สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

รวมมิตรค่าโง่แสนล้านรัฐ-เอกชนซัดกันนัวคดีค้างศาล-อนุญาโตฯอื้อ

ประชาชาติธุรกิจ


รวม มิตรค่าโง่ รัฐเสียหายยับแสนล้าน โดยเฉพาะกทพ.เผยฟ้องกันนัว 11 คดี ค้างอยู่ในอนุญาโตฯและศาลฎีกาเพียบ"จรัญ"ชี้โกงทั้งระบบ เสียเปรียบตั้งแต่กระบวนการร่างสัญญา

แหล่งข่าวจากการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า กทพ.มีข้อพิพาทที่เป็นคดีความกับภาคเอกชนอยู่หลายคดีที่อยู่ในกระบวนการของ คณะอนุญาโตตุลาการและศาล ที่ตัดสินไปแล้วมีคดีค่าโง่ทางด่วนบางนา-ชลบุรี ที่กิจการร่วมค้าบีบีซีดี ซึ่ง บมจ.ช.การช่างเป็นแกนนำรับเหมาก่อสร้างฟ้องเรียกค่าชดเชยวงเงิน 6,200 ล้านบาท จากที่ กทพ.ส่งมอบพื้นที่ล่าช้า 11 เดือน และไม่เป็นไปตามสัญญา ซึ่งคณะอนุญาโตตุลาการชี้ขาดให้ กทพ.จ่ายเงินค่าชดเชยให้บริษัท แต่ กทพ.คัดค้าน ผู้รับเหมาจึงยื่นฟ้องต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ต่อมา กทพ.ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาและศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาให้ยกคำฟ้อง เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2550 ที่ผ่านมา

นอกจากนี้ยังมีข้อพิพาทระหว่าง กทพ.กับ บมจ.ทางด่วนกรุงเทพ หรือบีอีซีแอล และ บจ.ทางด่วนกรุงเทพเหนือ หรือเอ็นอีซีแอล ที่เป็นคู่สัญญาสัมปทานทางด่วน 11 คดี ทั้งอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะอนุญาโตตุลาการและศาลฎีกา แบ่งเป็น 1.ข้อพิพาทเสนอเข้าสู่กระบวนการระงับข้อพิพาทตามสัญญาและเรียกค่าเสียหาย มูลค่าฟ้องร้องจนถึงวันที่ยื่นข้อพิพาท 6,305.4 ล้านบาท 2.ข้อพิพาทที่ กทพ.เรียกร้องแย้งเป็นเงิน 15,575 ล้านบาท 3.ข้อพิพาทที่ กทพ.ยื่นเรียกค่าเสียหายมีมูลค่าฟ้องร้องจนถึงวันที่ยื่นข้อพิพาทมูลค่า 18.4 ล้านบาท 4.ข้อพิพาทมีมูลฟ้องที่บริษัทเรียกแย้ง 5,114 ล้านบาท

สำหรับข้อพิพาทที่บริษัทยื่นเรียกร้องค่าเสียหายมี 7 เรื่อง อาทิ 1.การปรับเพิ่มอัตราค่าผ่านทางปี 2541 ของทางด่วนขั้นที่ 1 และ 2 โดยบริษัทเสนอโครงข่ายในเมืองปรับเพิ่ม 10 บาทสำหรับรถยนต์ 4 ล้อ และ 20 บาทสำหรับรถยนต์ 6-10 ล้อ และเกิน 10 ล้อ มีการออกประกาศกระทรวงมหาดไทย วันที่ 27 สิงหาคม 2541 ตามอัตราที่บริษัทเสนอ ต่อมามีการร้องเรียนจากผู้ใช้ทาง กทพ.จึงออกประกาศค่าผ่านทางอีกฉบับ วันที่ 23 ตุลาคม 2541 ให้ค่าผ่านทางปรับเพิ่ม 10 บาท สำหรับรถทุกประเภท แต่โครงข่ายนอกเขตเมืองไม่มีการปรับ บริษัทจึงฟ้องร้องต่อศาลเพื่อเรียกค่าชดเชยผลต่างระหว่างอัตราค่าผ่านทาง จริง ตั้งแต่วันที่ 24 ตุลาคม 2541 ถึงวันที่ 15 กรกฎาคม 2543 ซึ่งเป็นวันยื่นข้อพิพาท 360,898,617 บาท ซึ่งวันที่ 18 กุมภาพันธ์นี้ ศาลฎีกาจะมีการอ่านคำพิพากษา ซึ่งหาก กทพ.แพ้คดี คาดว่าจะต้องจ่ายค่าเสียหายให้เอกชน 1,700 ล้านบาท (ล่าสุดกทพ.ชนะคดีแล้วหลังศาลฎีกาสั่งยกคำร้อง)

