จาก โพสต์ทูเดย์
รายงานโดย :วิโรจน์ พูนสุวรรณ:
จากสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ข้อเท็จจริงมี อยู่ว่าผู้ค้ำประกันมักจะถูกเมินเฉยและไม่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมการเจรจา สัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของผู้กู้ ทั้งในส่วนที่กระทำนอกศาลและที่ผ่านกระบวนการทางศาล ทั้งนี้เป็นเพราะว่ากฎหมายไม่ค่อยคุ้มครองผู้ค้ำประกันเท่าใดนัก แม้ว่าผู้ค้ำประกันจำเป็นต้องมีอำนาจต่อรองกับเจ้าหนี้บ้าง เนื่องจากเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงเต็มที่จากการปรับโครงสร้างหนี้ ที่ทำให้ตนต้องรับผิดต่อจำนวนหนี้ที่มากกว่าเดิมซึ่งสะสมปริมาณมากขึ้น เรื่อยๆ ตั้งแต่วันที่ผู้กู้ผิดนัดชำระหนี้ และในระยะเวลาที่นานขึ้นโดยไม่มีที่สิ้นสุด โดยที่ตนไม่มีสิทธิมีเสียงในการเข้าไปร่วมตัดสินใจในการปรับโครงสร้างหนี้ นั้น
แต่สถานการณ์กำลังจะเปลี่ยนไป หลังจากที่มีคำพิพากษาฎีกาฉบับล่าสุดในปี 2551 ซึ่งได้รับการจัดพิมพ์สดๆ ร้อนๆ ในไตรมาส 2 ของปี 2552 คือในไตรมาสปัจจุบันนั่นเอง
ผู้ค้ำประกันเดือดร้อนน้อยลง : ในมุมมองของผู้ค้ำประกันนั้น นับตั้งแต่วันลงนามในสัญญาค้ำประกัน ผู้ค้ำประกันก็จำต้องติดบ่วงกรรมไปตลอดโดยไม่มีจุดจบ ในหนี้ที่บุคคลอื่นเป็นผู้ก่อขึ้น แต่ความยากลำบากของผู้ค้ำประกัน กฎหมายก็ยังสังเกตเห็นและคอยให้ความช่วยเหลือ แม้ว่าจะล่าช้าไปบ้างก็ตามที
เริ่มตั้งแต่ไม่กี่ปีมานี้ที่มีการแก้ไขกฎหมายล้มละลาย ปลดผู้ค้ำประกันที่เป็นบุคคลธรรมดาจากล้มละลายและหนี้ทั้งปวง ภายใน 3 ปีนับแต่วันที่ศาลพิพากษา ช่วยให้เจ้าหนี้ไม่ต้องการที่จะฟ้องให้ผู้ค้ำประกันล้มละลาย เพราะฟ้องไปก็เท่ากับหนี้สูญ ซ้ำยังไปช่วยปลดหนี้ให้ผู้ค้ำประกันเสียอีก แต่อานิสงส์ของกฎหมายล้มละลายนี้เผื่อแผ่ไปไม่ถึง ผู้ค้ำประกันที่เป็นนิติบุคคล
จนกระทั่งมาถึงคำพิพากษาฎีกาล่าสุดที่ส่งผลให้ผู้ค้ำประกัน นิติบุคคลได้รับประโยชน์ แม้ว่าตามถ้อยคำของกฎหมายที่ศาลตัดสิน จะประยุกต์ใช้ได้กับผู้ค้ำประกันทุกราย ไม่ว่าจะอยู่ในฐานะของบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล
ความเดือดร้อนของผู้ค้ำประกันจะบรรเทาได้ เมื่อได้นำแนวปฏิบัติที่ศาลฎีกาวางไว้ไปใช้ โดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวกับการที่ผู้ค้ำประกันควรจะได้เข้าเป็นคู่สัญญา อีกฝ่ายหนึ่งของสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ นอกเหนือไปจากเจ้าหนี้และผู้กู้ นับตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ไม่มีใครที่จะเพิกเฉยกับผู้ค้ำประกันได้อีกต่อไปแล้ว แต่ผู้ค้ำประกันจะกลายเป็นจักรเฟืองที่สำคัญของการปรับโครงสร้างหนี้เลยที เดียว
ศาลฎีกาในคดีนี้ตัดสินว่า ผู้ค้ำประกัน มิได้ร่วมตกลงหรือเป็นคู่สัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ด้วย จึงไม่อาจนำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ที่ธนาคารตกลงผ่อนเวลาชำระหนี้ให้แก่ ผู้กู้ มาใช้บังคับแก่ผู้ค้ำประกันได้ ผู้ค้ำประกันย่อมหลุดพ้นจากความรับผิดในสัญญาค้ำประกัน ธนาคารไม่มีสิทธิได้รับชำระหนี้ในมูลหนี้ค้ำประกันดังกล่าว
ธรรมเนียมปฏิบัติของธนาคาร : กฎหมายไทยมีรากฐานมาจากกฎหมาย ภูมิภาคยุโรป และกฎหมายไทยในข้อนี้ก็มีลักษณะตรงไปตรงมา ไม่ซับซ้อน หลักกฎหมายทั่วไปมีอยู่ว่า ถ้าค้ำประกันหนี้ อันจะต้องชำระ ณ เวลามีกำหนดแน่นอน และเจ้าหนี้ยอมผ่อนเวลาให้แก่ลูกหนี้ ผู้ค้ำประกันย่อมหลุดพ้นจาก ความรับผิด เมื่อกฎหมายวางหลักไว้ ก็ระบุข้อยกเว้นไว้ด้วย โดยกฎหมายระบุว่า ถ้า ผู้ค้ำประกันได้ตกลงด้วยในการผ่อนเวลา ผู้ค้ำประกันจะไม่หลุดพ้นจากความรับผิด
จึงมีธรรมเนียมปฏิบัติของธนาคารที่ใช้กันมานานอย่างแพร่หลายว่า ให้ระบุข้อยกเว้นที่กฎหมายระบุไว้นี้เป็นข้อตกลงมาตรฐานในสัญญาค้ำประกัน ซึ่งกำหนดไว้ล่วงหน้าเลยว่า ถ้าธนาคารผ่อนเวลาชำระหนี้ให้แก่ผู้กู้ในอนาคต ผู้ค้ำประกันยอมตกลงด้วยกับการผ่อนเวลานั้นทุกครั้งไป ข้อตกลงมาตรฐานในสัญญาค้ำประกันนี้จึงเป็นการยกเว้นหลักกฎหมายทั่วไปข้างต้น ทำให้ผู้ค้ำประกันที่ลงนามในสัญญาค้ำประกันที่ระบุข้อตกลงมาตรฐานยังคงต้อง รับผิดต่อการผ่อนเวลาชำระหนี้ในสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ไม่ว่าจะปรับโครงสร้างหนี้กันกี่ครั้งก็ตาม
ข้อตกลงมาตรฐานจึงเอื้อประโยชน์ให้ธนาคารมีอิสระอย่างเต็มที่ที่จะ ปรับโครงสร้างหนี้และผ่อนเวลาชำระหนี้ให้แก่ผู้กู้ โดยที่ยังรักษาความรับผิดของผู้ค้ำประกันไว้ได้ ตลอดชั่วระยะเวลาชำระหนี้ที่ขยายออกไปและต่อๆ ไปตราบนานเท่านาน ตราบใดที่ผู้กู้ยังมีหนี้อยู่ ธนาคารจึงถือว่าการค้ำประกันเป็นหลักประกันสำคัญที่จะขาดเสียมิได้ในแทบจะ ทุกกรณีของการกู้เงินเพื่อการพาณิชย์
