เรื่องร้อนของวงการน้ำเมาช่วงนี้ เห็นจะหนีไม่พ้น 2 เรื่องหลักที่รัฐบาลจะมีมาตรการออกมาใช้เพื่อควบคุมการดื่มแอลกอฮอล์ของประชาชน
นั่นคือ แนวคิดที่จะห้ามจำหน่ายในช่วงสงกรานต์ โดยมีเป้าหมายเพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุในช่วงดังกล่าว
อีกเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กัน คือ การพิจารณาขึ้นภาษีสรรพสามิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อหารายได้จากภาษีเพิ่มเข้าคลังหลังจากจัดเก็บภาษีได้ต่ำกว่าเป้า
ขณะนี้เกิดคำถามขึ้นว่า มาตรการที่รัฐบาลจะดำเนินการนั้น แท้จริงแล้วประสบผลสำเร็จตามเป้าหมายหรือไม่ แล้วใครที่เป็นฝ่ายที่ได้ประโยชน์ ใช่ประชาชนอย่างที่ภาครัฐตั้งเป้าไว้หรือไม่
ต้อง ยอมรับว่า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นสินค้าที่มีโทษต่อสุขภาพ ทำให้ภาษีที่จัดเก็บจากเครื่องดื่มกลุ่มนี้ ถูกเรียกว่า ภาษีบาป แต่ในขณะเดียวกัน ก็ต้องยอมรับว่าภาษีบาปนี่เองที่ทำรายได้เข้ารัฐอย่างเป็นกอบเป็นกำ ปีละไม่ต่ำกว่า 7 หมื่นล้านบาท
ถึงตอนนี้ มีความคิดแตกเป็นสองฝ่าย ฝ่ายหนึ่งต้องการให้รีดภาษีน้ำเมาให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ จนแม้สินค้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หลายประเภท เก็บภาษีเต็มเพดานแล้ว ก็เสนอให้พิจารณาปรับเพดานภาษีให้สูงขึ้นไปอีก เพื่อให้ราคาสินค้าเพิ่มสูงขึ้น จนประชาชนลดการดื่มไปเอง เพราะต้องการประหยัดเงินในกระเป๋า
อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันยังมีสินค้าอีก 2 ประเภทในกลุ่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ คือ เบียร์และเหล้าขาว ที่ยังจัดเก็บภาษีไม่เต็มเพดาน โดยเบียร์เก็บอยู่ 55% (ตามมูลค่า) และเพดานอยู่ที่ 60% ส่วนภาษีสุราขาวเสนอให้ปรับขึ้นจาก 110 บาทต่อลิตรแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ (ลอบ.) ให้เต็มเพดานที่ 400 บาทต่อลอบ.
เรื่องนี้จึงมีเสียงสะท้อนจากฝั่งผู้ประกอบการว่า หากรัฐบาลจะแก้ไขเพดานภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ใหม่ ก็ควรจัดเก็บภาษีเบียร์และเหล้าขาวให้เต็มเพดานเหมือนเครื่องดื่มอื่นๆ ก่อน เพื่อไม่ให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบในการดำเนินธุรกิจ พร้อมส่งเสียงท้วงติงว่า หากรัฐบาลจะจัดเก็บภาษีเพิ่ม หรือห้ามจำหน่ายเหล้าในช่วงเทศกาลสงกรานต์ก็ตาม ควรพิจารณาให้รอบคอบถึงธุรกิจเกี่ยวเนื่องอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจท่องเที่ยวที่ต้องการการฟื้นฟูอย่างเร่งด่วน ร้านอาหาร จนถึงร้านค้ารายย่อยที่อาจได้รับผลกระทบ
ทั้งนี้ หากภาคธุรกิจกระทบแล้ว ภาครัฐเองก็จะมีรายได้ลดลงด้วย จากการจัดเก็บภาษีที่ลดลง จนท้ายที่สุดจะส่งผลกระทบถึงผู้บริโภคเองในแง่ของราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้น
