สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ร้อยเรื่องราว คู่รักของเท้า

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
โดย : นันทขว้าง สิรสุนทร


คงไม่มีใครมีรองเท้าแค่คู่เดียว แต่เคยถามตัวเองบ้างไหมว่า นอกจากดีไซน์ ความสวย หน้าที่ห่อหุ้มเท้าอันเปลือยเปล่า คุณใส่รองเท้าด้วยเหตุผลใดอีก

เรียวเท้าของหญิงสาวนั้น ย่อมเป็นคนละส่วนกับ "รองเท้า"

ทว่า มิอาจแยกพรากด้วยความหมายอันสอดรับด้วยหน้าที่แห่งกันและกัน... รองเท้าที่เปิดเปลือย เผยให้เห็นถึงเสน่ห์แห่งสตรีเพศ เท่าๆ กับที่รองเท้าที่สั้นงุ้ม แสดงถึงชนชั้นและ class ของผู้หญิงในยุคสมัยหนึ่ง

นี่ยังไม่นับรองเท้าส้นสูงหรูระยับ ที่สะท้อนถึงอำนาจ (power) และความองอาจแห่งตัวตน และหากว่าคุณเป็นผู้ที่รักสุขภาพ ครั้งหนึ่งรองเท้าผ้าใบก็เป็นความสนใจของกลุ่มนี้

คงเป็นร้อยพันความหมายหากจะแจกแจงบอกเล่า...และคงมากกว่าหมื่นแสนรองเท้า ถ้าจะนับด้วยหน้าตาอันแตกต่าง แค่นี้ก็เพียงพอแล้ว ถ้าใครสักคนจะเข้าไปค้นหาแง่มุมในนิทรรศการ "ร้อยเรื่องรองเท้า" ซึ่งจัดที่ TCDC หรือศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ จนถึงสิ้นเดือนสิงหาคมนี้

Identity มีส้น

นิทรรศการร้อยเรื่องรองเท้าและ ความหมายนั้น เป็นฝีมือการคัดสรรของภัณฑารักษ์ประจำกระทรวงวัฒนธรรมและการสื่อสารฝรั่งเศส อีฟ ซาบูแร็ง (Yves Sabourin) ร่วมกับ มารี-โจเซฟ บอสซัง-ปิโกต์ (Marie-Josephe Bossan-Picaud) หัวหน้าภัณฑารักษ์จากพิพิธภัณฑ์รองเท้านานาชาติเมืองโรมองซ์ (International Shoes Museum, Romans) หนึ่งในสองพิพิธภัณฑ์ระดับโลก ซึ่งว่ากันว่ามีการเก็บสะสมรองเท้าจากทั่วทุกมุมโลกไว้

พิพิธภัณฑ์ทั้งสองได้ร่วมกันคัดสรรรองเท้าจากยุคสมัยและวัฒนธรรมที่หลาก หลายจากศตวรรษที่ 18 - 21 ของฝรั่งเศสและชนชาติต่างๆ เช่น จีน อินเดียนแดง หรือ ตุรกี ที่อยู่ในคอลเลคชั่นสะสมของพิพิธภัณฑ์ ตลอดจนรองเท้าแบรนด์ดังของฝรั่งเศส อาทิ ชาแนล เรเปตโต และคริสเตียน ลาครัวซ์ พร้อมผลงานศิลปะร่วมสมัยทั้งภาพลายเส้น ภาพถ่าย และงานศิลปะแบบจัดวางที่ได้รับแรงบันดาลใจจากรองเท้าและเท้า

เท้าที่ผู้คนเดินนั้น อาจเดินไปในพื้นที่ แต่ความหมายนั้นกลับ "ท่องเที่ยวไป" ได้ไกลกว่า..มันเป็นทั้งเครื่องมือช่วยสื่อภาพลักษณ์ สถานะ อำนาจ และความสง่างาม ผ่านรูปทรงที่สื่ออารมณ์และความรู้สึก การออกแบบมาเพื่อสร้างท่วงท่าการเดินที่เย้ายวน และเพื่อตอบสนองวิถีการใช้สอยที่แตกต่างกันไปตามแต่ละภูมิประเทศทั้งในพื้น ถิ่นทุรกันดารและสภาพอากาศที่แตกต่าง

