จาก ประชาชาติธุรกิจ
ประชาชาติออนไลน์ วิเคราะห์ ปัญหาต่างชาติซื้อที่ดินในประเทศไทย อย่างถึงรากถึงโคน มองปัญหาจากอดีตจนถึงปัจจุบัน เลิกตื่นตูมและโวยวายแบบไร้สติได้แล้ว วิพากษ์จุดบอด พ.ร.บ.การประกอบกิจคนต่างด้าว และ ประมวลกฎหมายที่ดิน ฟันธง ไม่มีรัฐบาลหน้าไหน แก้แตะต้อง เพราะกลัวต่างชาติ ถอนการลงทุน บทวิเคราะห์เสนอแนวทางแก้ปัญหา อย่างชัดเจนเป็นระบบที่สุด
... สังคมไทย ตื่นตูมกันอีกครั้ง เมื่อมีข่าวว่า ต่างชาติ จะเข้ามาซื้อที่นาปลูกข้าว สื่อบางฉบับ เล่นข่าวแบบหวือหวา น่าวิตก ว่า ต่างชาติจะเข้ามากวาดซื้อที่ดินแปลงใหญ่
เมื่อ นักข่าวไปถามนายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็ยืนยันว่า ตามกฎหมายได้กำหนดชัดเจนว่าชาวต่างชาติไม่สามารถมาซื้อที่ดินในประเทศไทยได้
กฎหมายฉบับที่ท่านผู้นำ พูดถึงก็คือ ประมวลกฎหมายที่ดิน กับ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 นั่นเอง
เอา เข้าจริง ปัญหาต่างชาติ เข้ามาซื้อที่ดิน ในประเทศไทย ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นข่าวขึ้นมา ครั้งใดก็ ตื่นตูม กันพักใหญ่แล้วก็เงียบไป 2 ปีที่แล้ว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ชวน นายวาลิด อาเหม็ด จัฟฟาลี รองประธานบริษัทซาอุดีซีเมนต์ (SCC) ซึ่งเป็นบริษัทซีเมนต์รายใหญ่สุดของประเทศซาอุดิอาระเบียและเป็นหนึ่งในผู้ ถือหุ้นรายใหญ่ของ กลุ่มบริษัท EA Juffali&Brother กลุ่มบริษัทอุตสาหกรรมและพาณิชย์รายใหญ่ที่สุดของซาอุฯและภูมิภาคตะวันออก กลาง ลงดูพื้นที่ปลูกข้าว ที่บ้านนายประภัตร โพธสุธน จ.สุพรรณบุรี เพื่อเตรียมลงทุนทำนาปลูกข้าวส่งขายต่างประเทศ เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม2551
ปรากฏว่า ทั้ง พ.ต.ท.ทักษิณ และนายประภัตร โพธสุธน ถูกด่ายับ อย่างรุนแรง ด้วยข้อหา ขายชาติ !!!
