สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ผู้หญิง85%ระบุนายกฯต้องมาจากการเลือกตั้ง

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์


เอแบคโพลล์เผยความคิดเห็นผู้หญิงต่อการเมือง โดย 85.1% ระบุนายกรัฐมนตรีควรมาจากการเลือกตั้งของประชาชน แต่การปกครองยังไม่ตรงใจประชาชน

ดร. นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการศูนย์เครือข่ายวิชาการเพื่อสังเกตการณ์และวิจัยความสุขชุมชน หรือศูนย์วิจัยความสุขชุมชน (Academic Network for Community Happiness Observation and Research,  ANCHOR) มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเรื่อง "เสียงสะท้อนของผู้หญิงไทย ต่อการเมืองกับสิทธิผู้หญิง และสื่อมวลชนของสังคมไทย" กรณีศึกษาตัวอย่างผู้หญิงไทยอายุ 18 ปีขึ้นไปใน 17 จังหวัดของประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี สมุทรปราการ พระนครศรีอยุธยา ชลบุรี จันทบุรี ราชบุรี เชียงใหม่ เชียงราย กำแพงเพชร  บุรีรัมย์ ขอนแก่น ร้อยเอ็ด สกลนคร ชุมพร พัทลุงและสงขลา จำนวนทั้งสิ้น 1,355 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 20 - 30 พฤษภาคม 2552 พบว่า

เมื่อถามกลุ่มผู้หญิงที่ถูกศึกษาครั้งนี้ถึงความเห็นต่อ เจตนารมณ์ความต้องการของประชาชน ควรเป็นรากฐานสำคัญของอำนาจของรัฐบาล พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 87.8 ค่อนข้างเห็นด้วยถึงเห็นด้วยอย่างมาก ในขณะที่ร้อยละ 7.0 ไม่ค่อยเห็นด้วย ถึงไม่เห็นด้วยเลย และร้อยละ 5.2 ระบุเฉยๆ ต่อประเด็นนี้

เมื่อถามถึงที่มาของคนที่จะเป็นผู้นำรัฐบาลหรือนายกรัฐมนตรี พบว่า กลุ่มผู้หญิงส่วนใหญ่หรือร้อยละ 85.1 เห็นว่า นายกรัฐมนตรีควรมาจากการเลือกตั้งของประชาชนโดยตรง ในขณะที่เพียงร้อยละ 8.4 เห็นว่าควรผ่านกระบวนการอย่างอื่น และร้อยละ 6.5 ไม่ทราบ ไม่แน่ใจ นอกจากนี้ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 76.5 ต้องการให้รัฐบาลสนใจความรู้สึกนึกคิดของประชาชนอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ร้อยละ 13.2 คิดว่า เลือกตั้งเสร็จแล้ว ก็แล้วกันไปถือว่าจบสิ้นการใช้สิทธิของประชาชน และร้อยละ 10.3 ไม่ทราบ ไม่แน่ใจ ตามลำดับ แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ กลุ่มผู้หญิงที่ถูกศึกษาครั้งนี้ได้ให้คะแนนว่า ประเทศไทยได้ดำเนินการปกครองตามความต้องการของประชาชนคนไทยได้อย่างแท้จริง มากน้อยเพียงไร พบว่า จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน ค่าคะแนนเฉลี่ยได้เพียง 5.50 คะแนน

เมื่อถามถึงการให้ความสำคัญต่อประเด็นสำคัญต่างๆ บางประการ พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 88.1 ระบุให้ความสำคัญต่อการที่ผู้หญิงควรมีสิทธิเท่าเทียมกับผู้ชาย รองลงมาคือ ร้อยละ 80.7 เห็นว่าควรมี “รัฐมนตรีหญิง” ในรัฐบาลมากขึ้น ร้อยละ 79.2 เห็นว่าควรมี ผู้หญิง ในรัฐสภาเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่ร้อยละ 76.2 ระบุ คนเชื้อชาติต่างๆ ในสังคมไทยควรได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน เช่นเรื่อง การทำงาน การศึกษา และการเข้าถึงระบบบริการด้านสุขภาพถ้วนหน้า เป็นต้น และร้อยละ 72.1 ระบุสื่อมวลชนควรมีอิสระในการเสนอข่าวและความคิดได้โดยรัฐบาลไม่สามารถเข้า มาควบคุม

อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจพบว่า เมื่อเปรียบเทียบตลอดช่วงชีวิตที่ผ่านมา เมื่อเทียบกับสิทธิที่ผู้ชายได้รับจากสังคม ตัวอย่างเพียง   ร้อยละ 1.6 ที่เห็นว่าผู้หญิงมีสิทธิมากกว่าผู้ชาย ในขณะที่ร้อยละ 49.3 เห็นว่าผู้หญิงไทยมีสิทธิเพิ่มขึ้นมาก แต่ร้อยละ 33.4 เห็นว่าผู้หญิงมีสิทธิเพิ่มขึ้นบ้างเพียงเล็กน้อย ร้อยละ 7.8 เห็นว่าเหมือนเดิม ไม่เปลี่ยนแปลง ร้อยละ 1.7 เห็นว่าผู้หญิงมีสิทธิน้อยลง ร้อยละ 1.4 เห็นว่าผู้หญิงมีสิทธิน้อยลงมาก และร้อยละ 4.8 ไม่ทราบ ไม่แน่ใจ

