จาก โพสต์ทูเดย์
รายงานโดย :วิโรจน์ พูนสุวรรณ:
ดอกเบี้ยผิดนัด หรือดอกเบี้ยที่คิดหลังจากเงินกู้ถึงกำหนดชำระแล้ว เป็นทั้งค่าเสียหายที่กำหนดไว้ล่วงหน้าและเป็นเบี้ยปรับ ซึ่งถ้าไม่เกินอัตราสูงสุดที่กฎหมายกำหนด ก็บังคับให้เป็นไปตามนั้นได้ แต่ถ้าศาลเห็นว่าสูงเกินสมควร ก็อาจสั่งให้ลดลงมาได้ตามความเหมาะสม
คนทำธนาคารมักจะคุ้นกับคำว่าเบี้ยปรับ สูงเกินส่วนศาลสั่งลดได้ แต่มีน้อยคนที่จะทราบข้อมูลละเอียดว่าที่สูงเกินส่วนนั้น สูงขนาดไหน และที่ศาลมีอำนาจสั่งลดได้ ลดอย่างไร คำพิพากษาฎีกาเมื่อ ไม่นานมานี้ได้ตัดสินให้เห็นเป็นตัวอย่าง โดยศาลได้ ชี้ให้เห็นว่า ดอกเบี้ยผิดนัดในอัตรา 25% ต่อปีนั้น สูงเกินไป ให้ลดลงเหลือ 14.5% เท่ากับว่าดอกเบี้ย ผิดนัดถูกตัดทิ้งถึง 42%
กฎหมายไทยต่างกับอเมริกา : จะเข้าใจกฎหมายไทยเรื่องนี้ได้ดีขึ้น ก็ต้องย้อนไปดูกฎหมายของอเมริกา ซึ่งใช้ฎหมายเรื่องนี้มาก่อนประเทศไทย
ค่าเสียหายที่กำหนดไว้ล่วงหน้ากับเบี้ยปรับ ตามกฎหมายของอเมริกานั้นต่างกัน ค่าเสียหายที่กำหนดไว้ล่วงหน้า ศาลในอเมริกายอมรับบังคับให้ แต่ถ้า ค่าเสียหายจำนวนเดียวกันถูกตีเป็นเบี้ยปรับก็จะเป็นโมฆะเสียเปล่า
คำว่าค่าเสียหายที่กำหนดไว้ล่วงหน้า ก็คือ จะต้องกำหนดไว้เป็นจำนวนเงินแน่นอนตายตัว ว่าถ้ามีการผิดสัญญาขึ้นในอนาคต ความเสียหายจะคาด การณ์ออกมาเป็นตัวเงินได้เท่าไหร่ โดยประเมินราคาไว้เป็นตัวเลขตั้งแต่วันแรกที่ทำสัญญา ที่กำหนด ค่าเสียหายไว้เช่นนี้ก็เพื่อให้ฝ่ายที่ปฏิบัติตามสัญญา ได้รับการชดใช้ความเสียหายโดยไม่ต้องทนลำบากไปใช้สิทธิเรียกร้องในศาล
ค่าเสียหายที่กำหนดไว้ล่วงหน้าจึงมีลักษณะเด่นมีแนวโน้มไปในทาง รอมชอมเพื่อชดใช้ค่าเสียหาย มากกว่าที่จะมีลักษณะสุดขั้วลงโทษผู้ผิดให้สาสมกับการกระทำผิดสัญญา
แตกต่างกันโดยสิ้นเชิงกับเบี้ยปรับที่มีลักษณะ สุดโต่ง เป็นค่าปรับในจำนวนที่สูง มุ่งที่จะลงโทษ ฝ่ายที่ผิดสัญญา ศาลในอเมริกาจึงไม่ยอมรับบังคับเบี้ยปรับให้
ถ้าจะยกตัวอย่างให้เห็นเป็นรูปธรรม คือ ถ้าดอกเบี้ยผิดนัดไม่เกินอัตราที่กฎหมายกำหนด ศาลในอเมริกาก็จะถือว่าเป็นค่าเสียหายที่กำหนดไว้ล่วงหน้า ใช้บังคับได้ แต่ถ้าสูงกว่าอัตราสูงสุดตามกฎหมาย ก็จะถือว่าเป็นเบี้ยปรับ เป็นโมฆะ