จริงๆ แล้ว คนไทยกลัวต่างชาติ ยึดครองที่ดิน มาโดยตลอด ในสมัยรัฐกาลที่ 7 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปกฯ พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงมีความกังวล ปัญหาการโอนที่ดิน ไปตกอยู่ในมือ นักลงทุนชาวญี่ปุ่น นักเก็งกำไรชาวจีน และบริษัทอีสต์-เอเซียติก
รัชกาลที่ 7 ทรงยืนกรานที่จะไม่ยอมให้ที่ดินผืนใหญ่ผ่านมือไปเป็นของชาวต่างชาติ ครั้งหนึ่ง ชาวญี่ปุ่นได้ถามมาในปี 1929 ว่าจะมาเพาะปลูกอ้อยในสยามได้ไหม
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชปรารภว่า สำหรับตัวข้าพเจ้าเองรู้สึกไม่เต็มใจจะให้ที่ดินของเราตกไปอยู่ในมือคนต่าง ชาติ หากรัฐบาลยอมให้ที่ดินตกไปอยู่ในมือคนต่างชาติมากเกินไป ถ้าประชาชนปฏิวัติเขาก็มีเหตุผลสมควรที่จะทำเช่นนั้น
กล่าวกันว่า ตลอดรัชสมัยของพระองค์มีการต่อต้านการโอนที่ดินแปลงใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่นาหรือที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมให้กับชาวต่างชาติ แม้เจ้าของจะเป็นคนเชื้อสยาม-จีนก็ตาม
มาในยุคปัจจุบัน 2 ปีที่แล้ว เกิดปัญหา บริษัท ไทยเทียม หรือ การเชิดนอมินี เข้ามาทำธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ (ค้าที่ดิน) บนเกาะสมุย จ. สุราษฎร์ธานี เอาเข้าจริง ปัญหาไทยเทียม กระจายไปทั่วประเทศทั้ง จ.ภูเก็ต จังหวัดชายทะเลอันดามัน เรื่อยมาถึง อำเภอหัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ตลอดจนชายทะเลฝั่งตะวันออก
ล่าสุด เมื่อต้นเดือนกรกฎาคม 2552 อัยการฝ่ายคดีพิเศษสั่งไม่ฟ้องที่ปรึกษากฎหมายที่อยู่เบื้องหลังการกว้าน ซื้อที่ดินของต่างชาติบนเกาะสมุย จนถึงวันนี้ จึงไม่เคยมีคดีนอมินีขึ้นสู่ชั้นศาล สักคดี
ปัญหา นอมีนี ที่ท้าทาย อำนาจรัฐมากที่สุด แต่รัฐบาลก็ทำอะไรไม่ได้ ก็คือ กรณี บริษัท กุหลาบแก้ว จำกัด นอมินีที่ถูกเชิดมาเพื่อดีล ขาย ชินคอร์ป ให้แก่ เทมาเส็ก มูลค่า 73,000 ล้านบาท
เพราะกรณี กุหลาบแก้ว ขนาดว่า พฤติกรรมชัดเจนมากที่สุดแล้ว ยังลอยนวล แล้วจะไปจัดการกับ นอมินี อีก 5 แสนราย ได้อย่างไร ?
ในขณะที่ กรมพัฒนาธุรกิจ กระทรวงพาณิชย์ มีเจ้าหน้าที่ตรวจสอบ บริษัท ไทยเทียม แค่ 6 คน ? "คณิสสร นาวานุเคราะห์" อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กล่าวว่า ได้ตรวจสอบการข้อมูลบริษัทที่จดทะเบียนไว้กับกรมฯ ซึ่งมีทั้งหมด 5 แสนราย โดย 3 หมื่นราย มีต่างชาติเข้ามาถือหุ้นในบริษัทสัดส่วน 49% ซึ่งกรมฯได้ตรวจสอบลงลึกต่อไปว่าใน 3 หมื่นรายนั้น มีบริษัทไหนที่มีวัตถุประสงค์เกี่ยวกับการประกอบธุรกิจที่ดิน พบว่ามีทั้งหมด 1,500 บริษัท จากนั้นตรวจสอบลึกลงไปอีกว่ามีบริษัทไหนที่มีการถือครองที่ดิน