ขณะที่รองเท้าหลายคู่ยังสามารถแสดงถึงยุคสมัยและตัวตนของผู้ที่สวมใส่ได้ เป็นอย่างดี ซึ่งเรื่องราวของรองเท้าที่ร้อยเรียงกันนำเสนอแง่มุมที่หลากหลายเหล่านี้จะ เกิดขึ้นไม่ได้เลย หากปราศจาก กระบวนการคิด การออกแบบ ด้วยวัสดุหลากชนิดและเทคนิคเทคโนโลยีต่างๆ เพื่อตอบสนองมิติการสวมใส่ที่หลากหลายต่างกันไป

"กาละแมร์" เบญจมาศ พัชรศรี บอกกับ "จุดประกาย" ว่า เธอมีรองเท้าเยอะมาก และแต่ละคู่ก็ล้วนมีความหมายแตกต่างกันไปนอกเหนือไปจากการมีหน้าที่ "ถูกใส่" ในแต่ละวัน มุมมองนี้ของ 1 ใน 4 พิธีกรสาวผู้หญิงถึงผู้หญิง ถูกสนับสนุนด้วยอีกเสียงหนึ่งจาก นางเอกที่กำลังป๊อปอย่าง "ต่าย" ชุติมา ทีปะนาถ (season change, หนีตามกาลิเลโอ)

"รองเท้าที่สะท้อนตัวตนต่าย ก็คือ คัทชู ของ พอล สมิธ ที่รักสุดๆ ซื้อมา 2 คู่ คือ สีน้ำตาล เอาไว้ใส่ออกงานทางการ หรือใส่ไปชอป เพราะจะดูเรียบร้อย ส่วน พอลสมิธ คู่ลายๆ จะเอาไว้ใส่กับเสื้อผ้าสีพื้นๆ ซึ่งต่ายยอมรับว่า รองเท้าทำให้ต่ายดูเป็นนางเอกขึ้นมา และยังเป็นรองเท้า 2 คู่ที่ใส่บ่อยที่สุด เอาไปใส่ที่ 3 ประเทศ อังกฤษ-ฝรั่งเศส-อิตาลี

ตอนไปโปรโมทหนัง หนีตามกาลิเลโอ 8 วันที่เดินทางตลอด ต่ายไม่รู้สึกเมื่อย เพราะรองเท้าใส่สบายมาก เดินไม่เจ็บ เท้าไม่เป็นแผล จัดว่าเป็นรองเท้าคู่ใจ ที่นำพาเราเดินไปได้อย่างสบายๆ ค่ะ"

เธอบอกว่า รองเท้าแบบนี้คือ identity ของเธอ มากกว่าที่จะเป็นรองเท้าส้นสูงออกงาน ซึ่งไม่ค่อยใช่บุคลิกของเธอนัก

ส่วนอีกคนหนึ่ง "เต้ย" จรินทร์พร จุนเกียรติ์ ซึ่งแสดงเป็น "นุ่น" ดูโอในหนัง "หนีตามกาลิเลโอ" ก็บอกว่า เธอเลือกลักษณะรองเท้า ที่บอกถึงความเป็นหญิงสาวอย่างเธอเหมือนกัน

"เต้ยเลือกรองเท้า “lanvin” เป็นรองเท้าคู่กายของเต้ยที่ใส่ไปไหนมาไหนเป็นประจำ เป็นรองเท้าส้นสูงสีดำที่ใส่สบายมาก และเป็นรองเท้าคู่แรกที่เต้ยเก็บเงินซื้อเองและอยากได้มานานแล้ว เป็นยี่ห้อที่เราชื่นชอบ เต้ยจะใส่บ่อยเป็นพิเศษ ทั้งใส่ไปออกงาน ไปเดินห้าง รวมทั้งใส่ไปเที่ยวเล่นกับเพื่อนๆ ได้ด้วย เวลาใส่แล้วทำให้ดูสูงด้วยค่ะ"

หลายคนสงสัยว่า จริงหรือ แค่หน้าตารองเท้า และรูปลักษณ์ของมันนั้น สามารถสะท้อนถึงยุคสมัย ขนบธรรมเนียม เพศและความเย้ายวน ตลอดจนเสรีภาพได้ ?

