จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
โดย : In Step with AFET Futures : ดร.พีรพล ประเสริฐศรี
มีคำถามเกิดขึ้นในช่วงน้ำมันแพงว่าชาวบ้านที่หาเช้ากินค่ำจะอยู่กันอย่างไร ในภาวะข้าวของราคาแพง หรือ “ภาวะเงินเฟ้อ”
หลาย ท่านยังคงจำกันได้ในช่วงเวลาที่น้ำมันดิบ ซื้อขายกันในตลาดล่วงหน้า New York Mercantile Exchange (NYMEX) ที่ไปแตะสูงสุดที่ระดับ 145 ดอลลาร์ เมื่อปีที่แล้ว (วันที่ 3 ก.ค. 2551) สอดคล้องกับช่วงที่ราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่ซื้อขายกันในบ้านเราทั้งประเภท ดีเซลและเบนซินต่างปรับตัวเกินกว่า 40 บาทต่อลิตร พ่อค้าแม่ขายบ้านเราในช่วงเวลานั้น ต่างพร้อมใจกันขึ้นราคาสินค้าและบริหาร ทั้งอาหาร (ราดหน้าและก๋วยเตี๋ยวแถวบ้านผมปรับราคาจาก 25 บาท เป็น 30 บาท) ค่ารถเมล์ รถไฟ รถทัวร์ หรือ เรือข้ามฟาก จนมีคำถามเกิดขึ้นในช่วงนั้นว่าชาวบ้านที่หาเช้ากินค่ำจะอยู่กันอย่างไร ในภาวะข้าวของราคาแพง หรือ ภาวะที่เขาเรียกกันว่า “ภาวะเงินเฟ้อ” หรือ Price Inflation เช่นนั้นได้อย่างไร
หนึ่งปีผ่านมา ณ วันที่ 1 ก.ค. 2552 ท่านศิริพล ยอดเมืองเจริญ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ได้เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป เดือน มิ.ย. 2552 เท่ากับ 104.7 ลดลง 4% เมื่อเทียบกับเดือนมิ.ย. ปีก่อน ซึ่งการปรับตัวลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 6 โดยหากคิดเฉลี่ยแค่ช่วงระยะเวลา 6 เดือน (ม.ค.-มิ.ย.) ดัชนีราคาลดลง 1.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จึงมีการตั้งคำถามกันตามหน้าหนังสือพิมพ์ว่าประเทศของเรากำลังอยู่ใน “ภาวะเงินฝืด” หรือ Price Deflation หรือไม่ แต่ท่านปลัดกระทรวงพาณิชย ก็ให้ความเชื่อมั่นว่า “แม้เงินเฟ้อ มิ.ย.จะติดลบต่อเนื่อง 6 เดือน แต่ยังไม่ถือว่าเป็นภาวะเงินฝืด แต่เป็นเพียงภาวะเงินเฟ้อลดลง หรือ ดิสอินเฟลชั่นเท่านั้น เพราะเงินเฟ้อที่ติดลบเป็นผลจากราคาน้ำมันในปีนี้ต่ำกว่าปีก่อนมาก และมีมาตรการพิเศษจากภาครัฐในการช่วยเหลือลดค่าครองชีพแก่ประชาชน
ดัชนีราคาสินค้าขณะนี้ยังมีการปรับขึ้นลงที่ต่างกัน ไม่ได้ปรับลงพร้อมกันหมดถึงจะน่าห่วงว่าเกิดเงินฝืด ซึ่งสถานการณ์เช่นนี้ไม่น่ากังวล ถือว่าผู้บริโภคได้ประโยชน์ เพราะมีเงินจับจ่ายใช้สอยถูกลง แต่หากเงินเฟ้อพื้นฐานลบติดกันมากจะน่าห่วงกว่า” (เดลินิวส์ 1 ก.ค. 2552)
ผ่านไปแค่ 1 ปี ทั้งคำว่า ภาวะเงินเฟ้อ และ ภาวะเงินฝืด ต่างมีส่วนที่จะถูกหยิบยกโดยสื่อแขนงต่างๆ ในการที่จะใช้อธิบายสภาพเศรษฐกิจของประเทศ โดยคำว่าเงินเฟ้อ (Inflation) และ เงินฝืด (Deflation) จริงๆ แล้วมีความหมายดั้งเดิมทางเศรษฐศาสตร์ แปลว่า การเพิ่มขึ้น และการลดลงของปริมาณเงินในระบบ (Money Supply) ซึ่งจะผลต่อการปรับตัวเพิ่มขึ้นและลดลงของระดับราคา
คำว่า เงินเฟ้อ (Inflation) และเงินฝืด (Deflation) ก็มีความหมายที่ 2 ที่ดูเหมือนจะเป็นที่เข้าใจของคนส่วนใหญ่มากกว่า นั่นคือแปลว่า ภาวะที่สินค้ามีราคาเพิ่มขึ้น (เงินเฟ้อ / Inflation) และ/หรือ ราคาลดลง (เงินฝืด / Deflation) มากกว่าความหมายดั้งเดิมของมัน (ที่แปลว่าการลดลง/เพิ่มขึ้นของ Money Supply)