ทำไมธนาคารยอมตัดข้อตกลงมาตรฐานออก : บ่อยครั้งที่ธนาคาร ใช้ความยืดหยุ่นในการเจรจาเงินกู้ขนาดใหญ่และหลักประกันกับลูกค้ารายใหญ่ และผู้ค้ำประกัน ซึ่งมักจะเป็นเจ้าของบริษัทผู้กู้ เมื่อลูกค้าขอให้ตัดข้อตกลงมาตรฐานในสัญญาค้ำประกันออก ธนาคารอาจเห็นว่าไม่เหลือบ่ากว่าแรงและยอมได้ ก็จะยอมตัดให้
บางกรณีลูกค้าขอความมั่นใจให้ระบุชัดลงไปในสัญญาค้ำประกันเลยว่า ถ้าธนาคารจะผ่อนเวลาชำระหนี้ให้ผู้กู้ ต้องมาขอความยินยอมจากผู้ค้ำประกันก่อน เพื่อหลีกเลี่ยงการเปิดโอกาสให้หนี้ทับถมทวีคูณวิ่งต่อไปไม่รู้จบ อันเป็นการนำหลักกฎหมายมาบัญญัติไว้ในสัญญา
ด้วยเหตุผลทางการค้าและความสมเหตุสมผลของการเจรจาของทีมผู้กู้-ผู้ ค้ำประกัน ธนาคารก็จะยอมเขียนสัญญาค้ำประกันตามที่ลูกค้าขอมาได้ นอกจากนี้วัฒนธรรมของผู้บริหารธนาคารในเมืองไทยยังกำหนดให้ธนาคารใช้ความ สุภาพหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับลูกค้า อะไรอะลุ่มอล่วยได้ก็จะทำให้
ในหลายกรณีผู้ค้ำประกันเป็นบุคคลเดียวกันกับผู้บริหารระดับสูงของ ผู้กู้ ซึ่งถ้าหากมีการปรับโครงสร้างหนี้ในภายหลัง ธนาคารก็ต้องเจรจากับผู้บริหารท่านนี้อยู่แล้ว ธนาคารจึงอาจมองว่าการเพิ่มผู้ค้ำประกันมาเป็นคู่เจรจาอีกฝ่ายหนึ่ง ภาระของธนาคารก็ไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนัก
ผู้ค้ำประกันร่วมลงนามสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ : หากความรับผิดของผู้ค้ำประกันต้องหยุดชะงัก เพราะผู้ค้ำประกันไม่ยอมตกลงด้วยในการผ่อนเวลาปรับโครงสร้างหนี้ ก็จะไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งกับเจ้าหนี้และลูกหนี้ ความสำเร็จของการปรับโครงสร้างหนี้ต่างหากที่จะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ ทุกฝ่าย รวมทั้งผู้ค้ำประกันซึ่งเป็นเจ้าของบริษัทผู้กู้
สำหรับผู้ค้ำประกันที่เป็นบุคคลภายนอก และไม่ได้มีบทบาทการบริหารบริษัทผู้กู้โดยตรง ธนาคารอาจต้องยอมทำงานยากขึ้นนิดหน่อย โดยยอมให้ผู้ค้ำประกันเข้ามาเป็นคู่เจรจาอีกฝ่ายหนึ่ง ในการประชุมปรับโครงสร้างหนี้ทุกครั้งที่มีผู้กู้เข้าร่วม ธนาคารจะตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่งโดยลำพัง โดยไม่มีผู้ค้ำประกันเห็นชอบด้วยคงจะไม่ได้
สาเหตุที่ธนาคารจำเป็นต้องเปลี่ยนนโยบายก็เพื่อที่ว่าในท้ายที่สุด ผู้ค้ำประกันจะได้เข้าร่วมลงนามตกลงเป็นคู่สัญญาฝ่ายที่สามในสัญญาปรับปรุง โครงสร้างหนี้ตามแนวฎีกาฉบับใหม่