ผู้หญิงส่วนใหญ่หรือร้อยละ 76.4 เห็นว่ารัฐบาลควรพยายามให้มากขึ้นที่จะเข้ามาดูแลป้องกันไม่ให้มีการดูถูก เพศหญิงในสังคมไทย ในขณะที่ร้อยละ 7.1 เห็นว่า รัฐบาลพยายามอย่างเพียงพอแล้ว และร้อยละ 16.5 ไม่ทราบ ไม่แน่ใจ แต่ที่น่าพิจารณาคือ เมื่อถามถึงความรู้สึกต่อผู้หญิงที่หย่ากับสามีของตน พบว่า ตัวอย่างผู้หญิงร้อยละ 41.6 รู้สึกแย่ ร้อยละ 42.7 ไม่รู้สึกแย่ และร้อยละ 15.7 ไม่แน่ใจ

เมื่อถามถึงสิทธิการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชน พบว่า ร้อยละ 45.8 เห็นว่า สื่อมวลชนมีสิทธิเสนอข่าวใดๆ โดยปราศจากการควบคุมของรัฐบาล ในขณะที่ร้อยละ 37.3 เห็นว่า รัฐบาลมีสิทธิห้ามสื่อมวลชนเสนอข่าวที่กระทบต่อความมั่นคงทางการเมือง และร้อยละ 16.9 ไม่ทราบ ไม่แน่ใจ นอกจากนี้ ที่น่าสนใจคือ ตัวอย่างผู้หญิงส่วนใหญ่หรือร้อยละ 77.6 เห็นว่า คนไทยควรมีสิทธิที่จะอ่านข้อมูลข่าวสารอะไรก็ได้บนอินเทอร์เน็ต ในขณะที่ร้อยละ 9.5 เห็นว่ารัฐบาลควรมีสิทธิจะห้ามคนไทยเข้าถึงข้อมูลข่าวสารบนอินเทอร์เน็ต และร้อยละ 12.9 ไม่แน่ใจ

ผอ.ศูนย์วิจัยความสุขชุมชน กล่าวว่า เสียงสะท้อนของผู้หญิงต่อ การเมือง สิทธิของผู้หญิง และสื่อมวลชนครั้งนี้ น่าจะเป็นข้อมูลให้กับองค์กรต่างๆ หน่วยงานของรัฐและกลุ่มผู้หญิงไทยเองใช้ขับเคลื่อนสังคมไทยให้ก้าวไปสู่ความ สมดุลของสังคมไทยในเรื่องสิทธิและความเท่าเทียมกันของเพศ และชาติพันธุ์ โดยอาจเริ่มจากในครอบครัว ไปสู่ชุมชน องค์กรธุรกิจ หน่วยงานของรัฐ และคณะรัฐมนตรีในรัฐบาล แต่ที่สำคัญคือ เมื่อผู้หญิงได้ก้าวสู่ตำแหน่งและบทบาทสำคัญแล้ว ต้องเร่งแสดงผลงานให้จับต้องได้โดยใช้ความเป็นผู้หญิงในการเชื่อมประสานความ รักความสามัคคีของคนในชาติ ความใส่ใจในความทุกข์ยากของประชาชนทุกกลุ่มอย่างรวดเร็วฉับไวและเท่าเทียม แสดงออกให้สังคมเห็น “คุณธรรมของความเป็นมารดา” ที่พร้อมให้อภัยและรักเป็นห่วงบุตร พร้อมแบกภาระไว้เต็มหัวอกอย่างลึกซึ้งต่อไป
ลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง

จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่าตัวอย่างส่วนใหญ่หรือร้อยละ 74.9 มีการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี ในขณะที่ ร้อยละ 25.1 การศึกษาระดับปริญญาตรี ตัวอย่างร้อยละ 6.4 อายุต่ำกว่า 20 ปี ร้อยละ 36.5 อายุ 20 – 29 ปี ร้อยละ 21.5 อายุ 30 – 39 ปี ร้อยละ 18.3 อายุ 40 – 49 ปี และร้อยละ 17.3 อายุ 50 ปีขึ้นไป โดยตัวอย่างร้อยละ 30.4 ระบุอาชีพเกษตรกร/รับจ้างทั่วไป   ร้อยละ 23.8 ระบุอาชีพค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว   ร้อยละ 16.9  ระบุอาชีพพนักงานบริษัทเอกชน ร้อยละ  11.2 ระบุข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 7.3  เป็นแม่บ้าน/พ่อบ้าน/เกษียณอายุ  ร้อยละ  6.9  เป็นนักเรียน/นักศึกษา ในขณะที่ร้อยละ 3.5 ระบุว่างงาน/ไม่ประกอบอาชีพ

view