สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ผวาธุรกิจป่วน-จราจรวิกฤตปิดซ่อมสะพานข้าม13แยก กทม.เล็งเลื่อนรอบ2เป็นก.ย.

จาก ประชาชาติธุรกิจ



กทม.ผวาเกิดวิกฤตจราจรหนัก หลังปิดซ่อมสะพานข้ามทางแยก 13 แห่งทั่วกรุง นำร่องแยกพงษ์เพชร-บางพลัด กลางเดือนสิงหาคมนี้ หวั่นโดนชาวบ้านรุมสวด นัดหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถกด่วน ขอเลื่อนเป็นเดือนกันยายน ช่วงใกล้ปิดภาคเรียนแทน พร้อมเร่งประชาสัมพันธ์เต็มที่

นายประกอบ จิรกิติ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า จากที่ กทม.มีแผนจะปิดการจราจรเพื่อซ่อมแซมสะพานข้ามทางแยก 13 แห่ง โดยจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่กลางเดือนสิงหาคมนี้เป็นต้นไป ล่าสุด กทม.ได้ทำหนังสือถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วยกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) กองบังคับการตำรวจจราจร สถานีตำรวจนครบาลท้องที่ สำนักงานเขต หน่วยงานสาธารณูปโภค ผู้รับจ้าง และกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อนัดหารือเกี่ยวกับเรื่องนี้ในวันที่ 13 กรกฎาคมนี้ เนื่องจากหวั่นเกรงว่าหากปิดสะพานข้ามทางแยกพร้อมๆ กันทั้ง 13 แห่งทั่ว กทม.จะส่งผลให้การจราจรที่เป็นปัญหาอยู่แล้วติดขัดอย่างหนักจนถึงขั้นวิกฤต
ทั้ง นี้ ในการประชุม กทม.จะเสนอให้ที่ประชุมพิจารณาเลื่อนกำหนดการซ่อมแซมสะพานทั้ง 13 แห่งออกไปจากกลางเดือนกรกฎาคมเป็นเดือนกันยายน ซึ่งเป็นช่วงที่สถาบันการศึกษาใกล้ปิดภาคเรียนแทน ขณะเดียวกัน กทม.ต้องใช้เวลาในการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับ เส้นทางเบี่ยงการจราจรในแต่ละแยกมากขึ้น จากเดิมที่กำหนดไว้เพียงแค่ 30 วัน เพราะเห็นว่ากระชั้นชิดมากเกินไป โดยจะเริ่มประชาสัมพันธ์วันที่ 15 กรกฎาคมนี้เป็นต้นไป
"เราจะขอหารือที่ประชุม โดยขอเลื่อนการปิดซ่อมสะพานจากเดือนสิงหาคมเป็นเดือนกันยายน เพราะถ้าหากเริ่มซ่อมแซมวันที่ 15 สิงหาคม ประชาชนอาจยังไม่ได้รับทราบข้อมูลและประสบปัญหาในการเดินทาง"
นายประกอบ กล่าวว่า สำหรับการปิดซ่อมสะพานจะทยอยปิด จะไม่ปิดทีเดียวพร้อมกัน โดยการซ่อมแซมแบ่งเป็น 3 กลุ่ม จะคัดเลือกกลุ่มละ 1 แห่งก่อน เมื่อแล้วเสร็จจึงจะเริ่มซ่อมแซมสะพานแห่งต่อไปของแต่ละกลุ่ม โดยจะใช้เวลาในการปรับปรุงน้อยสุด 15 วัน คือสะพานแยกเกษตร ยาวที่สุดอยู่ที่ 180 วัน คือ สะพานแยกคลองตัน รวมทั้งหมดใช้เวลาซ่อมแซมประมาณ 1 ปี ยกเว้นสะพานข้ามแยกอโศกจะใช้เวลา 1 ปี เนื่องจากต้องก่อสร้างใหม่ทั้งหมด
สาเหตุที่ต้องซ่อมแซมปรับปรุงสะพาน ทั้ง 13 แห่ง เป็นเพราะโครงสร้างสะพาน ผิวจราจร ราวสะพาน เชิงลาดสะพานชำรุดเสียหาย เนื่องจากผ่านการใช้งานมานานหลายสิบปี โดยเฉพาะสะพานข้ามทางแยกอโศก-เพชรบุรี จะต้องรื้อสะพานเดิมและก่อสร้างสะพานใหม่ทดแทน เพราะโครงสร้างมีความเสียหายมากและใช้งานมา 33 ปีแล้ว การสร้างใหม่น่าจะคุ้มกว่าซ่อม โดยจะใช้งบประมาณดำเนินการ 180 ล้านบาท ส่วนงบฯซ่อมสะพานอีก 12 แห่ง วงเงินกว่า 1,000 ล้านบาท เพิ่มจากเดิมที่อยู่ที่ 795.7 ล้านบาท เพราะเพิ่มในส่วนของการรับแรงสั่นสะเทือนจากรถบรรทุกเพิ่มขึ้น
