จาก เดลินิวส์ออนไลน์
อ.สุเทพ พงษ์พิทักษ์
วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในทางสรรพากร หรือ SMEs ในทางภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร แยกออกเป็นแต่ละวัตถุประสงค์ดังนี้
สำหรับห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ทุนจดทะเบียนชำระแล้วในวันสุดท้ายของรอบระยะ เวลาบัญชีไม่เกิน 5 ล้านบาท และในรอบระยะเวลาบัญชีปีนั้น ๆ ต้องมีรายได้ไม่เกิน 30 ล้านบาท และมีทรัพย์สินรวมไม่เกิน 30 ล้านบาท ซึ่งตามกฎหมายว่าด้วยการบัญชีของกระทรวงพาณิชย์กำหนดให้ไม่ต้องมีผู้สอบ บัญชีรับอนุญาต (CPA) ตรวจสอบและรับรองงบการเงินนั้น ในการยื่นแบบ ภ.ง.ด.50 ให้กรมสรรพากร ต้องมีผู้ตรวจสอบและรับรองงบ การเงินที่เป็น CPA หรือผู้สอบบัญชีภาษีอากร (Tax Auditor) แนบไปพร้อมกับแบบ ภ.ง.ด. 50 ด้วย
เอสเอ็มอีที่เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย และมีทุนจดทะเบียนชำระแล้วในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกิน 5 ล้านบาท ซึ่งกำหนดขึ้นเพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลจากกำไรสุทธิ และลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล โดยเฉพาะสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2551 เป็นต้นไป โดยจะได้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคสำหรับกำไรสุทธิในส่วนที่ไม่เกิน 150,000 บาท และลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลจาก 30% ของกำไรสุทธิ เป็นอัตราก้าวหน้าดังนี้
กำไรสุทธิในส่วนที่เกินกว่า 150,000 บาท แต่ไม่เกิน 1 ล้านบาท ให้ลดอัตราลงเหลือเพียง 15%
กำไรสุทธิในส่วนที่เกิน 1 ล้านบาทแต่ไม่เกิน 3 ล้านบาท ให้เสียลดอัตราลงเหลือเพียง 25%
กำไรสุทธิในส่วนที่เกิน 3 ล้านบาทขึ้นไป ให้เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตราปกติ 30%
เอสเอ็มอี ที่เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ทั้งที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยหรือตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ และมีทรัพย์สินถาวรซึ่งไม่รวมที่ดินไม่เกิน 200 ล้านบาท และมีการจ้างแรงงานไม่เกิน 200 คน ซึ่งกำหนดขึ้นเพื่อการได้สิทธิประโยชน์ในการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคา ทรัพย์สินถาวรบางประเภท ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อาคารโรงงาน และเครื่องจักร เป็นกรณีพิเศษ กล่าวคือ กำหนดเอสเอ็มอี สามารถเลือกหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาตามวิธีปกติทั่วไป หรือจะเลือกหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาเบื้องต้นในวันที่ได้ทรัพย์สินนั้น มาตามอัตราที่กฎหมายกำหนด เช่น 40% หรือ 25% แล้วแต่กรณี สำหรับต้นทุนส่วนที่เหลือให้หักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาตามวิธีปกติต่อไป.