จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
โดย : ประกายดาว แบ่งสันเทียะ
เปิดผลศึกษา ทีดีอาร์ไอ ระบุโครงการรับจำนำข้าว ผลประโยชน์ตกกับชาวนาเพียง 40.2% หน่ำซ้ำชาวนาในส่วนที่ยากจนที่สุดในภาคอีสานยังเข้าไม่ถึง
มติ ครม.ที่กำหนดให้วันที่ 5 มิ.ย.ของทุกปี เป็นวันข้าวและวันชาวนาแห่งชาติ แสดงให้เห็นถึงการให้ความสำคัญกับชาวนา กระบอกเสียงใหญ่ของนักการเมือง ต้องไม่ลืมว่า ไทยยังเป็นประเทศผู้ส่งออกข้าวหัวแถวของโลก
ด้วยความสำคัญที่ว่านี้ ทำให้ข้าวถูกนำมาใช้เป็น "สินค้าการเมือง" ผ่านโครงการรับจำนำ ที่มักจะกำหนดราคารับจำนำข้าวไว้สูงกว่าราคาตลาด นอกจากจะเป็นการบิดเบือนกลไกตลาดแล้ว ยังทำให้รัฐบาลขาดทุนซ้ำซากเป็นหนี้ธกส.กว่าแสนล้านบาทในปัจจุบัน จากภาวะซื้อแพง-ขายถูก กลายเป็นเหตุผลหนึ่งที่รัฐบาลนำโดยพรรคประชาธิปปัตย์ตัดสินใจล้มประมูลข้าว 2.6 ล้านตันในช่วงที่ผ่านมา สุ่มเสี่ยงต่อการนำมาเป็นประเด็นทางการเมือง กระทบเสถียรภาพของรัฐบาล
การเปลี่ยนรูปแบบจากการจำนำข้าว เป็นการ "ประกันราคา" ที่คาดหวังกันว่าจะเป็นทางเลือก-ทางรอดของการแก้ไขปัญหานี้ ซึ่งก็ไม่รู้ว่าเมื่อทำเข้าจริงๆแล้ว จะสามารถแก้ไขปัญหานี้ได้หรือไม่
ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เปิดเผยว่า จากการศึกษาของทีดีอาร์ไอ พบว่าโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งชาวนาน่าจะได้รับผลประโยชน์ไปแบบเต็มๆนั้น แท้ที่จริงผลประโยชน์จากโครงการนี้ตกอยู่กับชาวนาเพียง 40.2%
ที่สำคัญยังเป็นชาวนาในเขตชลประทานภาคกลาง/เหนือตอนล่างที่มีฐานะดี ที่ได้รับประโยชน์มากถึง 35% ยังถือเป็นกลุ่มคนรวยที่สุด 20% แรกของครัวเรือนไทย
ขณะที่ชาวนาที่จนที่สุดได้รับประโยชน์จากโครงการนี้เพียง 4.6% เท่านั้น เนื่องจากเป็นชาวนาที่อยู่ในภาคอีสาน ซึ่งไม่มีข้าวส่วนเกินเหลือขาย ส่วนใหญ่จะเป็นการผลิตเพื่อบริโภคเอง
ผลประโยชน์ส่วนที่เหลือตกแก่โรงสี 13.5% โกดังเก็บข้าว 4.4% ผู้ส่งออก มากถึง 23.7% หน่วยราชการ 14.5% และเงินรั่วไหลสูญเปล่าไป 3.6%
เมื่อข้าวส่วนใหญ่อยู่ในมือรัฐบาล สถานะของรัฐจึงไม่ต่างกับการเป็น "ผู้ค้าข้าวรายใหญ่" เช่น ปริมาณข้าวนาปรังปี 2552 เข้าโครงการภาครัฐถึง 6 ล้านตัน จากผลผลิตทั้งประเทศที่ 7.7 ล้านตัน
ผลศึกษายังพบว่า รายรับ-รายจ่ายตัวเงินของโครงการ ณ 31 มีนาคม 2552 พบว่า รัฐต้องมีค่าใช้จ่ายในโครงการรับจำนำกว่า 50,000 ล้านบาท แต่กลับมีรายได้จากการขายข้าวเพียง 32,000 ล้านบาท (แบ่งเป็นรายได้จากการขายข้าวเปลือก 72,000 ล้านบาท และข้าวสารมูลค่า 25,420 ล้านบาท) ส่งผลให้รัฐขาดทุนจากการดำเนินการมากถึง 18,000 ล้านบาท จากการประกันราคาข้าวที่สูงกว่าตลาด แต่กลับนำมาประมูลขายในราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาด
เฉลี่ยแล้วรัฐขาดทุนจากการดำเนินการ ตันละ 3,093 บาทต่อตัน จากการรับจำนำที่ต้นทุนตันละ 9,393 บาท ส่งผลให้มีเงินคืนกลับเข้ารัฐเหลือเพียงตันละ 6,200 บาท เท่านั้น
ในจำนวนนี้ ยังไม่รวมเงินกู้ที่กู้มาจากธกส.ที่มีภาระดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นทุกปี เพื่อนำมาใช้ดำเนินการต่างๆ ที่ไม่นำมาคิดมูลค่าในปัจจุบัน ประกอบด้วย เงินให้กู้จำนำยุ้งฉาง 11.62 ล้านบาท เงินให้กู้จำนำใบประทวน 33.17 ล้านบาท การดำเนินงานธกส. 2.35 ล้านบาท การดำเนินงานองค์การคลังสินค้า(อคส.) 1.23 ล้านบาท ค่าจ้างสีข้าว/ขนส่ง 2.32 ล้านบาท และอื่นๆ เช่น จดทะเบียนประชาสัมพันธ์ 0.059 ล้านบาท
ดร.นิพนธ์ ยังระบุว่า นโยบายจำนำข้าวยังกระทบไปถึงความสามารถในการ "ส่งออก" ของไทย เพราะราคารับจำนำที่บิดเบือนทำให้ราคาข้าวไทยแพงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ในช่วงต้นฤดูกาลผลิตจึงต้องปล่อยให้เวียดนามส่งออกข้าวไปให้หมดก่อน ค่อยถึงคิวข้าวไทย
ขณะเดียวกัน คุณภาพข้าวของไทยก็ลดต่ำลง เพราะชาวนาปลูกข้าวโดยเน้นเพียงปริมาณ มากกว่าคุณภาพ เพราะหวังขายข้าวให้กับโครงการรับจำนำ
ดังนั้น โครงการรับจำนำข้าว จึงถือเป็นต้นตอสำคัญที่ทำให้ข้าวไทยคุณภาพต่ำลง
การจำนำยังเป็นวิธีสิ้นเปลืองที่สุดในการช่วยเหลือชาวนา และชาวนาส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับผลประโยชน์ และยังทำให้เอกชนถลุงทรัพยากรเพื่อใช้วิ่งเต้นให้เข้ามาแบ่งค่าเช่าจาก โครงการ
กลายเป็นบ่อเกิดของช่องทางการทุจริตอย่างเป็นกระบวนการ แถมยังเป็นเรื่องยากที่รัฐจะเข้าไปดำเนินการ เริ่มจากการที่ชาวนาจดทะเบียนพื้นที่เพาะปลูกเกินจริง มีการสวมสิทธินำข้าวจากประเทศเพื่อนบ้านมาจำนำ ขณะที่โรงสีก็เห็นช่องทางสวมสิทธิเป็นชาวนาก่อนจะลักลอบขายข้าวให้รัฐ
นอกจากนี้ ยังมีความเสียหายที่เกิดจากการที่โรงสีแสวงหากำไรจากการโกงส่วนต่างความชื้น และน้ำหนัก รวมถึงการวิ่งเต้นไปจำนำข้าวข้ามเขต ขณะที่กลุ่มโกดังรับฝากข้าวก็สามารถเรียกเก็บเงินใต้โต๊ะกับเซอร์เวย์เยอร์ (ผู้ตรวจสอบคุณภาพข้าว) และนำข้าวมาลักลอบขาย
ผู้ส่งออกยังเห็นช่องทางซื้อข้าวราคาต่ำ โดยรวมตัวกันฮั้วประมูลเพื่อกดราคาซื้อข้าวจากภาครัฐ รวมไปถึงการวิ่งเต้นเปลี่ยนเงื่อนไขการประมูล หรือ ทิ้งสัญญาประมูล
ขณะที่นักการเมือง ก็รู้เห็นเป็นใจเปิดช่องให้มีการปรับเปลี่ยนเงื่อนไข หรือถอนรายชื่อผู้ส่งออกออกจากบัญชีดำ (แบล็กลิสต์) รวมถึงอนุมัติให้จำนำข้ามเขต โดยการตกลงขายข้าวราคาถูกก่อนหน้านั้น รวมไปถึงข้าราชการก็รู้เห็นเป็นใจในกระบวนการดังกล่าว ไม่ว่าจะยินดีหรือฝืนใจ ก็ตามที
กลายเป็น Political Corruption บ่มเพาะการทุจริตในทุกระดับของการผลิตและค้าข้าว
อย่างไรก็ตาม แม้โครงการรับจำนำจะมีผลเสียนานัปการ แต่รัฐบาลทุกยุคกลับยังใช้นโยบายนี้พยุงราคาสินค้าเกษตร เพราะสามารถเป็นเครื่องมือในการ "หาเสียง" จากเกษตรกรและยังเป็นแหล่งหาเงินแหล่งใหญ่เพื่อนำมาใช้ในการเลือกตั้งครั้ง หน้า กลายเป็นวงจรอุบาทก์
