จาก ประชาชาติธุรกิจ
สิงหาคม ศกนี้ นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.กระทรวงการคลัง ประกาศคำมั่นว่า จะนำร่างพ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ...เข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี
"ประชาชาติธุรกิจ" รวบรวมความเห็นของนักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำ มานำเสนอ ดังนี้
ดร. ดิเรก ปัทมศิริวัฒน์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงกรณีการเก็บภาษีที่ดิน ว่า เป็นวิธีที่ดีในการช่วยกระจายรายได้สู่สังคม ทั้งนี้ทรัพย์สินและที่ดินส่วนใหญ่ในประเทศไทยได้รับการยกเว้นภาษี ประมาณ 70-80 เปอร์เซ็นต์ จึงทำให้ฐานภาษีแคบ ในขณะที่ภาษีบำรุงท้องที่ก็มีอัตราต่ำมากและเป็นอัตราถอยหลัง ซึ่งภาษีที่ดินทั่วไปจะมีอัตราเก็บอยู่ที่ 1-2 เปอร์เซ็นต์ของมูลค่าที่ดิน ซึ่งขณะนี้นักวิชาการ และนักเศรษฐศาสตร์ เห็นว่าเป็นโอกาสดีที่รัฐบาลจะการนำ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ดังกล่าวเข้าพิจารณาอีกครั้ง
สำหรับอัตราภาษีทรัพย์สิน ที่เหมาะสมควรอยู่ที่ 0.1-0.5 เปอร์เซ็นต์ และควรเป็นอัตราก้าวหน้าจนถึง 1 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ยังมีแนวคิดที่เสนอให้เก็บภาษีกับภาครัฐด้วย ทั้งนี้ตนคาดว่ามาตรการดังกล่าวจะช่วยให้ฐานภาษีเพิ่มขึ้น 3-4 เท่า หรือประมาณ 80,000-100,000 ล้านบาท นอกจากนี้จะช่วยให้รายรับขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เพิ่มขึ้นด้วย
ศ.ดร.เมธี ครองแก้ว คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ประเทศไทยมีปัญหาการเหลื่อมล้ำของการกระจายรายได้อยู่ในอันดับที่ 100 ของโลก เพราะส่วนใหญ่ใช้ระบบเก็บภาษีทางอ้อม เช่น ภาษีสรรพสามิต ภาษีศุลกากร ซึ่งเป็นการผลักภาระให้กับผู้บริโภค สำหรับวิธีการแก้ปัญหาดังกล่าว คือ ต้องเก็บภาษีทางตรง เช่น ภาษีมรดกและภาษีทรัพย์สิน เพราะขณะนี้ไทยเป็นประเทศเดียวในเอเชียที่ไม่มีการเก็บภาษีดังกล่าว หากในอนาคตมีการใช้ระบบภาษีมรดกจริง รัฐต้องหามาตรการป้องกันการเลี่ยงภาษีอย่างเข้มงวด ส่วนการออกแบบอัตราการเก็บภาษีก็ต้องให้หลายฝ่ายช่วยกำหนด
คณะกรรมการ ป.ป.ช.กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีภาษีทรัพย์สิน หากมีการตรวจสอบฐานรายได้จากประชากรไทยที่มีการยกเว้นภาษี จะพบว่ามีมูลค่าเยอะมาก ทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางฐานะขยายตัวสูงขึ้น ซึ่งตนเห็นว่า น่าจะมีการปฏิรูปอัตราภาษีเงินได้มาใช้ระบบคงที่ และเห็นว่าหากมีการเปลี่ยนแปลงทั้งระบบจะทำได้ง่ายกว่า
