จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
โดย : สุทธิรักษ์ อุฒมนตรี
ประธานสอบ"สงกรานต์เลือด"ยันผลสอบตามกรอบเวลาที่กำหนด 10 ก.ค. แต่ไม่ได้มีหน้าที่วินิจฉัยว่าฝ่ายไหนผิดหรือถูก
นายสมศักดิ์ บุญทอง ประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมือง ที่กำลังดำเนินงานอย่างต่อเนื่องในการจะหาข้อสรุปจากการชุมนุมทางการเมือง ช่วงสงกรานต์เลือด และแม้ความพยายามจะหาทางสมานฉันท์ด้วยกระบวนการทางรัฐสภา ทว่าที่ผ่านมากลุ่มคนเสื้อแดงก็ยังชุมนุม และเคลื่อนไหวรูปแบบใหม่ โดยการล่ารายชื่อ 1 ล้านชื่อถวายฎีกา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อขอพระราชทานอภัยโทษให้แก่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า เราก็ยังทำงานที่ได้รับมอบหมายให้เสร็จตามกรอบเวลา จากการประชุมของคณะอนุกรรมการทุกชุด เราจะสรุปรายการการพิจารณาของแต่ละคณะอนุกรรมการในวันที่ 10 ก.ค.นี้ ล่าสุดเมื่อวันที่ 1 ก.ค. ผมเชิญประธานคณะอนุกรรมการทุกชุดมาพูดคุยกัน และได้รับการยืนยันว่า วันที่ 10 ก.ค.จะเรียบร้อย
จากนั้นวันที่ 13 ก.ค.จะประชุมคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีเหตุการณ์การชุมนุมทางการ เมือง ซึ่งผมจะให้คณะกรรมการทุกท่านแถลงผลการรวบรวมข้อเท็จจริงของทุกคณะ โดยที่กรรมการชุดที่ 7 คือ ฝ่ายสรุปข้อเท็จจริงข้อกฎหมาย ก็จะเป็นผู้สรุป ผลดำเนินการ ความจริงนั้นคณะอนุกรรมการชุดที่ 7 ก็รวบรวมไว้อยู่แล้ว เพราะข้อเท็จจริงบางอย่างนั้นสามารถได้ข้อยุติแล้ว พยายามเขียนกันอยู่แล้ว
วันที่ 30 ก.ค.จะเป็นวันที่กำหนดนำเข้าที่ประชุมกรรมการชุดใหญ่ ถ้าไม่มีปัญหาอะไร ผมก็จะนำผลสรุปนี้ไปรายงานต่อท่านประธานรัฐสภา (นายชัย ชิดชอบ) ทราบ เพราะเรานั้นทำงานตามคำสั่งของประธานรัฐสภา
ส่วนการพิจารณาของคณะอนุกรรมการแต่ละชุด ผมติดตาม และรับทราบรายงานทุกสัปดาห์ เพราะหากประธานคณะอนุกรรมการชุดใดมีปัญหาอะไรก็ติดตามดูแล พร้อมทั้งกระตุ้นให้ดำเนินไปตามกรอบเวลา ซึ่งต้องยอมรับนะครับว่า มันเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน
ขณะที่ข่าวที่ออกมาว่า บางคณะอนุกรรมการจะสามารถสรุปเหตุการณ์ได้ แต่บางคณะอาจจะสรุปเหตุการณ์ไม่ได้ด้วยจากหลายเหตุปัจจัย ผมก็ได้ติดตามอยู่ บางคณะอาจจะไม่สามารถสรุปได้ในตอนนี้ แต่ผมเชื่อว่าเขาจะสรุปได้ ในขณะที่บางเรื่องที่มันยังไม่สามารถจะสรุปได้ชัดเจน ก็จำเป็นจะต้องสรุปเท่าที่พยานหลักฐานที่มีอยู่ หมายความว่า หลักฐานที่ได้มาอย่างไรก็สรุปตามนั้น