อีฟ ซาบูแร็ง ซึ่งเป็นภัณฑารักษ์ในนิทรรศการได้จัดแบ่งและตีความหมายรวมถึงสัญลักษณ์ที่ สื่อผ่านรองเท้าประเภทต่างๆ ออกเป็น 5 อย่าง ได้อย่างน่าสนใจ

อย่างแรกคือ การแสดงออกถึง "อำนาจและความสง่างาม" (Politics and Ceremonial) ผ่านการสำแดงภาพลักษณ์ต่อสาธารณะ (มาริลีน มอนโร และบรรดาเซเลบ ชอบสวมใส่รองเท้าแบบนี้)

"รองเท้าซึ่งสะท้อนถึงสัญลักษณ์แห่งอำนาจ ชนชั้น และความงามสง่าของผู้สวมใส่ผ่านรองเท้าแบบต่างๆ อาทิ คุยซาร์ด บูทหนังสูงปักประดับอย่างหรูหราจากคริสเตียน ลาครัวซ์ หรือรองเท้าส้นสูงสีดำขรึมสง่าของชาแนลซึ่งออกแบบโดยคาร์ล ลาเกอร์เฟลด์"

ทั้งนี้รองเท้าส้นสูงได้ถูกนำไปเชื่อมโยงเป็นสัญลักษณ์แห่งความหรูหรา โอ่อ่านับตั้งแต่ถูกสวมใส่โดยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส (ค.ศ.1638-1715) ผู้รับสั่งให้ก่อตั้งโรงเรียนนาฏศิลป์หลวง (Acad?mie Royale de Danse) ซึ่งนับเป็นการเปิดดินแดนใหม่ให้กับงานออกแบบรองเท้าและเป็นจุดเริ่มต้น อุตสาหกรรมการผลิตและพัฒนารองเท้าเต้นรำที่สร้างแรงบันดาลใจให้นักออกแบบทำ รองเท้าที่แสดงถึงความสง่างามยามก้าวเดิน เช่น รองเท้าเต้นรำแบบคลาสสิกของเรเป็ตโต้ แบรนด์รองเท้าฝรั่งเศสที่มีชื่อเสียงจากการผลิตรองเท้าเต้นรำและรองเท้ารูป แบบคลาสสิกต่างๆ

มีอำนาจแล้ว ก็มาถึงอย่างที่สองคือการแสดงซึ่ง "ความเย้ายวนสายตา" และสร้างความปรารถนา (Sensual or Free & Easy)

เขาบอกว่ารองเท้ามักได้รับการเชื่อมโยงเข้ากับอิสตรี เนื่องจากเท้าสตรีเป็นอวัยวะเร้าอารมณ์ความรู้สึกในหลายวัฒนธรรม เช่น รองเท้าสำหรับการมัดเท้าแบบดอกบัวทองคำของสตรีจีนชาวฮั่นในอดีตที่มัดแน่นจน เหลือเพียง 3 นิ้ว เพื่อรองรับท่าเดินเยื้องย่างที่เกิดจากความเจ็บปวดซึ่งชายจีนกลับมองอย่าง ชื่นชมมากว่า 2,000 ปี

และรองเท้าส้นเข็มแบนบางสูงชะลูดที่บางครั้งมีเส้นผ่าศูนย์กลางส้นเพียง 1/ 3 นิ้ว (stiletto heel) เพื่ออวดเรียวขาและท่าเดินที่น่ามองในทศวรรษที่ 1950 (คุณสามารถพบว่า ซาร่าห์ เจสสิก้า พาร์คเกอร์ ในซีรีส์ sex and the city มักคร่ำครวญอยากใส่รองเท้าแบบนี้บ่อยๆ)