ขณะที่ ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าว ว่า สำหรับกฎหมายภาษีที่ดินตนมั่นใจว่าจะสามารถผ่านรัฐสภาได้ ซึ่งการปฏิรูปที่ดินและการปฏิรูปภาษีถือเป็นเรื่องสำคัญระดับประเทศ ซึ่งการเก็บภาษีที่ดินถือเป็นส่วนประกอบย่อยส่วนหนึ่งของการปฏิรูปที่ดิน ดังนั้นการปฏิรูปที่ดินจึงไม่ควรคิดในแง่กลไกภาษีเพียงอย่างเดียว แต่ควรคิดรวมถึงเพดานการถือครองที่ดินด้วย เพื่อเป็นการกระจายที่ดินอย่างเป็นธรรม ซึ่งตนเห็นว่าภาคสังคมต้องร่วมกันผลักดันกฎหมายภาษีมรดกและภาษีทรัพย์สิน เพื่อสร้างประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ โดยไม่จำเป็นต้องรอรัฐบาลเพียงฝ่ายเดียว
นาย อิสระ บุญยัง อุปนายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร กล่าวว่า การจัดเก็บภาษีทรัพย์สิน ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ควรคิดจากฐานภาษีจากราคาประเมินที่ดิน ซึ่งหากมีสิ่งปลูกสร้างก็ควรคิดราคารวมกัน โดยอ้างอิงราคาประเมินจากสำนักประเมินราคาทรัพย์สิน ข่าวที่ผ่านมาเคยนำเสนอว่ารัฐบาลจะจัดเก็บมีอัตราภาษีดังกล่าวไม่เกิน 0.5 เปอร์เซ็นต์ โดยที่อยู่อาศัยมีอัตราจัดเก็บไม่เกิน 0.1 เปอร์เซ็นต์ สำหรับที่ดินเพื่อการเกษตรมีอัตราจัดเก็บไม่เกิน 0.05 เปอร์เซ็นต์ ส่วนพื้นที่รกร้างจะมีอัตราจัดเก็บเพิ่มเป็น 2 เท่าของทุก 3 ปี แต่ไม่เกิน 2 เปอร์เซ็นต์ ส่วนการลดหย่อนภาษีควรให้องค์กรท้องถิ่นเป็นผู้ดูแล นายอิสระ กล่าวต่อไปว่า ทั้งนี้ร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดิน มีข้อดีหลายข้อ คือ 1.ช่วยลดการพึ่งพางบประมาณจากส่วนกลาง 2.ท้องถิ่นมีรายได้ที่แน่นอน 3.ก่อให้เกิดประสิทธิภาพในการใช้ที่ดิน 4.เป็นช่องทางตรวจสอบการทำงานของฝ่ายการเมือง
ส่วน ข้อเสีย คือ 1.ไม่มีข้อยกเว้นกับเจ้าของที่ดินที่มีฐานะยากจน 2.เป็นการซ้ำเติมภาคธุรกิจ หรือโรงงานที่กำลังประสบปัญหา อย่างไรก็ตามตนมีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับ ร่าง พ.ร.บ.ภาษีทรัพย์สิน ดังนี้1. ควรจัดเก็บภาษีแบบค่อยเป็นค่อยไปแบบขั้นบันไดในแต่ละปีจนกว่าจะเสียภาษี เต็มจำนวน 2.ให้อำนาจท้องถิ่นยกเว้นการจัดเก็บภาษีที่มีมูลค่าน้อย และสามารถกำหนดอัตราภาษี เพื่อช่วยชะลอหรือเร่งการเติบโตของท้องถิ่น 3.รัฐควรมีงบประมาณทดแทนในเขตพื้นที่อนุรักษ์สภาพแวดล้อมเพื่อทดแทนรายได้ จากภาษีทรัพย์สิน 4.ควรลดหย่อนภาษีให้กับบ้านจัดสรรที่มีนิติบุคคล เนื่องจากต้องเสียเงินบำรุงท้องถิ่นเป็นประจำทุกเดือน 5.ควรลดหย่อนภาษี สำหรับที่ดินที่ใช้เพื่อสาธารณะประโยชน์ 6.ควรทบทวนค่าธรรมเนียมและค่าภาษีอื่นๆ ในการซื้อขายที่ดิน 7.ทบทวนข้อยกเว้นภาษีสำหรับที่พักอาศัยหรือ อาคารพาณิชสำหรับผู้มีรายได้ต่ำ และพื้นที่เกษตรกรรม