สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เจาะปูม"วงเวียน"ดังทั่วกรุง มีดีมากกว่าที่กลับรถ

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

โดย : หนุ่มลูกทุ่ง


อนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินที่วงเวียนใหญ่
       หลายคนคงเคยสัมผัสกับ "วงเวียน" ซึ่งหมายถึงอุปกรณ์การเรียนหรือการวาดเขียนวงกลมให้กลมดิก ไม่บูดไม่เบี้ยว และคงจะเคยรู้จักกับ "วงเวียน" ใน แง่ที่ใช้เรียกสถานที่ซึ่งมีถนนหลายสายมารวมกัน และจุดที่ถนนเหล่านั้นมาบรรจบกันจะแบ่งพื้นที่เป็นรูปวงกลมตรงกลาง และมีถนนรอบวงกลม พร้อมทั้งกำหนดให้รถวิ่งทางเดียวรอบวงเวียนนั้น
       
       วงเวียนที่ฉันกำลังจะพูดถึงนี้ไม่ใช่วงเวียนในความหมายแรก แต่เป็นวงเวียนในความหมายที่สองที่อยู่บนถนนหลายๆสาย และในกรุงเทพฯนั้นก็มีวงเวียนอยู่หลายแห่งด้วยกันที่มีความเป็นมาที่น่าสนใจ พูดอธิบายมากไปชักจะเกิดอาการวิงเวียน เพราะฉะนั้นไปดูเลยดีกว่าว่ามีวงเวียนอะไรกันบ้าง
       
       วงเวียนที่สำคัญๆในกรุงเทพฯนั้นก็มีหลายแห่งด้วยกัน ซึ่งส่วนมากก็จะมีอนุสาวรีย์อยู่กลางวงเวียนนั้น หรือบางแห่งอาจไม่มีอนุสาวรีย์ แต่ก็มีความเป็นมาที่น่าสนใจไม่น้อย มาเริ่มกันที่วงเวียนแห่งแรกที่ "วงเวียนใหญ่" ศูนย์กลางที่สำคัญในย่านฝั่งธนฯ โดยบริเวณกลางวงเวียนใหญ่เป็นที่ตั้งของพระบรมราชานุสาวรีย์ของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ซึ่งสร้างขึ้นเมื่อปี 2496 หรือในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม
       
       พระบรมราชานุสาวรีย์นี้เป็นที่เคารพนับถือของทั้งชาวฝั่งธนบุรีและคน ทั่วไป ลักษณะของอนุสาวรีย์เป็นพระรูปของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงเครื่อง กษัตริย์และทรงพระมาลา ประทับอยู่บนหลังม้า หันพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้สู่จังหวัดจันทบุรี พระหัตถ์ขวาทรงพระแสงดาบชูออกไปเหนือพระเศียร พระหัตถ์ซ้ายทรงบังเหียนม้าในลักษณะนำเหล่าทหารรุกไล่ข้าศึก
       
       ทุกวันที่ 28 ธันวาคมของทุกปี จะมีพิธีถวายบังคมพระบรมราชาอนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และมีพิธีบวงสรวงดวงพระวิญญาณของพระองค์ เนื่องจากในวันนี้เป็นวันที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช กอบกู้เอกราชชาติไทยกลับคืนหลังจากการเสียกรุงครั้งที่สอง ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์แห่งกรุงธนบุรี

