สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (1)

จาก เดลินิวส์ออนไลน์

อ.สุเทพ พงษ์พิทักษ์


 


คำว่า “วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม” หรือ SMEs ย่อมาจากคำเต็ม ๆ ว่า Small and Medium Enterprises ในบ้านเราได้นำคำว่า SMEs มาปรับประยุกต์ใช้มากมายหลายส่วนงาน จึงมีความหมายหรือหลักเกณฑ์ในการจัดชั้นแตกต่างกันไป อาทิ 
 
SMEs ตามพระราชบัญญัติส่งเสริม วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม พ.ศ. 2543 มีดังนี้
 
วิสาหกิจขนาดย่อม ได้แก่ ธุรกิจใด ๆ ก็ตามที่มีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ (1) ธุรกิจผลิตสินค้าที่มีการจ้างงานไม่เกิน 50 คน (2) ธุรกิจผลิตสินค้า ที่มีมูลค่าสินทรัพย์ถาวรไม่เกิน 50 ล้านบาท (3) ธุรกิจบริการที่มีการจ้างงานไม่เกิน 50 คน (4) ธุรกิจบริการที่มีมูลค่าสินทรัพย์ถาวรไม่เกิน 50 ล้านบาท (5) ธุรกิจค้าส่งที่มีการจ้างงานไม่เกิน 25 คน (6) ธุรกิจค้าส่งที่มีมูลค่าสินทรัพย์ถาวรไม่เกิน 50 ล้านบาท (7) ธุรกิจค้าปลีกที่มีการจ้างงานไม่เกิน 15 คน (8) ธุรกิจค้าปลีกที่มีมูลค่าสินทรัพย์ถาวรไม่เกิน 30 ล้านบาท
 
วิสาหกิจขนาดกลาง มีลักษณะเพิ่มเติมมากขึ้นกว่าธุรกิจขนาดย่อม ดังนี้
 
(1) ธุรกิจผลิตสินค้าที่มีการจ้างงาน ตั้งแต่ 51 ถึง 200 คน

(2) ธุรกิจผลิตสินค้าที่มีมูลค่าทรัพย์สินถาวร เกินกว่า 50 แต่ไม่เกิน 200 ล้านบาท
 
(3) ธุรกิจให้บริการ ที่มีการจ้างงาน ตั้งแต่ 51 ถึง 200 คน

(4) ธุรกิจให้บริการที่มีมูลค่าทรัพย์สินถาวรเกินกว่า 50 แต่ไม่เกิน 200 ล้านบาท
 
(5) ธุรกิจค้าส่งที่มีการจ้างงาน ตั้งแต่ 26 ถึง 50 คน

(6) ธุรกิจค้าส่งที่มีมูลค่าทรัพย์สินถาวรเกินกว่า 50 แต่ไม่เกิน 100 ล้านบาท

(7) ธุรกิจค้าปลีกที่มีการจ้างงานตั้งแต่ 16 ถึง 30 คน

(8) ธุรกิจค้าปลีกที่มีมูลค่าทรัพย์สินถาวรเกินกว่า 30 แต่ไม่เกิน 60 ล้านบาท
 
ทั้งนี้ มูลค่าทรัพย์สินถาวรดังกล่าว ไม่นับรวมมูลค่าของที่ดิน
 
SMEs ตามพระราชบัญญัติการบัญชี พ.ศ. 2543 มีข้อกำหนดเกี่ยวกับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลขนาดเล็กที่ใช้ผู้ทำ บัญชีที่จบระดับ ปวส.ทางการบัญชี ได้แก่ บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ที่มีทุนจดทะเบียนชำระแล้วในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกิน 5 ล้านบาท และในรอบระยะเวลาบัญชีปีนั้น ๆ ต้องมีรายได้ไม่เกิน 30 ล้านบาท และมีทรัพย์สินรวมไม่เกิน 30 ล้านบาท และพิเศษเฉพาะห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลไม่ต้องมีผู้สอบบัญชีรับอนุญาต (CPA) ตรวจสอบและรับรองงบดุลตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2545 เป็นต้นไป
 
ในส่วนของภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร มีการกล่าวถึง SMEs อยู่หลายกรณี ซึ่งต้องให้เนื้อที่พอสมควรจึงขอยกยอดไปสัปดาห์หน้าครับ.

view