กับ การพยายามบังคับใช้พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 แต่ดูเหมือนว่าจนถึงวันนี้ยังไม่ได้รับการปฏิบัติตามอย่างเป็นรูปธรรมมากนัก
หากพิจารณาถึงความหมายของพ.ร.บ. ฉบับดังกล่าว ซึ่งมีผลประกาศบังคับใช้ในวันที่ 14 ก.พ. 2551 ที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าที่ผ่านมาประเด็นร้อนจะอยู่ที่การควบคุมเรื่องการโฆษณาเครื่อง ดื่มแอลกอฮอล์ และการจำหน่ายในช่องทางจำหน่าย
โดยเฉพาะล่าสุดในช่วงเทศกาลปีใหม่ ที่บรรดาผู้ประกอบการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จะมีการจัดทำปฏิทินภาพวับๆ แวมๆ มาเอาใจคอทองแดง รวมถึงการนำเหล้าใส่กระเช้าของขวัญ จนทำให้ผู้ที่ควบคุมกฎหมายต้องออกมากวดขันอย่างหนัก เพื่อไม่ให้เกิดการละเมิดกฎหมาย
เริ่มจากการทำปฏิทิน ที่พ.ร.บ.ควบคุม เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 กำหนดไว้ว่า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิดห้ามการโฆษณาทุกชนิด ห้ามจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายทุกประเภท รวมถึงห้ามลด แลก แจก แถม ในทุกกรณี ดังนั้นการทำปฏิทินแจกให้กับผู้บริโภค ถือว่าผิดกฎหมายอย่างชัดเจน
ส่วนการนำเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในกระเช้าของขวัญ ยังถูกร้องเรียนว่าผิดกฎหมาย เพราะกระเช้าของขวัญวางจำหน่ายในห้างตลอดเวลาที่ห้างเปิดดำเนินการ แต่ตามกฎหมายแล้ว การจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในห้างหรือค้าปลีก ต้องจำหน่ายเฉพาะในช่วงเวลาที่ระบุไว้เท่านั้น ซึ่งเรื่องนี้ยังคงเป็นข้อถกเถียงกัน และกว่าที่จะหาข้อสรุปได้คงไม่มีผลบังคับใดๆ เนื่องจากคงเลยเทศกาลปีใหม่ไปแล้ว
จากปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น ทำให้เห็นได้ชัดเจนว่า ขณะนี้พ.ร.บ.ควบคุมแอลกอฮอล์ฉบับล่าสุดนี้ ยังไม่สามารถเห็นผลได้ในรูปธรรม ทั้ง ในแง่ของการขาดความชัดเจนในข้อบังคับ ทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถปฏิบัติตามได้เต็มที่และถูกต้อง หรืออีกนัยหนึ่งคือ ยังสามารถใช้ช่องโหว่ของความไม่ชัดเจนนี้ หลบเลี่ยงโฆษณาได้ในบางวิธี บางช่องทาง
ขณะเดียวกัน ในส่วนของหน่วยงานที่ดูแลและบังคับใช้กฎหมาย ก็ยอมรับว่า เรื่องนี้ยังต้องมีประเด็นที่ต้องร่วมกันผลักดัน ไม่ว่าจะเป็นการควบคุมการโฆษณาอย่างเข้มงวด ต้องมีการตีความเพื่อบังคับใช้กฎหมายตามพ.ร.บ. และมีการออกกฎกระทรวงเพิ่มเติมบนหลักการ คือมาตรการต่างๆ ที่เกิดขึ้นใหม่ตามพ.ร.บ. ฉบับนี้ต้องไม่อ่อนลงไปกว่ามาตรการเดิมที่มีอยู่
นอกจากนี้ ยังเห็นว่าต้องมีการกำหนดนิยามเชิงปฏิบัติการในประเด็นการควบคุมเนื้อหาการ โฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้ชัดเจน และมุ่งหมายเพื่อการป้องกันการสื่อสารไปยังกลุ่มเป้าหมายที่เป็นเยาวชนเป็น หลัก รวมถึงกำหนดคำเตือนให้มีคำเตือนควบคู่ไปกับการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อย่างเหมาะสม
ที่สำคัญคือ หน่วยงานที่ควบคุมดูแลจะต้องรู้เท่าทันกับกลยุทธ์ของธุรกิจที่มีการปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา
ในฟากของผู้ประกอบการเองเห็นว่า ยินดีพร้อมที่จะปฏิบัติตามกฎหมายอยู่แล้ว หากกฎหมายมีแนวทางที่ชัดเจนให้ผู้ประกอบการ แต่ปัญหาคือ ทุกวันนี้ยังไม่สามารถตีความได้ชัดเจน ทำให้ปฏิบัติตามได้ยาก ซึ่งในแง่ของธุรกิจก็ต้องเดินหน้าต่อไป จึงทำไปตามความเข้าใจที่ตีความได้
ท้ายสุดแล้ว ต้องยอมรับว่า โดยเป้าประสงค์ของการออกพ.ร.บ.ควบคุมแอลกอฮอล์ฉบับนี้ เป็นเรื่องดีที่ต้องการลดการดื่มของประชาชนชาวไทย ซึ่งจะนำไปถึงการลดปัญหาทางสังคมอื่นๆ ที่เป็นผลเสียตามมาจากการดื่มอย่างขาดความรับผิดชอบ ขาดสติ หากแต่ในทางปฏิบัติแล้ว ยังไม่สามารถดำเนินการได้อย่างเป็นรูปธรรม และไม่สามารถวัดผลได้ว่า หากรณรงค์อย่างจริงจัง และปฏิบัติตามกฎหมายที่ออกมาแล้ว จะลดการดื่มลงได้มากน้อยเพียงใด
ดังนั้น นอกจากการออกกฎหมายมาควบคุมบังคับใช้แล้ว สิ่งสำคัญคือ ภาครัฐต้องมีการวัดผลให้เห็นได้ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการรณรงค์การดื่มในรูปแบบต่างๆ การออกกฎหมายมาควบคุม รวมไปถึงการเอาผิดต่อผู้ละเมิดกฎหมาย ตลอดจนผลของการลดการดื่มของประชาชน ที่สะท้อนให้เห็นได้จริงถึงการลดปัญหาต่างๆ ที่กล่าวว่าเป็นผลมาจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
เชื่อแน่ว่า หากวัดผลให้เห็นได้จริงว่าเกิดประโยชน์ ผู้บริโภคย่อมเลือกได้เองว่า ควรจะดื่มหรือเลิกดื่ม เพื่อประโยชน์ต่อตัวเองและสังคม โดยไม่ต้องมานั่งบังคับกะเกณฑ์ควบคุม หรือไล่จับกันอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้