สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เงื่อนไขนโยบายภาครัฐ รองรับเศรษฐกิจปีวัว

เงื่อนไขนโยบายภาครัฐ รองรับเศรษฐกิจปีวัว
ดร. ทรงธรรม ปิ่นโต


          การแถลงข่าวของท่านนายกรัฐมนตรีเมื่อสัปดาห์ก่อน หลังจากเข้าพบผู้บริหารแบงก์ชาติ มีความชัดเจนว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงต่อไปคงเป็นไปด้วยความลำบาก ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากข้อมูลในช่วง 2 เดือนหลัง โดยเฉพาะเดือนพฤศจิกายนที่ข้อมูลเศรษฐกิจ ทั้งผลผลิตภาคอุตสาหกรรม การท่องเที่ยว การส่งออก และการบริโภคภาคเอกชนที่หดตัวพร้อมๆ กัน สาเหตุมาจากทั้งปัจจัยภายนอกและภายใน เศรษฐกิจโลกที่เริ่มตกต่ำตั้งแต่ต้นปี 2551 เป็นต้นมา เริ่มส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ยุโรป และ ญี่ปุ่น ซึ่งเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญของไทยต้องประสบกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย และโยงใยให้ประเทศในกลุ่มเอเชียต้องพลอยรับชะตากรรมไปด้วย ถึงแม้ว่าโดยพื้นฐานเศรษฐกิจเอเชียยังคงมีความแข็งแกร่งและได้รับผลกระทบจากการลงทุนในตลาดซับไพรม์น้อยกว่าประเทศสหรัฐฯ และยุโรปมากก็ตาม ลักษณะดังกล่าวจึงไม่น่าแปลกใจที่เราเห็นการส่งออกของไทยไปเกือบทุกประเทศ หดตัวในเกือบทุกหมวด และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ ก็ตอบคำถามที่เราอยากทราบกันมากเมื่อ 2 ปีก่อนว่า เอเชียจะสามารถสลัด (Decouple) จากกลุ่ม G3 ได้หรือไม่

โดยพื้นฐานเศรษฐกิจหลังจากวิกฤต 2540 เป็นต้นมา ประเทศเรามีความเข้มแข็งไม่แพ้ประเทศอื่นในเอเชีย ทั้งเงินสำรองที่แข็งแกร่ง การว่างงานต่ำ ภาคการเงิน และการปฏิรูปภาคเอกชนที่ทำให้สถานะของธุรกิจไทยมีความเข้มแข็งและพึ่งพาแหล่งเงินทุนของตัวเองมากขึ้น กระนั้นก็ตาม ความไม่สงบทางการเมืองตลอดช่วง 3 ปีที่ผ่านมา สร้างความไม่แน่นอนและเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการฟื้นตัวของภาคเอกชนโดยเฉพาะการลงทุน เราจึงพลาดโอกาสทองในการใช้ความเข้มแข็งดังกล่าวเพื่อลดการพึ่งพาการส่งออก เมื่อผนวกกับความรุนแรงทางการเมืองและความแตกแยกทางสังคมที่ทวีความรุนแรงขึ้นในช่วงปลายปีที่ผ่านมา จึงทำให้ความต้องการหรืออุปสงค์ของคนในประเทศแผ่วลงมาก เมื่ออุปสงค์จากต่างประเทศอ่อนแรงจากพิษของวิกฤตเศรษฐกิจโลกและผนวกกับการปิดสนามบินทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคยิ่งไปลดอุปสงค์ของต่างชาติที่จะเข้ามาบริโภคสินค้าและบริการของไทยลง ปัญหาหลักของเศรษฐกิจไทย จึงมาจากการหดหายของความต้องการหรืออุปสงค์ที่อ่อนแรงลงมาพร้อมกันนั่นเอง ปัญหาอื่นๆ ที่ตามมาก็ล้วนเป็นผลสืบเนื่องจากปัญหานี้ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการขาดสภาพคล่องหรือปัญหาการว่างงาน ซึ่งแตกต่างจากวิกฤตในปี 2540 และแตกต่างจากปัญหาที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯ โดยสิ้นเชิง เพราะทั้ง 2 เหตุการณ์หลัง มีสาเหตุร่วมจากเส้นเลือดทางการเงินที่ขาดสะบั้นจากการล้มเหลวของระบบการเงิน ซึ่งนำไปสู่ปัญหาสภาพคล่องที่ต้องการวิธีการแก้ไขที่แตกต่างออกไป ทั้งนี้ วิกฤต ปี 2540 กลุ่มที่ได้รับผลกระทบคือ ชนชั้นกลางเจ้าของธุรกิจ แต่คราวนี้จะกระทบกลุ่มคนใช้แรงงาน โดยเฉพาะภาคเศรษฐกิจจริง ทั้งภาคการผลิตและบริการจากการที่ผู้ผลิตต้องปรับตัวรับกับอุปสงค์ที่อ่อนแรงโดยลดการผลิต ลดชั่วโมงทำงาน เลิกจ้างลูกจ้างชั่วคราวและอาจถึงกับปลดคนงานในที่สุด