ผมยกตัวอย่างเช่น กรณีการเสียชีวิตของ พลทหารอภินพ เครือสุข ที่เสียชีวิตในบ้านพักประจำตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 1 ตอนนี้กำลังรวบรวมหลักฐานอยู่ รวมถึงศพที่พบ 2 ศพในแม่น้ำเจ้าพระยา เราก็ต้องสรุปไปตามพยานเท่าที่มี ส่วนสาเหตุการตาย หรือใครเป็นคนทำให้เสียชีวิต เป็นหน้าที่ของตำรวจ ไม่ใช่หน้าที่ของเรา
ผมอยากทำความเข้าใจอย่างนี้ ว่า เราไม่ได้สอบสวนอะไรที่เกี่ยวกับคดีอาญานะครับ เราสอบสวนในเรื่องที่ว่า พลทหารเสียชีวิตเกี่ยวกับการชุมนุมใหม่หรือไม่ ศพ 2 ศพที่พบริมแม่น้ำเจ้าพระยาก็เช่นกัน เราดูว่ามีหลักฐานอะไรว่าเขามาชุมนุม หรือเกี่ยวข้องในเหตุการณ์หรือไม่ แต่ผลทางคดีอาญาต้องเป็นฝั่งตำรวจ อนุกรรมการที่ตรวจสอบเรื่องนี้จะไม่ลึกลงไปในรูปคดี แต่ไปในแนวเดียวกับตำรวจ เราไม่ได้ชี้นำตำรวจ สาเหตุการตายเราไม่ได้ทำ เรามุ่งไปที่ว่าคนตายเกี่ยวกับการชุมนุม มาชุมนุมหรือเปล่า ใครทำให้ตายเป็นเรื่องของตำรวจ
ส่วนที่ว่า คุณนฤมล ศิริวัฒน์ ส.ว.อุตรดิตถ์ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการรวบรวมเหตุการณ์ชุมนุมที่บริเวณกระทรวงมหาดไทย หลังจากเดินทางมาดูรถยนต์กันกระสุนของนายกรัฐมนตรี ยี่ห้อเบนซ์ รุ่นเอส 600 เลขทะเบียน ษห 3834 กล่าวว่า สรุปเรื่องลำบาก เพราะกระทรวงมหาดไทยไม่มีภาพวงจรปิดที่แสดงว่านายกฯ ก้าวขึ้นรถ ผมก็ให้แนวทางคุณนฤมลไปว่า ต้องสรุปขึ้นมาว่านายกฯ อยู่ในรถจริงหรือไม่
เมื่อท่านไม่มีพยานที่เป็นภาพถ่าย หรือภาพเคลื่อนไหว ท่านก็ต้องอาศัยพยานบุคคลเท่าที่มี ซึ่งผมก็เห็นว่านายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ยืนยันในที่ประชุมคณะอนุกรรมการว่าท่านอยู่ในรถ ซึ่งในรถคันดังกล่าวมีท่านรองนายกฯ สุเทพ เทือกสุบรรณ มีนายตำรวจติดตาม มีคนขับรถอยู่ในรถด้วย
ผมเข้าใจว่ากรรมการชุดนั้นรอสอบพยานอีก 2 ปาก และพยานบุคคลอีกหลายคนที่ยืนยันว่านายกฯ อยู่ในรถยืนยันเหตุการณ์ ถ้าเป็นการสอบสวนตามหลักการสอบสวนพยาน เป็นการชั่งน้ำหนัก ย่อมฟังได้ความแล้ว เพราะจากความน่าเชื่อถือของบุคคล ถ้าคนระดับนั้น (นายกฯ) พูดไม่ตรงกับความจริงก็เลิกกันเลย ประเทศชาติที่ไม่มีนายกฯ ที่พูดความจริง ประเทศชาติก็ลำบาก
