องถนนของ เดลีก็ว่าได้ เพราะชอบขับปาดซ้ายป่ายขวา โดยไม่เคยให้สัญญาณไฟเลี้ยวแก่รถคันหลังเลย นอกจากนั้นก็มีรถแท็กซี่ทาทารุ่นแอมบาสซาเดอร์ สีดำคาดเหลือง ที่มัก จะขับกลางเส้นประสีขาว บีบแตรขอทางเท่าไหร่ก็ไม่เคยหลบ อีกทั้งยังมีรถมอเตอร์ไซค์สกูตเตอร์รุ่นโบราณ ที่ขับเหมือนจะชมวิวข้างถนน อ้อ แถมยังบรรทุกผู้โดยสารทั้งเด็กและสตรีที่นุ่งผ้าส่าหรี ชายผ้าปลิวไสวจนเกิดความรู้สึกกลัวแทนทุกครั้งที่เห็น กลัวว่าผ้าส่าหรีของเธอจะปลิวเข้าไปขัดกับซี่ล้อรถ

รถโดยสาร หรือรถเมล์ที่เดลีกำลังมีการพัฒนาที่ดีขึ้นเห็นได้ชัด เมื่อปลายปีที่แล้วเองยังเห็นมีแต่รถบัสเก่าที่เรียกว่า Blue Line ขับไม่ค่อยเร็วเหมือนบ้านเรา อาจเป็นเพราะสภาพรถที่เก่ามาก และบางครั้งก็ชอบขับออกมานอกทางบัสเลน ซึ่งอาจเป็นเพราะบัสเลน

บางช่วงก็เต็มไปด้วยจักรยานและคนเดิน แต่ตั้งแต่กลางปี 2551 นี้ ทางการ เดลีได้เพิ่มรถบัสชนิดใหม่เอี่ยมน่านั่งจำนวนมากมาย จนทำให้ภาพลักษณ์เดลีดีขึ้นนี้คงเป็นหนึ่งในมาตรการเตรียมเมืองเดลีสำหรับ มหกรรมกีฬาสหราชอาณาจักรที่จะมีในอีกไม่ถึง 2 ปี

ความแปลกอีกสิ่งหนึ่งที่เจอเสมอคือ คนอินเดียไม่ชอบเดินบนทางเท้าแต่จะชอบลงมาเดินบนพื้นถนนมากกว่า ขนาดบีบแตรก็ยังไม่กลัว ไม่หลบอีกต่างหาก อาจเป็นไปได้ที่บนฟุตปาท หรือทางเท้านั้นเดินไม่สะดวก เพราะมีทั้งต้นไม้และบางช่วงเต็มไปด้วยคนที่ไม่มีบ้านอยู่ ก็มาจับจองฟุตปาทเป็นที่นอน และพวกพ่อค้าแม่ค้ามานั่งขายของนั่นเอง

view