สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

"ปกรณ์"ชี้ทางรอดภาคธุรกิจยึดหลักSOS

ประธานตลาดฯ แนะทางออกภาคธุรกิจไทยท่ามกลางวิกฤตการเงินโลก ควรยึดหลัก "SOS" โดยจะต้องสร้างความอยู่รอด วิเคราะห์สภาพคล่องกระแสเงินสดใน 2 ปีข้างหน้า รวมถึงควบคุมค่าใช้จ่าย หาแหล่งเงินทุนใหม่ ปรับวิกฤติเป็นโอกาสและเน้นทำสิ่งที่ตนถนัด สร้างตลาดเฉพาะ

กรุงเทพธุรกิจ ออนไลน์ : นายปกรณ์  มาลากุล ณ อยุธยา  ประธาน คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย   กล่าวว่า ต้นเหตุของวิกฤตการณ์ทางการเงินโลก (Global financial perfect storm) นั้นมาจากความผิดพลาด 3 ประการ คือ การดำเนินนโยบายที่ผิดพลาด ความหย่อนยานในการกำกับดูแลตลาดการเงินและความโลภ

การ ดำเนินนโยบายหลักที่ผิดพลาด คือ การคงอัตราดอกเบี้ยต่ำของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ในช่วงปี ค.ศ. 2001-2003  ซึ่งอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำเป็นระยะเวลานาน ส่งผลให้การออมมีระดับต่ำสุดในรอบ 79 ปี และมีอัตราก่อหนี้ในปี ค.ศ. 2008 เพิ่มขึ้นถึง 400% 

นอกจากนี้นโยบายการปล่อยสินเชื่อที่ หย่อนยาน ทำให้เกิดสินเชื่อด้อยคุณภาพขาดหลักค้ำประกัน (Subprime) อย่างมากมาย  ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์การเงินของสหรัฐอเมริกาและก่อให้ เกิดลูกหนี้ประเภท NINJA

กล่าวคือ ไม่มีงาน ไม่มีรายได้ ไม่มีทรัพย์สินใด ๆ กระจัดกระจายอยู่ทั่วไป และผลกระทบที่สำคัญ คือ เกิดภาวะฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์

ยิ่งไปกว่านั้น ในปี ค.ศ. 2004-2006 ธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา ปรับอัตราดอกเบี้ยจาก 1 % เป็น 5 % ส่งผลให้คนที่กู้ยืมเงินมาซื้ออสังหาริมทรัพย์ไม่สามารถผ่อนชำระหนี้ได้ เกิดฟองสบู่แตกในภาคอสังหาริมทรัพย์ ราคาอสังหาริมทรัพย์ปรับตัวลดลงอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง อัตราของการผิดนัดชำระหนี้เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อมูลค่าของตราสารการลงทุนที่มีสินทรัพย์ด้อยคุณภาพเป็นหลัก ทรัพย์ค้ำประกัน (CDOs: Collateralized Debt Obligations)

กล่าวคือ มีสินเชื่อ subprime เป็น underlying assets ที่สถาบันการเงินต่าง ๆ  เช่น  Hedge funds บริษัทประกันและกองทุนสำรองเลี้ยงชีพต่าง ๆ ถือไว้เป็นจำนวนมาก การด้อยค่าของสินทรัพย์ ทำให้สถาบันการเงินเหล่านี้ประสบปัญหาขาดทุนและบางแห่งถึงกับล้มละลาย  และปัญหาที่เกิดขึ้นได้ขยายลุกลามวงกว้างไปทั่วโลก ส่งผลต่อเศรษฐกิจโดยรวม  ซึ่งเศรษฐกิจโลกมีการชะลอตัวอย่างชัดเจนในปี ค.ศ. 2008 และคาดการณ์ว่าจะเข้าสู่ภาวะถดถอย (Recession) ในอีก 1-2 ปีข้างหน้า