ประกันราคา ใช้เงินต่ำกว่า
ดร.นิพนธ์ ยังกล่าวถึงผลศึกษาโครงการประกันความเสี่ยงราคาข้าวว่า จะมีหลักการเพียงประกันราคา ไม่ใช่การยกระดับราคา เพราะต้องการแก้ไขปัญหาความเสี่ยงจากราคาสินค้าเกษตรที่ผันผวน และชาวนาถูกกดราคารับซื้อ โดยไม่ต้องกังวลว่า เมื่อถึงฤดูเก็บเกี่ยวผลผลิตจะมีราคาต่ำ
วิธีการดังกล่าว ยังถือเป็นการตัดปัญหาของรัฐที่จะต้องสูญเสียงบประมาณไปกับการดำเนินการ เพราะระบบการประกันราคา จะเป็นการทำสัญญาระหว่าง ธกส.กับ ชาวนา โดยรัฐมีหน้าที่เพียงจ่ายส่วนต่างระหว่างราคาประกัน กับราคาตลาด นอกจากนี้ยังจะช่วยลดการสวมสิทธินำข้าวประเทศเพื่อนบ้านมาเข้าโครงการรับ จำนำ เพราะจะมีการลงทะเบียนเกษตรกรในพื้นที่เพาะปลูกไว้อย่างชัดเจน
นอกจากนี้ แนวทางการดำเนินงานยังจะ "จำกัดวงเงิน" ให้เกษตกรเข้าร่วมโครงการในวงเงินไม่เกิน 3.5 แสนบาท โดยมีสมมติฐานในการใช้งบประมาณสูงสุดที่ 36,703 ล้านบาท (ต่ำกว่าการใช้งบประมาณจากโครงการรับจำนำข้าว) บนสมมติฐานที่ราคาประกัน ตันละ 8,500 บาท และบนสมมติฐานที่รัฐจะจ่ายค่าเบี้ยประกัน 1,951 บาทต่อตัน
อย่างไรก็ตาม แนวทางการประกันราคา ยังมีปัจจัยที่เป็นความเสี่ยงหากเกิดกรณีขายสัญญา และมีการสวมสิทธิลงทะเบียนเป็นเกษตรกร ขณะที่การจัดเก็บข้อมูลค่าตลาดกลางค่อนข้างหายาก เพราะได้ถูกทำลายไปแล้วจากโครงการรับจำนำที่ผ่านมา ทำให้การประเมินราคารับประกันค่อนข้างยาก
ขณะที่ ดร.สมพร อิศวิลานนท์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เห็นว่าหากรัฐยังคงดำเนินนโยบายจำนำราคาข้าวต่อไป จะทำให้รัฐบาลขาดทุนจากการดำเนินการมากขึ้นกว่าปัจจุบันที่ขาดทุนไปแล้วกว่า 20,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินกู้มาจากธกส.กลายเป็นสาเหตุทำให้ธกส.ไม่เคยปิดบัญชีโครงการรับ จำนำได้ แต่กลับยิ่งพอกพูนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ให้สูงขึ้น
ขณะเดียวกัน รัฐยังไม่มีเงินมาชดเชยธกส.หากปล่อยให้ธกส.คอยเติมเงินมาใช้เป็นเครื่องมือ รับจำนำให้กับรัฐบาลก็จะทำให้ธกส.เดินสู่ภาวะขาดทุนสะสมอย่างหนัก จนอาจจะต้องปิดกิจการภายใน 2 ปีจากนี้ ดร.สมพร คาดการณ์และว่า
โครงการรับจำนำที่ผ่านมา ถือว่าเป็นกุศโลบายของนักการเมืองซึ่งใช้เป็นเครื่องมือหาเสียง โดยมี "โรงสี" ที่สนิทกับนักการเมืองเข้ามาช่วยรับซื้อข้าวจากชาวนาในราคาสูง และขายในราคาต่ำ แต่เมื่อนำมาแปรสภาพเป็นข้าวสารโรงสีจะเป็นผู้ได้รับประโยชน์ตั้งแต่การรับ จำนำเพื่อกินส่วนต่าง
นอกจากนี้ ยังเปิดช่องทางให้นำข้าวเก่ามาเวียนเทียนจำนำใหม่ หรือ นำข้าวใหม่ไปขายในช่วงที่ราคาข้าวสูง และเมื่อสิ้นสุดกระบวนการที่รัฐนำข้าวที่จำนำไปประมูลแล้ว ก็จะได้รับค่าฝากเก็บ และค่าแปรสภาพ