นายชาติ นัย เนาวภูต ผู้อำนวยการสำนักการโยธา กทม.กล่าวว่า แผนการทำงานโครงการปรับปรุงสะพานเหล็กข้ามทางแยกจะปิดการจราจรทีละด้าน กรณีเป็นสะพาน 2 ทิศทาง และปรับทิศทางการวิ่งให้สอดคล้องกับปริมาณการจราจรแต่ละช่วงเวลา เช่น ปิดสะพานฝั่งขาออก 2 ช่องจราจร แล้วปรับสะพานฝั่งขาเข้าให้เหลือ 1 ช่องทาง เพื่อให้รถขาออกใช้อีก 1 ช่องทาง เป็นต้น
ตามแผนจะเริ่มปิดการจราจรเพื่อ ทำการซ่อมแซมสะพานแต่ละแห่งตามลำดับดังนี้ สะพานข้ามแยกพงษ์เพชรและสะพานข้ามแยกบางพลัดภายในเดือนสิงหาคมนี้ ใช้เวลาปรับปรุง 90 วัน สะพานข้ามแยกพระรามที่ 4 เริ่มปรับปรุงภายในเดือนกันยายนเวลา ใช้เวลา 90 วัน สะพานข้ามแยกคลองตัน เริ่ม 15 กันยายน ใช้เวลา 180 วัน สะพานข้ามแยกเกษตร เริ่ม 15 กันยายน ใช้เวลา 15 วัน สะพานข้ามแยกรัชโยธิน เริ่มเดือนตุลาคม ใช้เวลา 30 วัน สะพานข้ามแยกท่าพระ เริ่ม 15 ตุลาคม ใช้เวลา 90 วัน สะพานข้ามแยกประชานุกูล เริ่ม 15 พฤศจิกายน ใช้เวลา 90 วัน สะพานข้ามแยกสามเหลี่ยมดินแดง เริ่มมกราคม 2553 ใช้เวลา 30 วัน ส่วนสะพานข้ามแยกพระราม 9-รามคำแหง และสะพานข้ามแยกพระราม 9-อสมท.จะไม่ปิดการจราจร ขณะที่สะพานข้ามแยกอโศก-เพชรบุรี จะต้องรื้อโครงการเดิมและก่อสร้างใหม่ วงเงิน 180 ล้านบาท ใช้เวลาก่อสร้าง 1 ปี
พล.ต.ต.ภาณุ เกิดลาภผล รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) ดูแลงานจราจร กล่าวว่า กลางเดือนกรกฎาคมนี้ บช.น.จะหารือถึงกรณีดังกล่าวร่วมกับ กทม. ผู้รับเหมาก่อสร้างและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดทำแผนประชาสัมพันธ์แนะนำให้ผู้ใช้เส้นทางเลี่ยงพื้นที่ที่มีการก่อ สร้าง
ที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือการรื้อสะพานแยกอโศก-เพชรบุรีก่อสร้างใหม่ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการจราจรอย่างหนักแน่นอน เพราะปกติบริเวณแยกอโศกการจราจรก็ติดขัดอย่างหนักอยู่แล้ว หากปิดสะพานจะส่งผลกระทบเป็นวงกว้างไปถึงถนนศรีนครินทร์ ซึ่งจะหารือกับ กทม.ขอให้ชะลอการทุบสะพานอโศกออกไปก่อน จนกว่าถนนกำแพงเพชร 7 ซึ่งปัจจุบันปิดเพื่อก่อสร้างรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์เปิดใช้ได้ตามปกติ
ผู้ สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า จากการสำรวจพื้นที่ที่จะมีการปิดสะพานข้ามแยก 13 จุดทั่ว กทม. พบว่าส่วนใหญ่อยู่ในย่านชุมชนและศูนย์กลางธุรกิจการค้า ซึ่งตามปกติการจราจรติดขัดคับคั่งอยู่แล้ว คาดว่าหากมีการปิดสะพานเพื่อปรับปรุงซ่อมแซมการจราจรจะติดขัดหนักขึ้นกว่า เดิมมาก อาทิ สะพานข้ามแยกพงษ์เพชร เป็นที่ตั้งของตลาดพงษ์เพชร เดอะมอลล์ งามวงศ์วาน, พันธุ์ทิพย์ งามวงศ์วาน สะพานข้ามแยกบางพลัด ห้างตั้งฮั้วเส็ง สะพานข้ามแยกพระรามที่ 4 (ไทยเบลเยี่ยม) ย่านธุรกิจการค้าสีลม สาทร วิทยุ สุขุมวิท
สะพานข้ามแยกเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และหน่วยงานราชการหลายแห่ง สะพานข้ามแยกรัชโยธิน เมเจอร์ รัชโยธิน ห้างเซ็นทรัล ลาดพร้าว สะพานข้ามแยกท่าพระ เดอะมอลล์ ท่าพระ สะพานข้ามแยกอโศก-เพชรบุรี ย่านธุรกิจการค้าอโศก-รัชดาฯ ห้างเยาฮัน โรบินสัน รัชดาฯ เอสพละนาด ฯลฯ

view