ขณะนี้เหลือบริษัทที่มีพฤติกรรมสุ่มเสี่ยงต่อการเป็นนอมินี 300 บริษัท กรมฯจึงได้ทำการตรวจสอบเชิงลึก โดยลงไปตรวจสอบในพื้นที่การถือครองที่ดินของ 300 บริษัท เพื่อหาข้อมูล ได้ตรวจไปแล้ว 200 กว่าบริษัท ยังไม่พบความผิดปกติ เหลืออีก 40-50 บริษัทที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบคาดว่าจะได้ข้อสรุปเร็วๆ แต่ท้ายที่สุด คำตอบคาดเดาได้ไม่ยากว่า ไม่พบสิ่งผิดปกติ เช่นเดียวกับ "อนุวัฒน์ เมธีวิบูลวุฒิ" อธิบดีกรมที่ดิน ที่ได้สั่งการให้สำนักงานที่ดินทั่วประเทศเร่งติดตามตรวจสอบการถือครอง กรรมสิทธิ์ที่ดินของชาวต่างชาติ
ตามที่มีกระแสข่าวกลุ่มนายทุนต่างชาติได้เข้ามากว้านซื้อที่ดินเพื่อการเกษตร (ทำนา) ไว้ในครอบครอง
แต่จนถึงขณะนี้ ยังไม่ได้รับรายงานการตรวจสอบพบความผิดปกติในการถือครองที่ดินของชาวต่างชาติแต่อย่างใด
จริงๆ แล้ว รูปแบบในการทำธุรกิจค้าที่ดินของคนต่างด้าว มักใช้บริการของสำนักงานที่ปรึกษากฎหมายให้คำแนะนำ โดยใช้ช่องว่างของกฎหมายเพื่อหลีกเลี่ยงคำว่า "คนต่างด้าว" และหลีกเลี่ยงการเสียภาษีให้กับรัฐในทุกรูปแบบ ประเด็นสำคัญคือ การใช้รูปแบบของการถือครองที่ดินโดยนิติบุคคลที่มีคนต่างด้าวถือหุ้นอยู่ใน อัตราร้อยละ 49 และร้อยละ 51 สำหรับคนไทย เพื่อให้มองดูว่าเป็นนิติบุคคลไทยนั้น ขณะที่กรมที่ดินพิจารณาแต่เพียงการถือหุ้นและจำนวนคนต่างด้าวที่ถือหุ้นเท่า นั้น
การให้บริการของ สำนักงานที่ปรึกษากฎหมายคือ การสร้าง "นอมินี" (nominee) โดยใช้ลูกจ้างของสำนักงานที่ปรึกษากฎหมาย หรือคนงานก่อสร้าง ซึ่งไม่มีบทบาทต่อการบริหารธุรกิจ และไม่ได้มีการลงทุนในทุนเรือนหุ้นถือหุ้นแทน
นอกจากนี้ยัง มีความแยบยลที่จะกำหนดสภาพของหุ้นที่คนต่างด้าวถือให้เป็น "หุ้นบุริมสิทธิ" ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1108 (4) และ 1142 โดยกำหนดสถานภาพของหุ้นบุริมสิทธิให้สามารถออกเสียง (voting right) ดีกว่าหุ้นธรรมดา เช่น 1 หุ้น มีสิทธิออกเสียงได้ 10 เสียง ในขณะที่คนไทยที่ถือหุ้นสามัญก็มีสิทธิออกเสียงเท่ากับจำนวนหุ้นสามัญนั้น ทำให้คนต่างด้าวมีสิทธิออกเสียงอย่างเบ็ดเสร็จในการดำเนินธุรกิจถึงร้อยละ 90
