สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ตะลึง!พบร้านเหล้ากว่า2พันร้านรอบ15มหาวิทยาลัย

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์


ราชภัฎสวนสุนันทาเปิดผลวิจัยร้านเหล้า ตะลึงพบ ร้านขายเหล้า 1,712 ร้านรอบ 15 มหาวิทยาลัย ชี้เหล้าปั่น-เหล้าถังตัวดีขายกันโจ๋งครึ่ม

รศ.ดร.ช่วงโชติ พันธุเวช อธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา "มรภ.สส.) กล่าวว่า ผลวิจัยร้านเหล้ารอบ 15 มหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯและปริมณฑล” อาทิ จุฬาลงกรณ์ฯ มหาวิทยาลัยเกษตรฯ มหาวิทยาลัย ศิลปากร พบ ในรัศมี 500 เมตร รอบมหาวิทยาลัย 15 แห่ง มีร้านจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกฮอล์ จำนวน 1,712 ร้าน เฉลี่ยเท่ากับ 57 ร้าน ต่อ 1 ตารางกิโลเมตร สำหรับ มรภ.สส. ก็มีร้านจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกฮอล์ ในรัศมี 500 เมตร เช่นกัน จำนวน 86 ร้าน ร้านเหล้าปั่น 6 ร้าน นับว่าเป็นสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงและนับวันจะเลวร้ายไปทุกที

โดย มหาวิทยาลัย 14 แห่ง จาก 15 แห่ง หรือ 93% มีร้านขายเหล้าปั่นอยู่ในระยะประชิด โดย 70% ของร้านเหล้าปั่น อยู่ห่างจากมาหวทิยาลัยแค่ 200 เมตร ทั้งยังพบ 2 ใน 3 ของสถานศึกษาระดับประถมและมัธยม 118 แห่ง หรือ 73% มีร้านขายเหล้าอยู่ใกล้ไม่เกิน 100 เมตร ขณะที่หอพัก/คอนโด/แมนชั่น 724 แห่ง ซึ่งมีนักเรียน นักศึกษาพักอยู่นั้น 90% มีร้านเหล้าอยู่ใกล้แค่ 100 เมตรเช่นกัน

ที่สำคัญพบกว่า 1 ใน 5 ของหอพักเหล่านี้จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งผิดกฎหมายตามพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

สำหรับการศึกษา "รูปแบบการสื่อสารและปัจจัยที่มีผลต่อพฤติกรรมการดื่มเหล้าของวัย รุ่น” ในกลุ่มวัยรุ่นอายุ 13-19 ปี พบว่า ปัจจัยที่ทำให้ดื่มเหล้าปั่นคือ 1.อยากลอง อยากรู้รสชาติ 2.ราคาต่ำ มีโปรโมชั่นดึงดูดใจ นักเรียนมัธยมก็รวมกลุ่มกันดื่มได้ 3.หาซื้อได้ง่าย 4.บรรยากาศของร้านดี เหล้าปั่นทำให้วัยรุ่นทดลองดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากขึ้น

โดยเฉพาะวัยรุ่นหญิง ที่บอกว่าเหล้าปั่นมีสีสันสวยงาม ดูไม่เหมือนเหล้า มองแล้วคล้ายน้ำหวาน คิดว่าไม่น่าจะทำให้เมา กลุ่มตัวอย่างบางส่วนยังระบุว่า เหมือนสั่งน้ำหวานมากินกับข้าว จึงทำให้ธุรกิจเหล้าปั่นเติบโตขึ้นอย่างมากมาย

“หากมองผิวเผิน เหล้าปั่นอาจเป็นเพียงน้ำผลไม้ที่มีส่วนผสมของหัวเชื้อแอลกอฮอล์ แต่ในความเป็นจริง เหล้าปั่นคือภัยเงียบที่กำลังกัดกินเยาวชน และเป็นฉนวนในการสร้างนักดื่มหน้าใหม่ ด้วยการทำการค้าโดยอาศัยช่องโหว่ของกฎหมาย ควบคู่ไปกับการใช้กลยุทธ์การตลาดโดย “สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ ปรับลดต้นทุน ขายในราคาต่ำ เพื่อเปิดโอกาสให้เข้าถึงได้ง่าย”ทำให้ธุรกิจน้ำเมารูปแบบใหม่ได้ก่อตัวขึ้น ในสังคมปัจจุบันอย่างกว้างขวาง”