อย่างที่สามก็คือ รองเท้าที่มีแง่มุมการกีฬาและธรรมชาติ เช่นรองเท้าผ้าใบและรองเท้าแตะฟางสานช่วยระบายอากาศ (ได้รับอิทธิพลจากชาวประมงริมชายฝั่งทางใต้ของจีนที่มีอากาศร้อนชื้นใน ศตวรรษที่ 19) รองเท้าที่สะท้อนความหมายนี้ กลายเป็นกิจกรรมหย่อนใจในยุคสมัยเดียวกันจนทำให้รองเท้าผ้าใบขายดีเป็นที่ นิยม และการผลิต

อย่างที่สี่คือ รองเท้าในยุคบาโรค ร็อค แอนด์ โรล หรือรองเท้าที่สามารถสะท้อนยุคสมัย โดยจะเห็นได้ว่า รองเท้าจากยุคบาโรคที่มีรองเท้ารูปทรงส้นโค้งมนหรูหรารับกับภาพหลังแห่งยุค ที่งานออกแบบเน้นเส้นสายและความโค้งเว้า จนถึงสมัยใหม่ที่สามีภรรยานักออกแบบ มาริเต้ และฟรองซัวร์ จีโบต์เลือกผสมผสานวัฒนธรรมและแฟชั่นจากท้องถนนเข้ากับรูปแบบรองเท้าในอดีต ได้เป็นรองเท้าแหวกขนบทั้งด้านรูปทรงและวัสดุ เปิดให้ผู้สวมใส่ได้แสดงตัวตนในยุคสมัยแห่งความอิสรเสรี

ขณะที่รองเท้าในความหมายสุดท้ายคือ นวัตกรรมรองเท้าที่แสดงถึงเทคนิคหลากหลาย โดยส่วนหนึ่งเป็นรองเท้าที่ตอบสนองวิถีใช้สอยในแต่ละพื้นที่ได้เป็นอย่างดี เช่น เกตะ-เกี๊ยะไม้ของชาวญี่ปุ่นที่ออกแบบมาให้มีแผ่นยกสูงเพื่อป้องกันไม่ให้ ชุดประจำชาติที่มีชายลากยาวเปรอะเปื้อนสกปรก

รองเท้าดี ชีวิตจะดี

ถึงตรงนี้ นั่นหมายความว่า นอกจากสไตล์เสื้อผ้าจะบอกถึงบุคลิกเจ้าของร่างกายแล้ว... รองเท้าที่ห่อหุ้มร้อยรัดเรียวเท้า ยังสะท้อนนัยผ่านตัวตนอีกมาหลาย ผ่านหน้าตาของมันอีกด้วย ทั้งรองเท้าผ้าใบ ส้นสูง เปิดเปลือย มัดเท้า ห่อหุ้ม ฯลฯ

"โดยปกติแล้ว เป็นคนชอบใส่รองเท้าไม่มีส้น (Flat) ลักษณะคล้ายรองเท้าบัลเลต์มากกว่ารองเท้าส้นสูง" ฉายนันท์ มโนสันติภาพ นักแสดงสาวคุณภาพจากหนังเรื่อง Happy Birthday บอกกับ "จุดประกาย"

"เพราะสะดวกในการทำงาน สวมใส่ได้ง่าย มีความคล่องตัวสูง และที่สำคัญรู้สึกเป็นตัวของตัวเองมากที่สุด เข้ากับชุดได้ง่าย อย่างตอนนี้จะชอบดีไซน์ของแบรนด์ StellaLuna ซึ่งเป็นแบรนด์รองเท้าแฟชั่นที่มีรองเท้าให้เลือกหลากหลายแบบ ทั้งส้นสูง และแบบไม่มีส้น ซึ่งตรงกับไลฟ์สไตล์และความต้องการของผู้หญิงเป็นอย่างมาก รู้สึกได้เลยว่าเวลาใส่แล้วจับต้องได้ ไม่ได้ดูหรูหราจนเกินไป แต่มีความเป็นแฟชั่น มีกลิ่นอายของความ Chic ค่อนข้างสูง โทนสีสวย แบบสวย นอกจากนี้ เวลาจะตัดสินใจซื้อรองเท้าสักคู่ โดยมากจะไม่ได้ยึดติดกับแบรนด์เป็นหลัก แต่ว่าจะเน้นที่ดีไซน์ แบบและโทนสีของรองเท้ามากกว่า บางครั้งเจอแบบที่ถูกใจ ก็จะซื้อทีเดียวหลายๆ คู่ ประมาณ 2-3 สี/แบบ"

