จาก ประชาชาติธุรกิจ
ชั่วโมงนี้ ถกเถียงกันทั้งเมืองว่า การล่ารายชื่อประชาชน 1 ล้านคน เพื่อถวายฎีกา ขอพระราชทานอภัยโทษ ให้ กับพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) จะทำได้หรือไม่ ฝ่ายหนึ่งบอกว่า ทำได้แน่นอน เพราะเป็นความต้องการของประชาชน แต่ขณะที่อีกด้านหนึ่งเห็นว่า นี่คือการเช็คเรตติ้งของทักษิณมากกว่า
รศ. ดร. สุรศักดิ์ ลิขสิทธิ์วัฒนกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ เขียนบทความเรื่อง พระราชอำนาจในการพระราชทานอภัยโทษ ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ ศาลปกครอง เล่มล่าสุด ประชาชาติธุรกิจ นำบทสรุปมานำเสนอดังนี้
ดร.สุรศักดิ์ ชี้ว่า การพระราชทานอภัยโทษในประเทศไทยมีลักษณะหรือที่มาสำคัญ 2 ประการ คือ
1) โบราณราชประเพณีของไทยดังที่เห็นได้จากพระราชปรารภใน "พระราชกฤษฎีกาวางระเบียบการทูลเกล้าฯ ถวายฎีกา พ.ศ.2457" ที่ว่า "การที่พระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้ข้าแผ่นดินทุกชั้นได้มีโอกาสทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาโดยตรงได้นั้น ก็เหมือนทรงประกาศพระราชประสงค์ให้ปรากฏชัดเจนว่า พระองค์ทรงดำรงอยู่ในตำแหน่งแห่งกุลบิดรของชาวไทย มีพระราชหฤทัยปรารถนาที่จะระงับทุกข์ผดุงสุขแห่งประชาชนอยู่เป็นนิจ และจะได้มีพระราชประสงค์ที่จะลดหย่อนพระมหากรุณาธิคุณข้อนี้ก็หามิได้ แต่เป็นการสมควรอยู่เหมือนที่ข้าแผ่นดินจะเข้าใจว่า พระองค์ทรงมีพระราชกรณียกิจต่างๆ ซึ่งต้องทรงปฏิบัติ หรือทรงพระราชดำริห์และทรงแนะนำผู้ที่รับราชการในตำแหน่งหน้าที่ต่างๆ อยู่เปนเนืองนิจ จะได้ประทับอยู่ว่างเปล่าก็หามิได้ และถ้าแม้จะต้องทรงเปนพระราชธุระโดยพระองค์เองในการวินิจฉัยฎีกาทุกฉบับที่ มีผู้ทูลเกล้าฯ ถวายแล้ว ก็จะหาเวลาทรงพระราชดำริในราชกิจพแนกอื่นๆ ไม่ได้เลย จึงมีความจำเปนที่ต้องทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งกรรมการศาลฎีกาไว้เป็นผู้พิจารณาอรรถคดีเป็นศาลอุทธรณ์ชั้นสูงสุดเพื่อ แบ่งพระราชภาระส่วน 1 ถึงกระนั้นก็ดี การทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาโดยตรงจะได้ทรงห้ามปรามหรือตัดรอนเสียทีเดียวนั้นก็หามิได้ ยังทรงพระกรุณารับฎีกาของข้าแผ่นดินอยู่เหมือนกัน ทั้งนี้นับว่าเปนพระมหากรุณาอันควรที่จะรู้สึกอยู่ทั่วหน้ากัน แต่บางคนก็ยังเข้าใจผิดคิดเห็นไปว่า การที่ยังทรงรับฎีกาอยู่นั้นแปลว่าทรงรับอุทธรณ์จากศาลฎีกาอีกชั้น 1 จึงได้มีผู้ถวายฎีกาคัดค้านหรือโต้แย้งคำพิพากษาศาลฎีกาอยู่เนืองๆ ทำให้เปลืองเวลาเปนอันมาก ส่วน 1 กับอีกประการ 1 มีบุคคลบางคนซึ่งไม่รู้จักกาลเทศะ เที่ยวดักถวายฎีกาในเวลาและที่อันไม่เหมาะสมด้วยประการทั้งปวงนั้นอยู่ เนืองๆ"
2) ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ภาค 7 ว่าด้วยอภัยโทษเปลี่ยนโทษหนักเป็นโทษเบาและลดโทษ มาตรา 259 ที่ว่า "ผู้ต้องคำพิพากษาให้รับโทษอย่างใดหรือผู้ที่มีประโยชน์เกี่ยวข้อง เมื่อคดีถึงที่สุดแล้ว ถ้าจะทูลเกล้าฯ ถวายเรื่องราวต่อพระมหากษัตริย์ ขอรับพระราชทานอภัยโทษ จะยื่นต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติะรรมก็ได้" และมาตรา 261 ทวิ วรรคหนึ่ง ที่ว่า "ในกรณีที่คณะรัฐมนตรีเป็นการสมควรจะถวายคำแนะนำต่อพระมหากษัตริย์ขอให้พระ ราชทานอภัยโทษแก่ผู้ต้องโทษก็ได้"
การพระราชทานอภัยโทษของไทยจึงมีทั้งที่เป็นส่วนของ "กฎหมาย" ที่มีผลต่างๆ อย่างชัดเจนตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาบัญญัติไว้ สภาพปัญหาที่เกิดจึงมีแต่เฉพาะ "หลักการ" ในการใช้มาตรการทางกฎหมายในการอภัยโทษว่าได้มีการคำนึงถึงหลักการพิจารณาจาก ตัวผู้ต้องโทษเป็นรายๆ ไป หรือหลัก Individualization อย่างจริงจัง ประกอบกับนโยบายทางอาญา หรือ Criminal Policy หรือไม่เพียงใด
นอกจากนั้น การพระราชทานอภัยโทษของไทยยังมีที่เป็นส่วนของ "พระราชอำนาจตามโบราณราชประเพณี" ที่จะมีผลในทางพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณเช่นเดียวกันโดยส่วนราชการ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะได้น้อมรับพระราชวินิจฉัยในการอภัยโทษตามโบราณ ราชประเพณีดังกล่าวเพื่อปฏิบัติเพื่อให้เกิดผลทางกฎหมายตามที่ผู้ขอรับพระ ราชทานพระมหากรุณาธิคุณต่อไป เช่น การสั่งไม่ฟ้องคดี หรือการยกเลิกคำสั่งเพื่อให้ผู้ขอรับพระราชทานพระมหากรุราธิคุณอภัยโทษเข้า รับราชการ เป็นต้น
การอภัยโทษในประเทศไทยจึงมีลักษณะเฉพาะการปกครองที่มีพระมหากษัตริย์ทรง เป็นพระประมุข ซึ่งทรงใช้พระราชอำนาจในการอภัยโทษทั้งในทางโบราณราชประเพณีและทางกฎหมาย ประกอบกันเพื่อให้โอกาสผู้กระทำผิดได้กลับตนเป็นคนดี และกลับคืนสู่สังคมเพื่อใช้ชีวิตกับครอบครัวและญาติมิตรอย่างเป็นปกติสุขและ ประกอบสัมมาอาชีวะอย่างสุจริตต่อไป ดั่งเห็นได้จากพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2549 ในส่วนคำปรารภของพระราชกฤษฎีกาว่า
"พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิ พลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่าโดยที่ทรงพระราชดำริเห็นว่าเนื่องในโอกาสงานฉลองสิริราชสมบัติ ครบ 60 ปีในวันที่ 9 มิถุนายน พุทธศักราช 2549 นับเป็นอภิลักขิตกาลสำคัญ สมควรพระราชทานอภัยโทษแก่ผู้ต้องราชทัณฑ์เพื่อให้โอกาสแก่บุคคลเหล่านั้น กลับประพฤติตนเป็นพลเมืองดีอันจะเป็นคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติสืบไป"
และการอภัยโทษควรได้คำนึงถึงไม่เฉพาะแต่หลักการพิจารณาจากตัวผู้ต้องโทษ เป็นรายๆ ไป หรือหลัก Individualization อย่างจริงจังเท่านั้น แต่ควรพิจารณาถึงนโยบายทางอาญา (Criminal Policy) ซึ่งเป็นการพิจารณาทั้งในส่วนที่เป็น อัตตวิสัย (Subjective) ของผู้กระทำผิด และนโยบายทางอาญา (Criminal Policy) ในการเสนอให้อภัยโทษ ไม่ว่าทั่วไปหรือเฉพาะรายซึ่งเป็นการพิจารณาในส่วนที่เป็นภาวะวิสัย (Objective) อีกด้วย