กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
ดร.โสภณ พรโชคชัย
sopon @ area.co.th
ในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือนมีนาคม 2552 มีคนโทรศัพท์มาถามผมว่ามีการต่ออายุมาตรการ 0.01% หรือไม่ แต่ผมก็หาคำตอบให้ไม่ได้
จนภายหลังถึงได้ทราบว่ามีการต่ออายุ ‘อย่างเงียบเชียบ’ ผมอยากตั้งข้อสังเกตว่านี่เป็นกรณีตัวอย่างของที่ประชาชนขาดการรับรู้ข้อมูลเท่าที่ควร
มาตรการ 0.01% ที่ผมจั่วหัวไว้หมายถึงการลดค่าธรรมเนียมโอนจาก 2% เหลือ 0.01% และลดค่าธรรมเนียมจดจำนองจาก 1% เหลือ 0.01% เช่นกัน มาตรการดังกล่าวหมดอายุไปเมื่อวันเสาร์ที่ 28 มีนาคม 2552 ซึ่งเป็นวันหยุดราชการ จึงมีผลจริงถึงเพียงวันศุกร์ที่ 27 มีนาคม 2552
ผมได้ค้นพบว่ามีประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการลดค่าธรรมเนียมดังกล่าว ซึ่งลงนามโดยนายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ลงวันพฤหัสบดีที่ 26 มีนาคม 2552 และกรมที่ดินก็มีหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดแจ้งเรื่องดัง กล่าวในวันเดียวกัน ซึ่งเป็นวันก่อนหมดกำหนดมาตรการดังกล่าวเพียงวันเดียว
อย่างไรก็ตามผมมาตรวจสอบข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ต่างๆ ก็ไม่พบหนังสือพิมพ์ฉบับใดได้ทันลงข่าวให้ประชาชนได้รับทราบในวันศุกร์ที่ 27 มีนาคมเลย ล่าสุดที่พบก็คือ พบในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ซึ่งได้ลงข่าวการต่ออายุว่า ‘เฉียดฉิว ต่ออายุ 0.01%’ เมื่อวันจันทร์ที่ 30 มีนาคม ในเวลา 00.01 น. ซึ่งผ่านพ้นช่วงหมดอายุไปแล้ว ส่วนหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับวันที่ 2-4 เมษายน 2552 ก็ลงไว้ในหน้า 35
ทำไมจึงประกาศช้านัก และที่สำคัญภาษีธุรกิจเฉพาะที่ลดลงจาก 3.3% เหลือ 0.11% นั้น ก็ยังไม่ทันได้ประกาศใช้ และต้องกลับไปเก็บในอัตราเดิมไปก่อน จนกว่าจะได้ประกาศใช้ใหม่ และให้มีผล (ดี) ย้อนหลัง ทำให้เกิดความลักลั่นและฉุกละหุกโดยไม่จำเป็น
เป็นที่น่าแปลกใจเป็นอย่างยิ่งว่า ทำไมทางราชการจึงประกาศออกมาช้านักในเรื่องสำคัญที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับผล ประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่ซึ่งเป็นผู้ซื้อบ้านนี้
สิ่งที่น่าจะเป็นสำหรับการบริหารราชการแผ่นดินที่มีการวางแผนและเตรียม การอย่างเหมาะสมนั้นก็คือ เมื่อถึงกำหนดหมดอายุมาตรการดังกล่าว รัฐบาลก็ควรประกาศให้ชัดเจนว่าจะต่ออายุหรือไม่ ประชาชนจะได้รับรู้ล่วงหน้า ไม่ควรเงียบและปล่อยให้ ‘ลือ’ หรือเข้าใจไปเองว่าจะมีการต่ออายุ (หรือไม่)
ที่ควรบอกให้ชัดเจนก็เพราะ ประชาชนผู้ซื้อบ้านจะได้เตรียมตัวไว้แต่เนิ่น ๆ ผู้ประกอบการพัฒนาที่ดินก็จะได้วางแผนได้ล่วงหน้าเช่นกัน การลงนามประกาศออกมาอย่างเฉียดฉิวเช่นนี้ ทำให้เห็นว่าการบริหารราชการแผ่นดินอาจขาดความเป็น ‘มืออาชีพ’ เท่าที่ควร