วงเวียนเล็ก ที่ไม่ได้คงสภาพเป็นวงเวียนแล้ว
       มีวงเวียนใหญ่แล้วก็ต้องมี "วงเวียนเล็ก" ซึ่งก็อยู่ไม่ห่างจากวงเวียนใหญ่นัก เพียงวิ่งลงจากสะพานพระปกเกล้ามาทางฝั่งธนฯ ก็จะถึงบริเวณวงเวียนเล็กแล้ว หลายคนอาจไม่เคยสังเกตเห็นมาก่อนว่าแถวนี้ก็มีวงเวียนอยู่ด้วย นั่นก็เพราะว่าปัจจุบันนี้วงเวียนเล็กเหลือเพียงแต่ชื่อ ไม่ได้มีสภาพเป็นวงเวียนเหมือนเมื่อก่อน โดยแต่เดิมนั้นวงเวียนเล็กจะมีหอนาฬิกาขนาดย่อมๆตั้งตระหง่านอยู่บริเวณหน้า โรงเรียนศึกษานารี แต่หลังจากที่มีการสร้างสะพานพระปกเกล้าขึ้นในภายหลังทำให้วงเวียนเล็กถูก แบ่งออกเป็นสองฝั่ง ภายหลังจึงได้ยกเลิกวงเวียนแห่งนี้ไปเสีย ส่วนหอนาฬิกาที่เคยตั้งอยู่กลางวงเวียนนั้นก็ได้ย้ายมาตั้งไว้ทางด้านถนน สมเด็จเจ้าพระยาที่จะมุ่งหน้าไปยังคลองสาน ในบริเวณนั้นยังเป็นที่ตั้งของตลาดพระเครื่องวงเวียนเล็ก และมีร้านอาหารอร่อยๆ อยู่หลายร้าน ทำให้ชื่อของวงเวียนเล็กยังคงคุ้นหูคุ้นปากของผู้คนอยู่จนปัจจุบัน

วงเวียนอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ แหล่งพลุกพล่านที่สุดแห่งหนึ่งของกรุงเทพฯ
       วงเวียนอีกแห่งหนึ่งที่คนมักจะนึกถึงมากที่สุดก็คงจะเป็น "วงเวียนอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ" วงเวียนขนาดใหญ่กลางกรุงเทพฯ ที่เมื่อก่อนยังเป็นเพียงสี่แยกสนามเป้า แต่หลังจากที่มีกรณีพิพาทอินโดจีนระหว่างไทยกับฝรั่งเศส ที่มีความขัดแย้งกันในเรื่องการเรียกร้องดินแดนที่ไทยต้องเสียไปตั้งแต่สมัย รัชกาลที่ 5 คืนจากฝรั่งเศส แต่รัฐบาลฝรั่งเศสปฏิเสธข้อตกลง จนมีการปะทะกันเกิดขึ้นและมีผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ทั้งหมด 59 คน จึงได้มีการสร้างอนุสาวรีย์เพื่อเทิดทูนวีรกรรมของทหาร ตำรวจ และพลเรือนที่เสียชีวิตไป สี่แยกสนามเป้าจึงกลายเป็นวงเวียนอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิไปด้วยประการฉะนี้
       
       บริเวณรอบๆวงเวียนอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมินั้นนอกจากจะพลุกพล่านไปด้วย ยานพาหนะนานาชนิดบนถนนแล้ว ความพลุกพล่านของผู้คนก็มากมายไม่แพ้กัน เพราะที่นี่ถือเป็นชุมทางการคมนาคมที่สำคัญแห่งหนึ่ง มีทั้งรถประจำทาง รถไฟฟ้า รวมทั้งรถตู้โดยสารหลายเส้นทางคอยให้บริการอยู่ อีกทั้งยังเป็นแหล่งช้อปปิ้งขนาดใหญ่ในช่วงเย็นๆ ของแต่ละวันอีกด้วย

วงเวียนอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
       มาที่ "วงเวียนอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย" กันบ้าง วงเวียนแห่งนี้เป็นจุดตัดระหว่างถนนราชดำเนินกลางกับถนนดินสอ โดยการก่อสร้างนั้นก็เพื่อเป็นที่ระลึกถึงเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครอง จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยที่มีองค์พระมหากษัตริย์ เป็นประมุขเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 นั่นเอง
       