ทั้งๆ ที่ บริษัทเหล่านี้อยู่ในข่ายเป็น "คนต่างด้าว" และที่สำคัญบริษัทประเภทนี้ ซึงมีจำนวนหลายร้อยหลายพันบริษัท สามารถเข้ามาทำธุรกิจค้าที่ดิน ในประเทศไทย ได้อย่างเปิดเผย ทั้งๆ ที่เป็นการฝ่าฝืนพ.ร.บ.การประกอบธุรกิจคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 ซึ่งห้ามคนต่าวด้าวเข้ามาทำธุรกิจค้าที่ดินอย่างชัดเจน และเมื่อวิเคราะห์ ประกอบ ประมวลกฎหมายที่ดิน ฯ ยิ่งเห็นได้ชัดว่าประมวลกฎหมายที่ดินไม่เปิดช่องให้คนต่างด้าวเข้ามาครอบ ครองที่ดินเพื่อการพาณิชย์
ปัญหานี้ ดำรงอยู่อย่างยาวนานในสังคมไทย ขณะที่เจ้าหน้าที่ของรัฐก็รู้ปัญหาดีว่า บริษัทไทยเทียม เข้ามาทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ แต่ก็เอาหูไปนาเอาตาไปไร่ ไม่ดำเนินการใด ๆ เช่นเดียวกับรัฐบาลทุกยุคทุกสมัยที่ผ่านมาก็ทราบปัญหาดังกล่าวดี แต่ก็ไม่ได้ดำเนินการใดๆ คล้ายกับว่า รัฐบาลปิดตาเสียข้างหนึ่ง
ทั้งๆ ที่ตามหลักกฎหมายการแก้ปัญหาอาจทำได้โดยการแก้ไขกฎหมายเพื่อควบคุมสิทธิการ ออกเสียงของบริษัท เพิ่มเติมจากการควบคุมด้านทุน (49/51) อาจเป็นแนวทางที่แก้ปัญหาที่ถูกทางตามหลักนิติรัฐ และเอาเข้าจริง หลักการดังกล่าว ต่างประเทศ ต่างให้การยอมรับและบัญญัติเป็นกฎหมาย แต่ก็ปรากฎว่า ไม่มีรัฐบาลใดสนใจปัญหาไทยเทียม อย่างจริงจัง
ครั้งหลังสุดที่มีการหยิบปัญหานี้ขึ้นมาพิจารณา เกิดขึ้นในปี 2550- 2551 ช่วงรัฐบาลสุรยุทธ์ จุลานนท์ เมื่อมีการหยิบยกกรณีการขายหุ้น ชินคอร์ป ให้กับ กองทุนเทมาเส็ก 73,000 ล้าน โดยการเชิดบริษัทกุหลาบแก้ว ซึ่งเมื่อตรวจสอบโครงสร้างบริษัทแล้ว พบว่าสิทธิการออกเสียงของคนต่างด้าวสูงกว่าคนไทย แม้ว่า สัดส่วนการถือหุ้นของคนไทยจะมากกว่าคนต่างด้าวก็ตาม จากปัญหาดังกล่าวมีความพยายามแก้ไข พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 มาจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และในบรรดาร่างแก้ไขพ.ร.บ.การประกอบธุรกิจคนต่างด้าว ของ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ร่างกฎหมายฉบับหนึ่งที่ได้รับความสนใจมากที่สุดคือ ร่างพ.ร.บ.การประกอบธุรกิจคนต่างด้าว (ฉบับที่ ..) พ.ศ... ของนายสมชาย สกุลสุรรัตน์ และคณะ ( 1 มีนาคม 2550)
เจตนารมณ์ที่ปรากฏตามร่างกฎหมายฉบับนายสมชาย ระบุว่า ปัจจุบันมีคนต่างด้าวและผู้มีสัญชาติไทย หรือ นิติบุคคลที่มิใช่คนต่างด้าวเข้าร่วมลงทุนกับคนต่างด้าวเพื่อประกอบธุรกิจ ที่สงวนไว้ตามพ.ร.บ.การประกอบธุรกิจคนต่างด้าวฯ เป็นจำนวนมากโดยผู้มีสัญชาติไทยหรือนิติบุคคลที่มิใช่คนต่างด้าวตามพ .ร.บ.นี้ให้ความช่วยเหลือหรือสนับสนุนหรือร่วมประกอบธุรกิจของคนต่าวด้าว อันเป็นธุรกิจที่กำหนดไว้บัญชีท้ายพ.ร.บ. โดยคนต่างด้าวนั้น มิได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจดังกล่าว