การที่รัฐบาลไม่ประกาศให้ชัดเจนแต่แรก ผู้ซื้อบ้านและผู้ประกอบการก็ต้องพยายามเร่งโอนกันอย่างทุลักทุเล บ้านที่ก่อสร้างยังไม่ทันเสร็จดี ก็ต้องเร่งให้เสร็จ (หรือไม่) เพื่อให้สามารถรีบเร่งโอนให้ทันกำหนดเพราะจะสามารถประหยัดภาษีได้พอสมควร
ประเด็นที่สำคัญที่สุดก็คือ การที่รัฐบาลได้ลงนามประกาศมาตรการดังกล่าวในวันที่ 26 มีนาคมนั้น แสดงว่ารัฐบาลมีแผนอยู่แล้วว่าจะยืดอายุมาตรการดังกล่าว รัฐบาลก็ควรจะรีบแจ้งให้ประชาชนทราบล่วงหน้า บอกว่าไม่ต้องรีบร้อน มาตรการดังกล่าวได้รับการต่ออายุทันตามกำหนดแน่นอน
หรือเมื่อมีประกาศกระทรวงมหาดไทยเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2552 แล้ว ก็น่าจะรีบแจ้งวิทยุ-โทรทัศน์ของกรมประชาสัมพันธ์หรือสื่อต่าง ๆ ให้ช่วยกันเผยแพร่ข่าวโดยเร็วที่สุด เพื่อให้ประชาชนได้รับรู้และอุ่นใจ เช่น บางคนที่ยังหาเงินมาโอนไม่ทัน จะได้ไม่ต้องไปกู้เงิน (นอกระบบ) มารีบร้อนโอน เป็นต้น
ผมเชื่อว่ารัฐบาลและหน่วยราชการคงไม่ได้ตั้งใจที่จะประกาศต่ออายุมาตรการ อย่างฉุกละหุกและเงียบเชียบหรอกครับ รัฐบาลคงมีหลายเรื่องที่ต้องดำเนินการ ประกอบกับมีปัญหาทางการเมืองแทรกซ้อนหลายประการอีกต่างหาก
แต่รัฐบาลก็ควรได้เห็นว่า ความฉุกละหุกและความเงียบเชียบในการประกาศต่ออายุมาตรการดังกล่าวนั้น ผลประโยชน์ไปตกกับผู้ประกอบการพัฒนาที่ดินแบบ ‘เต็ม ๆ’ ทำให้การหมุนเวียนของกระแสเงินสดดี เพราะผู้ซื้อที่ (ใกล้) ถึงเวลาโอนทั้งหลายก็รีบมาโอนในช่วงเวลาดังกล่าวกันทั้งนั้น ถือเป็นการกระตุ้นยอดโอนและการรับรู้รายได้ ผู้ประกอบการหลายรายคงรู้สึกโล่งอกที่ได้โอนบ้านในช่วงดังกล่าว
การ ‘เข้าทาง’ ผู้ประกอบการ ก็ไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไร รัฐบาลไม่พึงไปขัดผลประโยชน์ของใคร และหากส่งเสริมธุรกิจใด ๆ เพื่อให้ประเทศชาติมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คึกคักย่อมควรดำเนินการ แต่การที่ประชาชนตกอยู่ในภาวะที่ไม่ทราบข้อมูลข่าวสารจนต้องรีบร้อนเฮโลไป โอน ทั้งที่รัฐบาลก็มีแผนที่จะต่ออายุมาตรการอยู่แล้ว คงเป็นเรื่องที่ควรทบทวน
ผมจึงเขียนบทความนี้เพื่อให้เป็นอุทาหรณ์ว่าในโอกาสต่อไป รัฐบาลควรวางแผนและเตรียมการให้รอบคอบและชัดเจนไว้ล่วงหน้า ประชาชนเจ้าของประเทศโดยเฉพาะในกลุ่มผู้ซื้อบ้านจะได้ไม่ต้องตกอกตกใจและไม่ เสียประโยชน์
รัฐบาลของประชาชนย่อมยึดถือผลประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่เป็นที่ตั้งครับ
* ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน กรรมการ ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าทรัพย์สิน AREA ซึ่งเป็นผู้ประเมินค่าทรัพย์สินและนักวิจัยด้านอสังหาริมทรัพย์ที่บุกเบิก ศูนย์ข้อมูลฯ