       ฉันว่าอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยนี้น่าจะเป็นอนุสาวรีย์ที่ถูกทาสีบ่อย ที่สุดแห่งหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นสีเหลืองเข้ม เหลืองอ่อน เหลืองซีด หรือเหลืองส้ม ก็เคยผ่านมาหมดแล้ว แม้จะเปลี่ยนสีไปบ่อยๆ แต่รูปร่างลักษณะของอนุสาวรีย์ก็ยังคงเดิมคือมีลักษณะเป็นรูปหล่อลอยตัว ตรงกลางเป็นรูปเล่มรัฐธรรมนูญในสมุดไทยประดิษฐานบนพานแว่นฟ้า ล้อมรอบด้วยแท่งปูน 4 แท่ง ลักษณะคล้ายปีกอยู่ทั้ง 4 ทิศ อีกทั้งรอบอนุสาวรีย์ยังมีปืนใหญ่โบราณจำนวน 75 กระบอก ฝังดินไว้ โผล่ท้ายกระบอกปืนใหญ่ขึ้นมาเป็นเสาคล้องโซ่เชื่อมต่อกันเป็นรั้ว และความสำคัญอีกอย่างหนึ่งของอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยนั้นก็คือ ที่นี่ยังเป็นหลักกิโลเมตรที่ 0 ของเมืองไทย ที่ใช้วัดระยะทางไปยังจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศอีกด้วย

อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ ที่วงเวียนหลักสี่
       ที่ "วงเวียนหลักสี่" ในย่านบางเขน ก็มีความเป็นมาที่น่าสนใจ โดยแต่เดิมบริเวณนี้ได้สร้างเป็นวงเวียนมาแต่เดิม มีชื่อเรียกว่าวงเวียนหลักสี่ แต่ด้วยการจราจรที่ติดขัดเหลือเกิน ทางกรมโยธาธิการจึงได้ทุบวงเวียนทิ้ง และสร้างเป็นสี่แยกแทน และต่อมาเมื่อมีการก่อสร้างอุโมงค์ลอดสี่แยกบนถนนพหลโยธินขึ้น จึงได้มีการปรับเปลี่ยนการจราจรอีกครั้ง ทำถนนให้กลับเป็นวงเวียนอย่างเดิม
       
       บริเวณกลางวงเวียนหลักสี่นี้มี "อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ" ตั้งอยู่ ไม่ว่าจะเป็นวงเวียนหรือเป็นสี่แยก อนุสาวรีย์นี้ก็ไม่ได้ถูกทำลายหรือเคลื่อนย้ายไป โดยที่มาของอนุสาวรีย์นี้ก็มาจากเหตุการณ์กบฏบวรเดช ซึ่งหลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 แล้ว ก็มีผู้ที่ไม่เห็นด้วยในการกระทำนั้น และได้รวมกลุ่มกันต่อต้านโดยมีพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดชเป็นผู้นำกองทัพมาปะทะกันที่บางเขน จนเมื่อฝ่ายรัฐบาลเป็นผู้ชนะ โดยมีทหารฝ่ายรัฐบาลเสีย ชีวิตลง 17 นาย จึงได้มีการสร้างอนุสาวรีย์ขึ้นเพื่อเป็นการสดุดีวีรกรรมและบรรจุอัฐิของผู้ เสียชีวิตไว้ โดยลักษณะของอนุสาวรีย์นั้นก็เป็นแท่งเสาสูงยอดเรียว บนยอดมีพานรองรัฐธรรมนูญลักษณะเดียวกันกับพานรัฐธรรมนูญที่อนุสาวรีย์ ประชาธิปไตย ฐานด้านล่างด้านหนึ่งจารึกชื่อผู้ที่เสียชีวิตในเหตุการณ์กบฏบวรเดช โคลงสยามานุสติ และรูปครอบครัวชาวนา มีผู้ชายถือเคียวเกี่ยวข้าว ผู้หญิงถือรวงข้าว และเด็กถือเชือก

วงเวียนโอเดียน งดงามด้วยสถาปัตยกรรมแบบจีน
       ดูวงเวียนใหญ่ๆ กันไปหลายแห่งแล้ว คราวนี้มาดูวงเวียนเล็กๆ ในย่านเยาวราชกันบ้างดีกว่า ที่บริเวณหัวมังกร หรือหัวถนนเยาวราชนั้น เป็นที่ตั้งของ "วงเวียนโอเดียน" วงเวียนขนาดย่อมๆ ที่มีประวัติความเป็นมาคู่กับถนนเยาวราช แต่เดิมเคยเป็นวงเวียนน้ำพุ และใช้เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชนในแถบนั้น และเนื่องจากพื้นที่ตรงนี้อยู่ใกล้กับโรงภาพยนตร์โอเดียน จึงได้ชื่อว่าวงเวียนโอเดียน แม้ปัจจุบันจะไม่มีโรงหนังอีกแล้วก็ตาม
       