ดังนั้นจึงสมควรที่จะได้มีการตรวจสอบที่มาของทุนและคุณสมบัติของบุคคล ดังกล่าวโดยเคร่งครัด ก่อนที่จะมีการออกใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจ อีกทั้งสมควรเพิ่มบทกำหนดโทษสำหรับความผิดของผู้สัญชาติไทย หรือ นิติบุคคลที่มิใช่คนต่างด้าวที่กระทำการให้คำปรึกษาแก่คนต่างด้าวเพื่อ ประกอบธุรกิจโดยจงใจหลีกเลี่ยงหรือฝ่าฝืนบทบัญญัติของกฎหมาย
แต่ที่สุด ร่างพ.ร.บ.การประกอบธุรกิจคนต่างด้าว (ฉบับที่ ..) พ.ศ... ของนายสมชาย สกุลสุรรัตน์ และคณะ ก็ไม่ผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
หลังจากรัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ จนมาถึงรัฐบาลปัจจุบัน นายอภิสิทธิ เวชชาชีวะ แทบไม่มีการหยิบยกเรื่องการแก้ไขพ.ร.บ.การประกอบธุรกิจคนต่างด้าวฯ ขึ้นมาพิจารณาอีกเลย รวมถึงปัญหาการที่คนต่างด้าวเข้ามาทำธุรกิจค้าที่ดิน ทุกวันนี้ปัญหายังไม่ได้รับการแก้ไข ในขณะที่ปัญหาในพื้นที่ก็ยังดำรงอยู่
เพราะรัฐบาลไทยทุกยุคทุกสมัย ไม่มีรัฐบาลใดมีความชัดเจนและเด็ดขาด เพราะด้านหนึ่งรัฐบาลต้องการเงินลงทุนจากต่างชาติ อีกด้านหนึ่งรัฐบาลก็อยากปรับปรุงกฎหมายให้เกิดความชัดเจน แต่ที่สุดแล้วก็ไม่ได้ทำอะไร นอกจาก เก็บเรื่องใส่ลิ้นชัก
จริงๆ แล้ว หากจะแก้ปัญหาให้ตรงประเด็น จะต้องแก้ไขปรับปรุง พ.ร.บ. การประกอบธุรกิจคนต่างด้าว ฯ และประมวลกฎหมายที่ดิน ดังนี้
1. แก้ไข เพิ่มเติมมาตรา 4 พ.ร.บ. การประกอบธุรกิจคนต่างด้าว ฯว่า ..ในกรณีเป็นนิติบุคคลซึ่งจดทะเบียนในประเทศไทย ให้รวมถึงกรณีที่คนต่างด้าวมีสิทธิออกเสียงลงคะแนนตั้งแต่ กึ่งหนึ่ง ของจำนวนคะแนนเสียงทั้งหมด ตามที่ปรากฏในรายการจำนวนหุ้นอันเป็นหุ้นชำระแล้วทั้งหมด ในหนังสือบริคณห์สนธิ ของนิติบุคคลนั้นด้วย ( แก้ไข เพิ่มเติมมาตรา 4 )
2 แก้ไขเพิ่มเติม ประมวลกฎหมายที่ดิน โดยแก้นิยาม บริษัทต่างด้าว ให้รวมถึง กรณีที่คนต่างด้าวมีสิทธิออกเสียงลงคะแนนตั้งแต่ กึ่งหนึ่ง ของจำนวนคะแนนเสียงทั้งหมด ตามที่ปรากฏในรายการจำนวนหุ้นอันเป็นหุ้นชำระแล้วทั้งหมด ในหนังสือบริคณห์สนธิ ของนิติบุคคลนั้นด้วย
3. รัฐบาลควรทบทวนบัญชีท้ายพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 ให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของโลกและเศรษฐกิจ
4. กรมพัฒนาธุรกิจ กระทรวงพาณิชย์ ควรเร่งตรวจสอบบริษัทที่เข้าข่ายไทยเทียม เพื่อให้เกิดความชัดเจนและเป็นธรรม ถ้ารัฐบาล ดำเนินการทั้ง 4 ประการ ทุกอย่างจะเกิดความชัดเจน
แต่เชื่อว่าที่สุดแล้ว รัฐบาล โอบามาร์ค จะนั่งเฉยๆ ไม่ทำอะไร .