แนวทางแก้ไขจึงต้องแก้ที่สาเหตุและออกแบบนโยบายให้ตรงจุด มิฉะนั้นจะเหมือนการหว่านแหไปทั่ว ซึ่งนอกจากต้องใช้ทรัพยากรจำนวนมหาศาลแล้วยังอาจสร้างภาระของคนรุ่นต่อไปมากจนเกินไป นอกจากนี้ เมื่อผนวกกับมิติทางสังคม การเมืองเละเศรษฐกิจปัจจุบัน ทำให้ การแก้ปัญหามีความซับซ้อนขึ้นไปอีกอย่างน้อย 3 ประการคือ

(1) การใช้นโยบายการคลังในการกระตุ้นอุปสงค์มีข้อจำกัด เนื่องจากการใช้จ่ายภาครัฐนี้มีขนาดเล็ก เพียง 1 ใน 5 ของเศรษฐกิจไทย ซึ่งจะได้ผลเมื่อเป็นรายจ่ายที่จะไปจูงใจให้เอกชนบริโภคหรือลงทุนเพิ่มขึ้น ซึ่งองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดคือความมั่นใจและความสมานฉันท์ทางสังคมและการเมือง
(2) ข้อจำกัดด้านการขาดดุลเต็มเพดานที่กำหนดโดยกฎหมายเละการเพิ่มขึ้นของหนี้สาธารณะ ซึ่งทำให้เม็ดเงินที่จะใช้จ่ายมีน้อย การเลือกสรรโครงการที่เหมาะสมจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง บางโครงการถึงแม้จะถูกกำหนดจากรัฐธรรมนูญเละนโยบายรัฐบาลที่เป็นการอุดหนุนโดยทั่วไป (general subsidy) ใช้เงินมากไม่เร่งด่วนก็ควรมีความยืดหยุ่นที่จะเลื่อนออกไปก่อนเละเริ่มเมื่อสถานะเศรษฐกิจมีความพร้อมกว่านี้
(3) นโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นต้องไม่ขัดกับเป้าหมายเศรษฐกิจระยะยาว ทั้งการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจและการเพิ่มประสิทธิภาพให้ระบบเศรษฐกิจ รวมถึงความสามารถในการใช้ทรัพยากรที่มีประสิทธิภาพและอิงกลไกตลาด ควรเลี่ยงนโยบายกระตุ้นที่สร้างภาระระยะยาวโดยเฉเพาะที่จะกระทบต่อโครงสร้างภาษีอากร ตัวอย่างในการให้แนวทางในการขาดดุลของรัฐมนตรีคลังในการที่จะไม่ขาดดุลเพิ่มขึ้นในปี 2553 เป็นตัวอย่างที่ดีของความตั้งใจที่จะรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจในระยะยาว ในขณะเดียวกันนโยบายที่อาจจะตรึงราคาก๊าซ LPG ต่อไป ถึงแม้ช่วยลดภาระค่าครองชีพปัจจุบันลงได้บ้าง แต่จะก่อภาระให้กับภาครัฐในอนาคต หากราคาตลาดโลกสูงกว่าราคาขายในประเทศเหมือนที่เคยเกิดขึ้นในอดีตและยังทำให้ผู้ใช้ไม่ปรับตัวตามราคาตลาดโลกที่แพงขึ้น เหล่านี้เป็นข้อจำกัดที่ทำให้การดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจยากมากขึ้น ถึงแม้เราพอจะมีความหวังว่าเศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ และจะดึงเศรษฐกิจไทยฟื้นขึ้นมาด้วย แต่ก็ยังเป็นความหวังที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง จึงควรหันมาพึ่งตนเองเพื่อเตรียมพร้อมหากเศรษฐกิจโลกไม่ฟื้นจริง ผมในฐานะประชาชนคนหนึ่งขอให้กำลังใจให้ฟันฝ่าอุปสรรคไปให้ได้ เพราะผู้ใช้แรงงานหลายเเสนคน และประชาชนหลายล้านคนกำลังรอความหวังอยู่เช่นกัน

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย

จากเวปไซต์ธนาคารแห่งประเทศไทย
view