ปัจจุบันนี้ มีข้อถกเถียงและการแบ่งกลุ่มกันขึ้นในวงการนักเศรษฐศาสตร์และนักการเงินทั่ว โลกว่า ในช่วงเวลาต่อจากนี้ไป โลกของเราจะตกอยู่ในภาวะเงินเฟ้อ (Inflation) หรือ เงินฝืด (Deflation) กันแน่ ทั้งนี้ เนื่องจากภาวะความไม่แน่นอน ซึ่งเป็นผลพวงมาจากวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจโลก และ มาตรการต่างๆ ที่รัฐบาล/ธนาคารกลางทั่วโลกนำมาใช้แก้ไขวิกฤติ (การทุ่มงบประมาณและการอัดฉีดเงิน) ซึ่งผลของการคาดการณ์ภาวการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตนี้มีส่วนสำคัญอย่าง ยิ่งยวดในการกลยุทธ์การลงทุนต่อไปจากนี้
ภาวะที่น่าจะเกิดขึ้นในโลกของเราในอนาคตพอจะแบ่งออกได้ดังนี้ครับ คือ 1.เกิดภาวะเงินฝืด (Deflation) 2.เกิดภาวะเงินเฟ้อแบบอ่อนๆ (Mild Inflation) และ 3.เกิดเงินเฟ้อแบบรุนแรง (Big Inflation or Hyperinflation)
สมมติว่าภาวะ Deflation เกิดขึ้น เช่นเดียวกันกับที่เกิดขึ้นที่ประเทศญี่ปุ่น (กว่า 20 ปีมาแล้ว) ซึ่งก็หมายความว่า ภาวะที่ราคาสินค้าจะมีแนวโน้มที่จะมีราคาลดต่ำลงไปเรื่อยๆ (รัฐบาล/ธนาคารกลางทั่วโลกเป็นฝ่ายแพ้) ซึ่งถือว่านับเป็นภาวะที่ประเทศลูกหนี้อย่างสหรัฐอเมริกากลัวที่สุด เพราะเมื่อ Deflation เกิดขึ้นแล้วจะสร้างผลกระทบอย่างร้ายแรงกับผู้ที่มีหนี้ (คนอเมริกันส่วนใหญ่) อย่างมาก (ประเทศญี่ปุ่นไม่ค่อยกลัว เนื่องจากคนคนญี่ปุ่นไม่ค่อยมีหนี้แต่กลับเป็นการดีที่คนญี่ปุ่นสามารถซื้อ ข้าวของได้ถูกลงในช่วง Deflation โดยในภาวะ Deflation นี้ เงินสดถือว่าเป็นราชา (Cash is King) และการลงทุนที่น่าจะเหมาะสมกับภาวะ Deflation นี้ ก็คือ การฝากเงินไว้ในกับธนาคาร และ/หรือ การซื้อพันธบัตร
ถัดมา หากสมมติว่าเราต้องเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อแบบอ่อนๆ (Mild Inflation) นั่นก็คือเป็นภาวะที่วิกฤติเศรษฐกิจโลกถูกจัดการได้เรียบร้อย และมาตรการต่างๆ ที่รัฐบาล/ธนาคารกลางทั่วโลกได้นำออกมาใช้ไม่ได้ส่งผลข้างเคียงต่อระบบ เศรษฐกิจ (ธนาคารกลางต่างๆ สามารถดูดซับสภาพคล่องออกได้ทันก่อนที่จะเกิดภาวะเงินเฟ้ออย่างรุนแรง) สภาวการณ์ก็จะกลับไปเหมือนช่วงปี 1990-1999 ในสหรัฐอเมริกาที่เศรษฐกิจดี ตลาดหุ้นปรับตัวสูงขึ้นอย่างมาก กลยุทธ์การลงทุนที่เหมาะสมในสภาวการณ์นี้น่าจะเป็นการแบ่งเงินลงทุนหุ้นพื้นฐานดีในตลาดหลักทรัพย์ แล้วอีกส่วนก็ฝากเงินไว้ หรือนำมาซื้อพันธบัตร
กรณีที่ 3 ได้แก่ สภาวการณ์ที่มาตรการต่างๆ ของรัฐบาล/ธนาคารกลางทั่วโลก อัดฉีดเงินออกสู่ระบบเพื่อแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจ แล้วไม่สามารถถูกดูดซับสภาพคล่องส่วนเกินออกได้ทัน ทำให้เงินล้นระบบ และผู้คนขาดความเชื่อมันในเงินตรา (Currency) ส่งผลทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้ออย่างรุนแรง หรือ Big Inflation หรือ อาจจะถึงขั้น Hyperinflation เหมือนอย่างเมื่อเร็วๆ นี้ในประเทศซิมบับเว หรือในประเทศเยอรมนี (Weimar Repulic) เมื่อปี ค.ศ.1920 ซึ่งเป็นภาวะที่ราคาสินค้าปรับตัวเพิ่มขึ้นรวดเร็วมากๆ เงินตราอาจมีค่าเพียงแค่เศษกระดาษ (Cash is Trash)
ในสถานการณ์เช่นนี้ ผู้ที่จะได้รับผลกระทบที่สุดก็คือผู้ออมเงิน และผู้เกษียณ ที่อาศัยรายได้จากดอกเบี้ยที่ได้จากการฝากเงิน หรือซื้อพันธบัตรรัฐบาล การลงทุนที่เหมาะสมในสถานการณ์เช่นนี้คือ การลงทุนใน สินทรัพย์ที่เป็นสิ่งของจับต้องได้ เช่น โลหะมีค่า (เช่น ทองคำ เงิน หรือแพลทินัม) สินค้าพลังงาน (เช่น น้ำมันดิบ) หรือ สินค้าเกษตร (เช่น ยางพารา ข้าว มันสำปะหลัง ข้าวโพด กาแฟ น้ำตาล) ซึ่งเป็นการลงทุนที่นักลงทุนจะสามารถรักษาความมั่งคั่งของตนเอาไว้ได้
คงเป็นหน้าที่ของท่านผู้อ่านที่จะต้องคิดพิจารณาไตร่ตรอง แล้วตัดสินใจอย่างรอบคอบว่าจะเลือกลงทุนในรูปแบบใดภายใต้สภาวะที่ยังไม่แน่ นอนดังเช่นที่เรากำลังประสบอยู่นี้ครับ