จะเห็นได้ว่าเธอเน้นไปที่ดีไซน์และโทนสี เป็นส่วนหนึ่งของการเลือกรองเท้าให้กับเท้า แต่สาวอีกนางหนึ่งที่เป็นสีสันของวงการบันเทิงนับตั้งแต่หนังเพื่อนสนิทออก ฉาย ก็คือ ปณิสรา พิมพ์ปรุ หรือ "โอปอลล์" ซึ่งประกาศตัวเด่นชัดว่า รองเท้าที่เธอใส่ต้อง "มีส้น" เท่านั้น

"ถ้าจะให้พูดถึงรองเท้าที่ชอบ และบอกสไตล์ของ โอปอลล์ ได้ดีที่สุด คงจะเป็นรองเท้าส้นสูง เพราะตั้งแต่สลัดรองเท้านักเรียนออก ก้าวสู่รั้วมหาวิทยาลัยจนโลดแล่นในวงการบันเทิง ไม่มีวันไหนที่โอปอลล์ใส่รองเท้าไม่มีส้น แต่ขนาดส้นจะยาวกี่นิ้วค่อยดูตามความเหมาะสมของชุดที่เลือกใส่กันอีกที ถ้าพี่ถามต่อไปว่า “ทำไมถึงชอบรองเท้าส้นสูง” ก็ตอบได้ว่า เพราะด้วยหน้าที่การงานที่รับผิดชอบในแต่ละวัน นอกเหนือจากการจัดการรายการวิทยุแล้ว โอปอลล์ยังรับงานพิธีกรตามอีเวนท์ต่างๆ วันหนึ่งก็หลายงานอยู่เหมือนกัน ครั้นจะมีแค่รองเท้าเพียงคู่เดียวใส่ทั้งวัน ใส่ไปทุกงาน มันก็จะดูแปลกๆ ไปหน่อย อย่างน้อยเพื่อความอุ่นใจโอปอลล์จะมีรองเท้าอยู่หลังรถประมาณ 20-30 คู่ ที่สามารถเลือกใส่ให้เข้ากับชุดทุกสถานการณ์ โดยแบบส่วนใหญ่จะเป็นแบบเรียบๆ ไม่เน้นลวดลายมากนัก เน้นโทนสีดำ น้ำตาล ทอง และสีเงิน ขนาดความสูง 4 นิ้วขึ้นไป เพราะเพิ่มความมั่นใจได้สุดๆ"

แน่นอนว่าในการสวมใส่นั้น ทุกคนย่อมแบรนด์ ไม่ต่างจากการมีแนวทางของตัวเอง

"แต่ถ้าจะให้พูดถึงแบรนด์โปรด ต้องยกให้แบรนด์ CHRISTIAN LOUBOUTIN เพราะชอบดีไซน์รองเท้าส้นสูงแต่ละคอลเลคชั่นของเขา ด้วยสไตล์นิ่งๆ ใส่ง่าย แถมใส่สบายอีกด้วย แต่สนนราคาคู่หนึ่งก็แพงเอาการอยู่เหมือนกัน นอกจากนี้ โอปอลล์ก็ยังมีรองเท้าแบรนด์อื่นๆ ที่ชื่นชอบอีกมากมาย ซึ่งเวลาที่ตัดสินใจซื้อแต่ละคู่ก็จะดูที่ราคาด้วยเหมือนกัน เพราะการซื้อรองเท้าก็เหมือนกับการลงทุน เป็นสมบัติทางใจด้วย โอปอลล์ทำงานเยอะ ใช้ตัวเองเยอะ เพราะฉะนั้นการเสียเงินซื้อรองเท้า ก็เป็นการลงทุนเพื่อหน้าที่การงาน เพิ่มความมั่นใจให้กับตัวเองมากกว่า และเวลาซื้อก็เลือกที่ตัวเองชอบมากที่สุด ใส่แล้วเป็นตัวเองมากที่สุด ไม่จำเป็นต้องไปตามแฟชั่น เพราะแฟชั่นไม่ได้เหมาะกับคนทุกคนในสังคมเสมอไป โอปอลล์เชื่อเสมอว่า รองเท้าดีๆ จะสามารถนำพาเราไปในที่ที่ดีๆ ได้”

