สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ทีวีไทย คุมเข้มตรวจสอบ-ลงโทษรายการ

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์



ผู้บริหารสถานีโทรทัศน์"ทีวีไทย" ชูข้อบังคับจริยธรรมเป็นกลไกกำกับดูการทำงานของพนักงานส.ส.ท.ทุกระดับ มีเป้าหมายสูงสุดเพื่อ "ประโยชน์ของสังคม"

หลังดำเนินกิจการได้ครบ 1 ปี องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) หรือไทยพีบีเอส ผู้บริหารสถานีโทรทัศน์ "ทีวีไทย" ได้ประกาศใช้ข้อบังคับจริยธรรมวิชาชีพครบทั้ง 3 ส่วนตามกฎหมายกำหนด ที่ว่าด้วยจริยธรรมของกรรมการ ผู้บริหาร พนักงาน, ข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมของวิชาชีพเกี่ยวกับการผลิตและเผยแพร่รายการ และแนวทางปฏิบัติด้านจริยธรรมวิชาชีพ  การจัดหา และการเผยแพร่รายการ

นายเทพชัย หย่อง ผู้อำนวยการ ส.ส.ท. กล่าวว่า ข้อบังคับจริยธรรมวิชาชีพทั้ง 3 ส่วนของ ส.ส.ท. จะเป็นกลไกสำคัญเพื่อใช้เป็นแนวทางกำกับดูแลการทำงานของ พนักงาน ส.ส.ท.ในทุกระดับและผู้ผลิตรายการจากภายนอก ให้เป็นไปตามมาตรฐานวิชาชีพอย่างเคร่งครัด โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือ "ประโยชน์ของสังคมส่วนรวม"

เนื้อหาของหลักจริยธรรมวิชาชีพ จะครอบคลุมพนักงานทุกคนในองค์การตั้งแต่ฝ่ายบริหารถึงฝ่ายปฏิบัติ ที่ต้องคำนึงถึงและปฏิบัติตาม เพื่อให้ผลงานที่ปรากฏสู่หน้าจอ "ทีวีไทย" ทั้งหมดเป็นรายการคุณภาพ ไม่ว่าจะเป็นข่าว รายการสาระหรือบันเทิง เน้นความถูกต้องของข้อเท็จจริง รายงานอย่างสมดุล เป็นธรรม เป็นกลาง และรอบด้าน  เคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ความแตกต่างและหลากหลาย

จุดยืนของ ส.ส.ท.ชัดเจน เรื่องความเป็นอิสระในการทำงาน ไม่ตกอยู่ภายใต้การกดดันไม่ว่าจะเป็นกลุ่มผลประโยชน์หรือกลุ่มทุนใดๆ ดังนั้นจึงต้องโปร่งใสในการทำงานทุกขั้นตอน และพร้อมรับการตรวจสอบจากทุกภาคส่วนในสังคม และมีบทลงโทษตามกระบวนการหากพบการกระทำที่ละเมิดข้อบังคับ ทั้งคนใน ส.ส.ท.และผู้ผลิตภายนอก 

"แม้ ส.ท.ท.ไม่ใช่พระเอก และข้อบังคับจริยธรรมไม่ใช่ยาวิเศษ แต่การเป็นสื่อสาธารณะ จำเป็นต้องเคร่งครัดต่อหน้าที่รับผิดชอบต่อสังคม พร้อมถูกตรวจสอบและรับบทลงโทษ"

สำหรับเสวนาเรื่อง “สื่อไทยกับจริยธรรมวิชาชีพ” ในโอกาสประกาศใช้ข้อบังคับจริยธรรมวิชาชีพของ ส.ส.ท. นายแพทย์ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส ได้กล่าวในหัวข้อ “จริยธรรมจะทำให้สื่อเปลี่ยนไปอย่างไร” โดยระบุว่าประเทศไทยกำลังเผชิญวิกฤติรอบด้านทั้ง เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม การเมือง และวัฒนธรรม เชื่อมโยงกันเป็น "มหาวิกฤติ" ที่มองไม่เห็นทางออก ดังนั้นต้องใช้ "สื่อ" ในการปรับให้สังคมไทยเป็นสังคมแห่งปัญญา การสื่อสารที่ดีจะช่วยสร้างปัญญาให้เกิดกับคนในสังคม สื่อจึงมีส่วนสำคัญในการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว  

และหากองค์กรสื่อ มีบุคลากรที่มีสติปัญญา เป็นผู้รอบรู้ มีหลักจริยธรรมวิชาชีพ และมีจิตสำนึกที่ดี จะช่วยสร้างสรรค์ประเทศชาติและสังคมให้มีความสงบสุขได้ ดังนั้นการประกาศใช้ข้อบังคับจริยธรรมวิชาชีพของสื่อจึงเป็นอีกแนวทางในการ พัฒนาสังคม 

นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ประธานสภาผู้ชมผู้ฟังรายการ ส.ส.ท. กล่าวว่า "สื่อ" ต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคม ตามหลักจริยธรรม เพื่อให้เป็นสื่อสร้างสรรค์ เพราะการมีจริยธรรมคือ การมีความดีกำกับ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานใดล้วนแต่ต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคม  การที่ต้องมีความรับผิดชอบ หมายถึง ทำตัวให้มีคุณค่าของสังคม ทำสิ่งที่ดีงาม ซึ่งจะเป็น"ภูมิคุ้มกัน" เป็นพลังความดีในอนาคต

ดร.พิรงรอง รามสูต คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จริยธรรมในวิชาชีพนั้นมีอยู่ในหลักสูตรการเรียนการสอน แต่มักไม่ปฏิบัติตามกรอบ ระเบียบของจริยธรรม จะเห็นได้จากปรากฏการณ์ที่เรียกว่าสื่อน้ำเน่า เน้นยอดขาย เน้นอารมณ์ หรือการเล่าข่าว เพื่อให้บริโภคข่าวได้ง่ายขึ้น การใส่ความรู้สึกส่วนตัว แต่อาจขาดความถูกต้องของข้อมูล เช่นเดียวกับปรากฏการณ์ใช้สื่อเป็นเครื่องมือทางการเมืองเช่นสถานีโทรทัศน์ PTV, ASTV หรือ DTV

ดังนั้นเมื่อ "สื่อ" ซึ่งจัดเป็น "ธุรกิจ" ประเภทหนึ่งได้รับความคุ้มครองสิทธิเสรีภาพจากรัฐธรรมนูญ  ซึ่งไม่มีธุรกิจใดๆ ได้รับความคุ้มครองเช่นนี้ เมื่อได้รับสิทธิ์แล้ว สื่อต้องใช้สิทธิ์อย่างถูกต้องตามจริยธรรมวิชาชีพด้วย  

โดยภาพรวมการบังคับให้สื่อปฏิบัติตามจริยธรรมเป็นสิ่งที่ยาก เพราะไม่มีบทลงโทษเป็นกฎหมายจึงยากที่จะควบคุม เมื่อ ส.ส.ท.ประกาศใช้ข้อบังคับและจรรยาบรรณวิชาชีพ ถือเป็นเรื่องที่ดี และเป็นตัวอย่างในวงการสื่อ

view