หากถามว่าใครจะได้จะเสียจากการปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตเครื่องดื่ม แอลกอฮอล์ แน่นอนว่าสิ่งที่รัฐบาลคาดหวังย่อมเป็นรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากภาษีที่ปรับสูง ขึ้น แต่ในความเป็นจริงแล้ว รัฐบาลควรมองเห็นว่า เบียร์และสุราขาวเป็นตลาดใหญ่สุดในตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยรวม แต่ยังจัดเก็บภาษีไม่เต็มเพดาน
จุดนี้เป็นเสมือนจุดบอดที่รัฐมองข้ามไป หรืออาจเป็นการพยายามมองไม่เห็น เพราะหากเก็บได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยเหมือนเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อื่นๆ มีการประเมินว่ารัฐบาลจะได้เงินภาษีเพิ่มขึ้นอีกไม่ต่ำกว่า 2 หมื่นล้านบาททีเดียว
จากนั้นค่อยพิจารณาปรับเพดานภาษีทั้งระบบหากคิดว่าการขึ้นภาษี แล้วสินค้าแพงขึ้น จะช่วยลดการดื่มของประชาชนได้ เพราะท้ายสุดแล้ว ภาษีที่เพิ่มขึ้น ย่อมตกเป็นภาระของผู้บริโภคที่ยังเลือกดื่มอยู่ดี
นอกจากนี้ ยังทำให้ผู้ประกอบการในภาคธุรกิจนี้รู้สึกถึงความเท่าเทียมกันในการประกอบ ธุรกิจ ไม่ใช่เอื้อประโยชน์ให้แก่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น อีกทั้งหากภาครัฐจะมีมาตรการใดออกมาก็ตาม ภาคเอกชนต้องทำตามอยู่แล้ว
แต่ก่อนที่จะบังคับใช้เรื่องใดเรื่องหนึ่งการแชร์ข้อมูลระหว่างกัน ก็ถือเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อที่จะได้ไม่ถูกกล่าวหาว่าภาครัฐรังแกภาคเอกชน ในภาวะที่ประเทศไทยต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวโดยเร็ว ซึ่งการลงทุนของภาคเอกชนถือเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นตัว ได้เร็วขึ้น
อีกมุมในความเป็นจริงที่รัฐบาลทราบแต่ไม่อยากจะยอมรับ คือ คนที่ดื่ม ก็ยังคงดื่มอยู่ แต่อาจปรับพฤติกรรมการดื่มให้ลดความถี่ลง ดื่มน้อยลง หรือแม้แต่เปลี่ยนจากยี่ห้อแพงมาเป็นยี่ห้อที่มีราคาถูกกว่า
นั่นเพราะที่ผ่านมาภาครัฐขาดการปลุกจิตสำนึกและการให้ความรู้ เรื่องการดื่มอย่างมีความรับผิดชอบมาตั้งแต่ต้น เมื่อมาเริ่มทำในตอนนี้ สำหรับคนที่ดื่มอยู่แล้วดูจะช้าเกินไป
ดังนั้น จึงควรให้ความสำคัญกับการปลูกฝัง และรณรงค์ถึงโทษภัยของการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างเข้มข้นตั้งแต่วัย เด็ก ต่อเนื่องจนถึงเยาวชน เพื่อให้คนรุ่นใหม่ของประเทศเติบโตเป็นคนรุ่นใหม่ที่ไม่นิยมดื่ม หรือหากจำเป็นต้องดื่มเพื่อสังคม ก็เป็นการดื่มอย่างรู้สำนึกและรับผิดชอบ เมื่อนั้นเชื่อว่าปัญหาจะลดลงจนไม่ต้องมานั่งล้อมคอกหรือแก้ที่ปลายเหตุกัน อย่างทุกวันนี้
ทำช้าแต่ทำได้ถูกทางและต่อเนื่องก็ยังดี!!!