แหล่งข่าวกล่าวต่อว่า ส่วนข้อพิพาทที่ กทพ.ยื่นเรียกค่าเสียหายจากเอกชนคู่สัญญามี 4 เรื่อง คือ 1.การก่อสร้างถนนรวมและกระจายการจราจรหรือซีดีโรด ภายใต้สัญญาโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 ช่วงพระราม 6-ราชดำริ

2.ให้บริษัทรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการแก้ปัญหาผลกระทบจากทางด่วนขั้นที่ 2 วงเงิน 1.7 ล้านบาท

3.ความรับผิดชอบในค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นจากการดำเนินงานตามสัญญาทางด่วนขั้น ที่ 2 กทพ.ยื่นข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการ เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2547 ให้บริษัทรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น เป็นเงิน 16.4 ล้านบาท อนุญาโตตุลาการกำลังพิจารณา

4.ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับปัญหาการร้องเรียน เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2548 กทพ.เสนอข้อพิพาทต่อคณะผู้พิจารณาเรียกร้องให้บริษัทชดใช้ค่าใช้จ่ายในการทำ ทางเข้าออกแก่ที่ดินของผู้ร้องเรียนผ่านเขตทางด่วนขั้นที่ 2 วงเงิน 404,719 บาท บริษัทยื่นคำคัดค้านเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2550

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจาก กทพ.ที่มีคดีความกับคู่สัญญาแล้ว ยังมีกรมทางหลวงที่มีคดีฟ้องร้องกับผู้ถือหุ้นของบริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) ผู้รับสัมปทานโทลล์เวย์ คือ บจ.วอเตอร์บาวน์ ผู้รับเหมาจากประเทศเยอรมนี จากการได้รับความเสียหายจากการเข้ามาลงทุนในประเทศไทย และรัฐบาลทำผิดสัญญาจากการให้ปรับลดค่าผ่านทางเหลือ 20 บาทตลอดสาย สร้างทางแข่งขัน เรียกค่าเสียหายเป็นเงินกว่า 6,000 ล้านบาท รอคำชี้ขาดจากอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศในเดือนพฤษภาคมนี้ 

กรณีการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ถูก บจ.โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) คู่สัญญาก่อสร้างฟ้องเรียกค่าชดเชยกว่า 12,000 ล้านบาท เพราะการก่อสร้างไม่เป็นไปตามสัญญา เนื่องจากการรถไฟฯส่งมอบพื้นที่ล่าช้า และยกเลิกสัญญาโดยไม่ชอบ ซึ่งอนุญาโตตุลาการชี้ขาดเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2551 ที่ผ่านมา ขณะนี้อัยการสูงสุดยื่นคัดค้านให้การรถไฟฯแล้ว อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของศาลปกครอง

คดีการจัดซื้อรถและเรือดับเพลิงของกรุงเทพมหานคร (กทม.) มูลค่า 6,700 ล้านบาท ซึ่ง กทม.จ่ายเงินค่างวดให้กับบริษัทสไตเออร์ฯ ผู้ผลิตรถไปแล้ว จำนวน 5 งวด เป็นเงิน 4,000 กว่าล้านบาท แต่ยังไม่สามารถนำมาใช้งานได้

นายจรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ อดีตปลัดกระทรวงยุติธรรม เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า จริงๆ แล้วระบบอนุญาโตตุลาการ โดยตัวของระบบไม่มีอะไรเสียหาย แท้ที่จริงแล้วระบบอนุญาโตตุลาการถูกออกแบบเป็นศาลที่คู่ความเลือก แล้วจัดตั้งขึ้นมาเฉพาะคดีปัญหาที่มันเสียหาย เกิดจากการที่คนเข้าไปร่วมกระบวนการอนุญาโตตุลาการ ไม่ตรงไปตรงมา เป็นปัญหาของการโกงระบบ เอกชนเมื่อมาพิพาทกับหน่วยงานรัฐมักใช้วิธีการซื้อคนของรัฐ ซื้อตั้งแต่ตอนทำสัญญา ไม่ใช่ในตอนเป็นอนุญาโตตุลาการ มีการซื้อตั้งแต่ตอนร่างสัญญา เพราะฉะนั้น สัญญาจึงออกมา ได้เปรียบเสียเปรียบอย่างซับซ้อนซ่อนเงื่อน และเมื่อพิพาทกันขึ้นมาก็เข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการ ซึ่งอนุญาโตตุลาการก็ต้องตัดสินไปตามสัญญา เว้นแต่จะตรวจพบและจับได้ว่ามีการไม่สุจริต ในกระบวนการร่างสัญญา ซึ่งจับยากมาก และอนุญาโตตุลาการก็ไม่มีปัญญาจะไปตรวจสอบความไม่สุจริต ส่วนใหญ่ก็เอาสัญญามาดูความถูกต้อง ถ้าไม่ต้องตามสัญญา เอกชนเสียหายเท่าไร ฝ่ายรัฐก็ต้องจ่ายค่าเสียหาย

view