สำหรับเศรษฐกิจไทย จะเห็นผลกระทบจากวิกฤตการเงินโลกได้ชัดเจนขึ้นในไตรมาสที่ 4 ปี พ.ศ. 2551 ภาคการผลิตได้ส่งสัญญาณชะลอตัวในไตรมาส 3 โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมสิ่งทอ หนังและเครื่องหนัง เคมีภัณฑ์ และก่อสร้าง  สอดคล้องกับอัตราการใช้กำลังการผลิตที่มีแนวโน้มลดลงในหลายกลุ่มอุตสาหกรรม 

ทางด้านการบริโภคและลงทุนภาคเอกชนก็ ชะลอตัวตามการถดถอยของความเชื่อมั่นผู้บริโภคและความเชื่อมั่นภาคธุรกิจ  ที่น่ากังวลคือ วิกฤตการเงินโลกได้เริ่มส่งผลชัดเจนต่อการส่งออกของไทย  โดยเฉพาะการส่งออกไปยังตลาดหลักที่ขยายตัวเพียงประมาณ 2% ในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา 

ขณะที่ตลาดหุ้นมีความผันผวนสูงและ ปรับลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนมิถุนายน ตามแรงเทขายของนักลงทุนต่างชาติ  การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกยังกดดันให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ต่าง ๆ ปรับตัวลง  แม้ว่าการปรับลงของราคาน้ำมันจะเป็นข่าวดีสำหรับคนทั่วไป 

แต่การปรับลงของราคาสินค้าเกษตรได้ส่ง ผลให้กำลังซื้อของเกษตรกรในต่างจังหวัดลดลงด้วย  ส่วนการท่องเที่ยวก็ชะลอตัวเช่นกัน  ทั้งนี้เป็นผลมาจากความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศและการชะลอตัวของ เศรษฐกิจโลกโดยรวม

แม้ว่าเศรษฐกิจไทยจะต้องเผชิญกับ ปัจจัยลบต่าง ๆ ที่กล่าวมาข้างต้น  แต่โดยรวมแล้ว เศรษฐกิจไทยในปี พ.ศ. 2551 ยังสามารถขยายตัวได้ประมาณ 4.3 - 5.0% (ตามการคาดการณ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย และยังไม่รวมผลกระทบทางการเมืองจากการปิดสนามของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อ ประชาธิปไตย)

โดยได้รับปัจจัยบวกจากอัตราเงินเฟ้อ ที่ยังไม่สูงมาก อัตราการว่างงานที่อยู่ในระดับต่ำสภาพคล่องส่วนเกินในระบบธนาคารพาณิชย์อยู่ ในเกณฑ์สูง ประกอบกับปัจจัยพื้นฐานของไทยที่มีฐานะที่ดีกว่ามากเมื่อเทียบกับปี พ.ศ. 2540  เช่น  เงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่อยู่ในระดับสูง หนี้ต่างประเทศที่ต่ำกว่า  เป็นต้น

ส่วนทางออกของธุรกิจไทย ท่ามกลางวิกฤตการเงินโลก ปกรณ์ กล่าวว่า ภาคธุรกิจควรยึดหลัก SOS (Survival, Opportunity, and Specialization)

โดย S-Survival เป็นเรื่องของความอยู่รอด ธุรกิจควรทำการวิเคราะห์สภาพคล่องกระแสเงินสดใน 2 ปีข้างหน้า  ขณะเดียวกันต้องควบคุมค่าใช้จ่าย พร้อมกับการหาแหล่งเงินทุนใหม่

ส่วน O-Opportunity คือการปรับวิกฤติเป็นโอกาส ซึ่งอาจทำได้โดยการปรับโครงสร้าง การหาตลาดใหม่ การควบรวมกิจการ เป็นต้น  และสุดท้าย S-Specialization คือการเน้นทำในสิ่งที่ตนถนัด การสร้างตลาดเฉพาะ (Niche market) ของเราเอง

เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งของ ธุรกิจ และผ่าทางตันวิกฤตการณ์ทางการเงินโลกในครั้งนี้ และยังอาจท้าทายไปถึงวิกฤตอาหารโลก วิกฤตภัยธรรมชาติ และวิกฤตการเมืองภายในประเทศที่กำลังรอการเยียวยา และรักษาเพื่อเอาชีวิตรอดอยู่ ณ วินาทีนี้
view