       แต่ปัจจุบันนี้วงเวียนโอเดียนดูโดดเด่นเป็นสง่ากว่าเดิม เพราะเป็นที่ตั้งของซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบพระชนมพรรษา ที่ชาวไทยเชื้อสายจีน บริษัท ห้างร้าน หน่วยงานราชการและประชนชนได้ร่วมใจกันจัดสร้างซุ้มประตูแห่งนี้ขึ้นเพื่อ ถวายเป็นราชสดุดีแด่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 6 รอบ ในปี พ.ศ.2542
       
       เนื่องจากตั้งอยู่ในบริเวณที่เรียกว่าเป็น "ไชน่าทาวน์" ซุ้มประตูแห่งนี้จึงมีความงดงามด้านสถาปัตยกรรมและประติมากรรมแบบจีน และกลายเป็นสัญลักษณ์ของไชน่าทาวน์เยาวราชไปในที่สุด

วงเวียน 22 กรกฎาคมในย่านเยาวราช
       ในย่านเยาวราชนี้ยังมีวงเวียนเล็กอยู่อีกแห่งหนึ่ง นั่นก็คือ "วงเวียน 22 กรกฎาคม" ที่ไม่ได้มีสัญลักษณ์ใดๆ เป็นพิเศษเหมือนวงเวียนอื่นๆที่กล่าวมา เป็นแต่เพียงวงเวียนน้ำพุที่เกิดจากถนน 3 สายตัดกัน คือ ถนนไมตรีจิตต์ ถนนมิตรพันธ์ และถนนสันติภาพ แต่ใครที่ได้ยินชื่อวงเวียนแห่งนี้แล้วก็เป็นต้องเกิดความสงสัยขึ้นมาว่า 22 กรกฎาคมนั้นหมายถึงอะไรกันแน่
       
       ขอเฉลยแก้ความสงสัยให้ด้วยการเล่าความเป็นมาให้ฟังว่า ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 แต่เดิมที่ซึ่งเป็นวงเวียนนี้เคยเป็นชุมชนที่มีคนอยู่อาศัยหนาแน่น และเคยเกิดไฟไหม้ครั้งใหญ่ ต่อมาจึงได้มีการตัดถนนขึ้น 3 สายเพื่อความเป็นระเบียบของบ้านเมืองบริเวณนี้ และบริเวณจุดตัดของถนนนั้นก็ได้สร้างเป็นวงเวียนขึ้น
       
       รัชกาลที่ 6 ทรงพระราชทานนามให้ถนนทั้ง 3 สายนั้นว่า 22 กรกฎาคม ซึ่งก็หมายถึงวันที่พระองค์ทรงตัดสินพระทัยนำประเทศไทยเข้าร่วมสงครามโลก ครั้งที่ 1 เมื่อปี พ.ศ.2460 โดยประกาศสงครามกับกลุ่มประเทศฝ่ายอักษะ ส่งผลให้เมื่อสิ้นสุดสงคราม ประเทศไทยได้รับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ การเมืองระหว่างประเทศ และการทหาร รวมทั้งสามารถเรียกร้องแก้ไขและยกเลิกสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ของชาติมหาอำนาจที่เคยทำไว้กับประเทศไทย
       
       และต่อมาจึงได้พระราชทานชื่อถนนทั้งสามให้ใหม่เพื่อไม่ให้เป็น การสับสน โดยมีชื่อคล้องจองกันว่า ถนนไมตรีจิตต์ ถนนมิตรสัมพันธ์ และถนนสันติภาพ ส่วนชื่อวงเวียนนั้นให้คงชื่อไว้เช่นเดิมว่า "วงเวียน 22 กรกฎาคม" จนถึงปัจจุบัน
view