นางกนิษฐา ไทยกล้า นักวิชาการสถิติ ชำนาญการ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า การสำรวจร้านขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในเขตเทศบาลเมือง ช่วงเดือน ก.พ. 51 - ม.ค. 52 พบช่วง 1 ปี มีร้านเหล้าเพิ่มขึ้น 59% จาก 682 เป็น 1,083 ร้าน ในจำนวนนี้มีร้านเหล้าปั่นเพิ่มขึ้นจาก 15 ร้าน เป็น 47 ร้าน โดย 2 ใน 3 ของร้านเหล้าทั้งหมดอยู่ใกล้สถานศึกษาในรัศมี 500 เมตร

จากการสอบถามนักเรียน นักศึกษา จำนวน 387 คน พบว่าเด็กที่อยู่ในบริเวณที่มีร้านขายเหล้าหนาแน่น จะยิ่งเชื่อว่าการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทำให้กล้าแสดงออก และช่วยการกระตุ้นเรื่องเพศ แถมยังลดความตึงเครียด อีกทั้งยังก้าวเข้ามาเป็นผู้ดื่มหน้าใหม่สูงกว่านักเรียนนักศึกษาในพื้นที่ ที่มีร้านจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่หนาแน่น

“สิ่งที่น่าห่วงคือ มีรูปแบบการดื่มเหล้าที่ง่ายขึ้น ทั้งการใส่ถุงเหมือนเป็นน้ำอัดลมหรือโอเลี้ยง ทั้งยังมีสูตรการดื่มมากมาย เช่นสูตรเหล้าป็อกเอาน้ำหวานผสมเหล้าใส่แก้วเป็กบีบมะนาวและโรยเกลือเคาะ แก้วก่อนที่จะดื่ม สูตรบี 39 ที่จุดไฟแล้วสูดควันก่อนดื่ม หรือ “เหล้าถัง” ที่กำลังฮิตมากในเชียงใหม่ คือการดื่มเหล้าผสมเครื่องดื่มชูกำลัง น้ำอัดลม ซึ่งสามารถดื่มกันได้หลายคน วัยรุ่นหญิงสาวดื่มเหล้าแบบไม่ผสมอะไรเลยแล้วดื่มน้ำผลไม้100% ตาม รวมถึงการสร้างความเชื่อผิดๆ เอาเหล้าผสมโยเกิร์ต หรือนมเปรี้ยว แล้วบอกว่าเป็นการดื่มเหล้าเพื่อสุขภาพ“

ด้าน นพ.บัณฑิต กล่าว ว่า หากไม่มีการกำหนดมาตรการ ก็ยิ่งจะทำให้เหล้าปั่นขยายตัวได้รวดเร็วและรุกคืบประชิดรั้วมหาวิทยาลัยและ โรงเรียน ซึ่งยิ่งมีร้านจำหน่ายมาก จะส่งผลกระทบต่อทัศนคติทางบวกในการดื่มและยังเปิดโอกาสให้นักเรียน นักศึกษา ก้าวเข้ามาทดลองดื่ม ดังนั้นจึงได้เสนอมาตรการควบคุมการจำหน่ายเหล้าปั่นและร้านเหล้ารอบสถาน ศึกษา เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐและเอกชน รวมทั้งผู้ที่เกี่ยวข้อง ออกมาเข้มงวด จริงจังกับร้านเหล่านี้ คือ

1. ห้ามจำหน่ายเหล้าปั่นและเหล้าผสมน้ำผลไม้ โดยสิ้นเชิง ยกเว้นการจำหน่ายในสถานบันเทิงเท่านั้น ตาม พ.ร.บ.สถานบันเทิง ซึ่งห้ามเด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี เข้ามาใช้บริการ

2. กำหนดห้ามมีร้านจำหน่ายในรัศมี 100-500 เมตร รอบสถานศึกษา หรือ กำหนดให้เก็บค่าธรรมเนียมการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกฮอล์ ในอัตราที่สูง หากจำหน่ายในรัศมี 100-500 เมตร รอบสถานศึกษา รวมทั้งกำหนดกลไกค่าธรรมเนียมใบอนุญาตสนับสนุนการจัดบริเวณให้จำหน่าย เครื่องดื่มแอลกฮอล์เป็นการเฉพาะ (โซนนิ่ง) และ

3.ควบคุมให้มีการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างเคร่งครัด อาทิ การห้ามจำหน่ายให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี การทำให้หอพัก สถานศึกษาเป็นเขตปลอดเหล้า ผมหวังว่าภาครัฐและทุกภาคส่วน จะให้ความจริงใจต่อการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ก่อนที่นักเรียนนักศึกษาของเราจะถูกมอมเมาจนเสียคน

view