คำพูดของเธอยืนยัน ราวกับเป็นน้ำหนักว่า เมื่อเท้าได้ก้าวเดินไป ความหมายก็ได้ท่องเที่ยวไปด้วย ในก้าวย่างเดียวกัน

    * รองเท้าก็มี "พิษ" !

คุณผู้หญิงครับ เคยทราบไหมว่าภายใต้ “ทุกท่วงท่า” ที่ “ก้าวเดิน” เป็นที่มาของปัญหาสุขภาพและสารพัดโรคภัยที่คาดไม่ถึงที่ตามมาไม่รู้จบ

Belinda Luscombe คอลัมนิสต์สาวจากนิตยสาร Time ได้ให้ข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับ "พิษร้ายรองเท้าส้นสูง" หลังจากได้เข้าร่วมเวิร์คชอปที่ชื่อว่า High Heel Fitness Class & High Heel Walking Workshop ที่สอนท่วงท่าการเดินแบบ “อกผาย” ด้วย “อาวุธสูงหกนิ้ว” !!!

อาการติดเชื้อต่างๆ ที่ผู้หญิงประสบ แถมยังยากแก่การอธิบายนั้น มีการวิจัยกันว่า รองเท้าส้นสูงนี่แหละ ที่น่าฉงนสนเท่ห์มากที่สุด มีเสียงเตือนจากนักวิทยาศาสตร์ว่าการสวมรองเท้าส้นสูงอาจทำให้เกิดโรคชนิด ร้ายแรงต่างๆ นานา มากมายอย่างคาดไม่ถึง เช่น กระดูกพรุน ข้ออักเสบ อาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อสะโพกขั้นรุนแรง ข้อนิ้วหัวแม่เท้าเสื่อม หรือ “เล็บขบ”

แต่ก็มีอาการที่ไม่ถึงกับรุนแรงนัก ที่มีชื่อเรียกประหลาดๆ อย่าง hammertoe หรือ Haglund’s deformity (โรคที่มีก้อนเนื้อผุดขึ้นมาตรงเส้นเอ็นของส้นเท้าหรือมีชื่อเรียกอีกชื่อ ว่า pump bump) และมีการศึกษาอย่างจริงจังในหลายประเทศ  ที่น่าสนใจคือข้อมูลจากการศึกษาที่สวีเดนมีการนำ “รองเท้าส้นสูง” มาโยงกับโรค “ซกิดโซฟรีเนีย” โรคจิตชนิดหนึ่งที่ทำให้ผู้ป่วยมีอาการแปลกๆ หรือบางครั้งก็ทำตัวแปลกๆ เกิดภาพหลอนบางอย่าง และบางคนถึงขั้นเก็บตัวไม่ยุ่งเกี่ยวกับคนอื่น (อ้างจากนิตยสาร time)

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีข่าวออกมาแค่ไหนก็ตาม บรรดาสาวๆ ก็ยังคงออกไปทำงานกับรองเท้าคู่ใจด้วยความวิงเวียน ปวดเท้ามากขึ้น นั่นก็เพราะปีที่ผ่านมา วงการแฟชั่นผลิตรองเท้าที่สูงปรี๊ดขึ้นไปถึง 6 นิ้วออกมาขาย (อนาคตอาจจะ 7 นิ้ว) นักวิจารณ์บางคนบอกว่า มันก็คือสร้างตึกไว้ใต้เท้าตัวเองดีๆ นี่เอง

view