ส่วนกฎหมายไทยจับเรื่องค่าเสียหายที่กำหนดไว้ล่วงหน้าและเบี้ยปรับ มารวมเข้าเป็นเรื่องเดียวกัน ให้เรียกว่า เบี้ยปรับ ซึ่งศาลไทยยอมรับบังคับให้ แต่ถ้าศาลเห็นว่าสูงเกินไปก็จะปรับลดลงมา ไม่ถึงกับตีว่าเป็นโมฆะไปเสียทั้งหมดเหมือนอเมริกา
อัตราสูงสุดผิดนัดตามกฎหมายไทย : ตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย ธนาคารพาณิชย์ต้องออกประกาศดอกเบี้ยผิดนัดในอัตราสูงสุดไว้ในเว็บไซต์ของ ธนาคารเอง ซึ่งปัจจุบันนี้ธนาคารเกือบทั้งหมดกำหนดไว้ที่ 15% ต่อปี และบังเอิญไปตรงเป็นอัตราเดียวกันกับดอกเบี้ยเงินกู้ ทั่วไปสูงสุดในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ใช้กับเจ้าหนี้อื่นที่ไม่ใช่ธนาคารที่ 15% เหมือนกัน
เมื่อธนาคารพาณิชย์ประกาศอัตราดอกเบี้ย ผิดนัดสูงสุดของตนแล้ว อัตรานี้ก็จะกลายเป็นกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ถ้าธนาคารไหนฝ่าฝืนก็จะมีโทษทางกฎหมาย และอัตราที่ฝ่าฝืนที่บัญญัติไว้ในสัญญากู้เงินก็จะกลายเป็นโมฆะ ไม่ใช่เฉพาะแต่ตัวดอกเบี้ยผิดนัดในส่วนที่สูงกว่าอัตราสูงสุดเท่านั้น แต่อาจส่งผลให้ดอกเบี้ย ผิดนัดทั้งหมดเป็นโมฆะ
ดอกเบี้ยผิดนัดของธนาคารที่ถูกกฎหมายจะถือว่าเป็นเบี้ยปรับ ใช้บังคับได้ แต่จะบังคับได้เพียงใด ต้องแล้วแต่ศาล ซึ่งก็พอจะสรุปเป็นทฤษฎีได้ว่า อัตราผิดนัดไหนที่ศาลพอรับบังคับให้ได้
อัตราดอกเบี้ยผิดนัดสูงสุดจะขึ้นหรือลงก็แล้วแต่สภาพของตลาดเงินใน แต่ละช่วงเวลา ดังนั้นถ้าหากเงินกู้ผิดนัดเป็นระยะเวลานานหลายปี อัตราดอกเบี้ยผิดนัดสูงสุดที่ใช้คิดกับเงินกู้นั้นก็อาจมีได้หลายอัตรา ช่วงวิกฤตเศรษฐกิจใหญ่ปี 2540 อัตราดอกเบี้ยผิดนัดสูงสุดของธนาคารพุ่งขึ้นไปสูงถึง 25% ต่อปี
คดีในศาลฎีกา : ตามคำพิพากษาฎีกาเมื่อเร็วๆ นี้ ลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้เงินกู้ตั้งแต่ปี 2538 จนมาถึงปี 2539 ผ่านวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 เรื่อยมาจนถึงปี 2544 ที่มีการบังคับจำนอง
ตลอดเวลาที่ผิดนัด ดอกเบี้ยผิดนัดอัตราสูงสุดของธนาคารเจ้าหนี้ก็ไต่ระดับตั้งแต่ 14.5% ต่อปี แล้วก้าวกระโดดขึ้นไปเป็น 19%, 22% จนขึ้นไปสูงสุดที่ 25% ก่อนที่จะตกกลับลงมาที่ 14.5% ตามเดิม เมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัว
ศาลฎีกาถือว่าดอกเบี้ยผิดนัดในอัตราเหล่านี้ทั้งหมดเป็นการกำหนด ค่าเสียหายไว้ล่วงหน้า จึงเป็นเบี้ยปรับ หากสูงเกินส่วนศาลมีอำนาจลดลงได้ตามที่เห็นสมควร และศาลก็เห็นว่าดอกเบี้ยผิดนัดในอัตราสูงสุดที่ระบุทุกอัตราเหล่านั้นสูง เกินไป ยกเว้นอัตรา 14.5% ที่ไม่สูงเกินส่วน ศาลจึงสั่งลดเบี้ยปรับทุก อัตราจนเหลืออัตราเดียว คือ 14.5% ต่อปี โดยอัตราเดียวนี้ให้ใช้ตลอดช่วงเวลาที่ผิดนัดทั้งช่วง ตั้งแต่วันที่เริ่มผิดนัดจนถึงวันที่ธนาคารเจ้าหนี้ได้ยื่นคำร้องขอรับชำระ หนี้ในฐานะเจ้าหนี้จำนอง
จากความบังเอิญที่ว่าอัตราที่ศาลเห็นชอบด้วยนี้มีความใกล้เคียงกับ อัตราดอกเบี้ยสูงสุด 15% ต่อปี ของเงินกู้ทั่วไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ก็เลยทำให้เกิดทฤษฎีที่ยังไม่ได้รับการพิสูจน์ที่ว่า ถ้าธนาคารกำหนดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดสูงสุดไว้ที่ 15% เท่ากับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ อาจจะเป็นอัตราที่ปลอดภัยที่ศาลจะไม่สั่งให้ลดลงไปต่ำกว่านี้
จึงอาจเป็นที่มาของอัตราดอกเบี้ยผิดนัดสูงสุด 15% ที่ธนาคารส่วนใหญ่ใช้อยู่ทุกวันนี้
บังคับจำนองโดยไม่ต้องฟ้อง : คำตัดสินของศาลได้สร้างความกระจ่างในอีกประเด็นหนึ่งที่คนทำธนาคารจำนวนมาก ยังเข้าใจผิดอยู่เกี่ยวกับการบังคับจำนอง โดยเข้าใจกันโดยทั่วไปว่า ถ้าธนาคารผู้รับ จำนองจะบังคับจำนอง ก็ต้องฟ้องคดีบังคับจำนองต่อศาลเท่านั้น ซึ่งความเข้าใจเช่นนี้ไม่ถูกต้องเสมอไป
ศาลยกข้อกฎหมายที่มีมานานแล้วว่า ธนาคาร ผู้รับจำนองไม่จำเป็นต้องฟ้องเป็นคดีใหม่ ถ้าลูกหนี้ ถูกเจ้าหนี้อื่นฟ้องจนคดีถึงที่สุดแล้ว และเจ้าหนี้ อื่นนั้นนำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดทรัพย์สินต่างๆ รวมทั้งทรัพย์ที่จำนองของลูกหนี้ตามคำพิพากษาไว้แล้ว กรณีเช่นนี้ธนาคารผู้รับจำนองไม่ต้องฟ้องเป็นคดีใหม่ แต่ให้ยื่นคำร้องต่อศาลที่ออกหมายบังคับคดีได้เลย เพื่อขอรับชำระหนี้จำนองก่อนเจ้าหนี้ตาม คำพิพากษา โดยต้องยื่นก่อนที่จะเอาทรัพย์สินที่ จำนองออกขายทอดตลาด
โดยศาลฎีกามีความเห็นว่า การที่ธนาคารผู้รับ จำนองยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้จำนองก่อนเจ้าหนี้อื่น ย่อมมีผลเป็นการฟ้องขอให้บังคับจำนองเช่นกัน
การบังคับจำนองโดยวิธีลัดนี้ นอกจากจะประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายของศาลแล้ว ธนาคาร ผู้รับจำนองก็ได้ประโยชน์ด้วย จากการที่มีเจ้าหนี้อื่นมาดำเนินการแทน