อย่างไรก็ตาม ผมยังไม่ได้ตรวจรายงานความคืบหน้าของคณะอนุกรรมการสอบสวนเหตุการณ์ที่ดินแดง เท่าที่ทราบคือ คณะอนุกรรมการท่านไปเผชิญสืบในสถานที่จริง แสดงว่าไม่จำกัดเฉพาะเจ้าหน้าที่หรือผู้ชุมนุม การเดินเผชิญสืบเพื่อจะได้สอบถามคนภายนอก สอบถามชาวบ้านที่เป็นคนกลางก็จะได้อะไรมากขึ้น เนื่องจากบางคนเป็นชาวบ้านที่เห็นเหตุการณ์ แต่ไม่ได้มาชุมนุม แต่เขาเห็นเหตุการณ์ พยานลักษณะนี้สำคัญมาก เพราะจะให้ข้อเท็จจริงที่เป็นจริง
สำหรับคณะอนุกรรมการที่ผมเห็นว่าทำงานด้วยความยากลำบากคือ คณะอนุกรรมการสอบสวนที่พัทยา และดินแดง เพราะเหตุการณ์มันสลับซับซ้อน โดยเฉพาะที่พัทยา มันสลับซับซ้อนมาก มีการกล่าวอ้างว่าเจ้าหน้าที่รัฐบาลตั้งกำลังขึ้นมาขัดขวางการชุมนุมของคน เสื้อแดงทำให้เกิดการปะทะ เราต้องตรวจให้ชัดว่ามีจริงไหม ไปยั่วยุหรือลงมือก่อนจริงไหม
ส่วนแนวโน้มการสรุปเรื่องนั้น ต้องเท้าตั้งแต่ตอนแรกๆ ที่คณะอนุกรรมการต่างฝ่ายต่างค่อนข้างปักธงของตนเอง แต่หลังจากได้พูดคุยหลายครั้ง มีแนวโน้มให้สอบสวนตามความเป็นจริง ทุกคนทุกฝ่ายต้องยอมรับความเป็นจริง อะไรที่มันเกิดขึ้นต้องเป็นไปตามนั้น
คณะกรรมการชุดนี้ มีหน้าที่ตรวจสอบว่าเกิดอะไรขึ้น ส่วนข้อเสนอแนะอะไรต่างๆ นั้นจะอยู่ที่บทสรุป คือหน้าที่ของคณะอนุกรรมการ
ชุดที่ 7 โดยในบทสรุปจะมีข้อเสนอแนะให้ประธานรัฐสภา ว่า ต่อไปถ้ามีการชุมนุมทางการเมืองควรจะอย่างไร เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหารควรทำอย่างไร ฝ่ายชุมนุมต่อไปควรทำอย่างไร ให้อยู่ในกรอบอย่างไร
ข้อเสนอแนะเป็นเรื่องชัดมาก มีหลายข้อ เราจะเสนอให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อให้เป็นบรรทัดฐานว่า ต่อไปการชุมนุมที่อ้างว่าการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ การชุมนุมโดยเปิดเผยควรเป็นอย่างไร การชุมนุมกับการจลาจล แตกต่างกันอย่างไร
สำหรับผมมีหน้าที่ตรวจร่างให้คำแนะนำ ผมไม่ได้ชี้นำนะครับ ว่าจะต้องเขียนประเด็นนี้ประเด็นนั้น แต่ผมจะช่วยเพื่อให้เกิดความชัดเจน อย่างที่ผมบอกนะครับว่า เราไม่ได้สอบสวนในคดีอาญาว่าเรื่องนี้มีหลักฐานพอฟ้องไหม หรือไม่พอฟ้อง เราดูเพียงว่า การชุมนุมที่ผ่านมา ผู้ชุมนุมโดนดำเนินคดีอาญากี่คดี การกระทำของเจ้าหน้าที่เป็นอย่างไรบ้าง เราไม่มีหน้าที่วินิจฉัยว่าฝ่ายไหนถูกผิด
ส่วนความกังวลที่เมื่อสรุปออกมาแล้วอาจจะมีคนไม่ยอมรับ เพราะคนที่ได้รับผลกระทบจากข้อสรุปย่อมไม่ยอมรับ แต่ผมก็ให้แนวทางกรรมการตั้งแต่แรกแล้วว่า ทุกคนจะต้องเป็นกลาง และทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ ถ้าเราทำอย่างเต็มที่แล้ว ถ้าไม่ยอมรับก็ไม่รู้จะว่าอย่างไร