สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

กังหันแคนนอนเพื่อการศึกษา

จาก โพสต์ทูเดย์
รายงานโดย :เรื่อง ชายโย:


เด็กนักเรียนใน ชนบทที่ห่างไกลมักขาดโอกาสทางการศึกษา แต่หากพวกเขาขาดพลังงานซึ่งกลายเป็นสิ่งจำเป็นในยุคปัจจุบันนี้ล่ะ พวกเขาจะทำอย่างไร

“แค่ หมาฉี่รดเสาไฟก็ดับแล้ว” คำพูดนี้คงไม่ไกลเกินความจริงนักสำหรับพื้นที่ที่ อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี ห่างจากชายแดนไทย-พม่า ด่านเจดีย์สามองค์ไม่ถึง 5 กิโลเมตร

ที่แห่งนี้ประสบปัญหาไฟตก ไฟกระชาก และดับบ่อย หากวันไหนไฟดับ เท่ากับว่าเด็กๆ ในโรงเรียนจะไม่มีไฟฟ้าใช้ แต่ ณ วันนี้ถ้ามีโอกาสแวะเวียนไปที่ด่านเจดีย์สามองค์ คุณอาจได้เห็นกังหันลมผลิตกระแสไฟฟ้าสีขาวตั้งอยู่ท่ามกลางขุนเขาและธงชาติ ไทย ในโรงเรียนบ้านซองกาเรีย กังหันนี้มาจากไหน เขาเอาเสาธงชาติเก่ามาทำเป็นกังหันลมหรือเปล่า เรื่องนี้ย่อมมีคำตอบ

ปรัชญาเคียวเซ

ทุกอย่างเริ่มต้นจากคำว่าเคียวเซ คำคำนี้ไม่ใช่ภาษาพม่าหรือศัพท์สแลงของเคียวเกี่ยวข้าวแล้วเซไปเซมา เคียวเซ (Kyose) เป็นคำปรัชญาของญี่ปุ่นที่ บริษัท แคนนอน มาร์เก็ตติ้ง (ไทยแลนด์) ให้ความหมายถึงการพัฒนาและเติบโตอย่างมั่นคงไปพร้อมๆ กับการสร้างสรรค์โลกและความสุขของมวลมนุษย์ ดังนั้นการเสริมสร้างจิตสำนึก และเป็นส่วนหนึ่งที่นำร่องการใช้พลังงานทดแทนช่วยเหลือชุมชนต่างๆ จึงเป็นหนึ่งในสิ่งที่อยู่ในปรัชญาเคียวเซเช่นกัน

“ทุกอย่างเริ่มจากที่เราต้องการทำกิจกรรมเพื่อตอบแทนสังคมที่ไม่ เหมือนใคร ปลูกป่า ให้ทุนการศึกษา และอื่นๆ ที่เคยได้ยินมาสิ่งเหล่านี้พวกเราทำมาหมดแล้ว แต่ในกระแสสิ่งแวดล้อมเรื่องการอนุรักษ์พลังงาน การสรรหาพลังงานทดแทนทุกวันนี้ เราจึงคิดสร้างกังหันลมผลิตกระแสไฟฟ้าให้กับโรงเรียนต่างๆ ที่ห่างไกลความเจริญ ในพื้นที่ที่การศึกษาเข้าไปไม่ถึง ควบคู่ไปกับการสร้างหรือปรับปรุงห้องสมุดของโรงเรียนให้เป็นแหล่งความรู้ของ เด็กๆ อย่างสมบูรณ์แบบ

จนเป็นที่มาของโครงการ “ห้องสมุดพลังงานสีขาว โดยแคนนอน” ซึ่งกังหันลมนี้จะช่วยป้อนกระแสไฟฟ้าเข้าสู่ห้องสมุดของโรงเรียน ช่วยลดภาระค่าไฟฟ้าได้ปีละหลายพันบาท และเด็กๆยังสามารถนำกังหันลมนี้ไปต่อยอดศึกษาความรู้เรื่องพลังงานทดแทนได้ อีกด้วย” สมเกียรติ พาผล ผู้อำนวยการฝ่าย Corporate Affairs แคนนอน เล่าถึงที่มาที่ไปของโครงการห้องสมุดพลังงานสีขาว โดยแคนนอน

กังหันลม 15 แห่ง

โครงการนี้มีโรงเรียนที่ได้รับการติดตั้งทั้งหมด 15 แห่ง ได้แก่ โรงเรียนไทยรัฐวิทยา 70 จ.สมุทรสาคร โรงเรียนเทศบาล 8 สวนสน ชะอำ จ.เพชรบุรี โรงเรียนบ้านหนองพลับ จ.ประจวบคีรีขันธ์ โรงเรียนชุมชนวัดเชิงแส จ.สงขลา โรงเรียนบ้านควรสระ จ.สุราษฎร์ธานี โรงเรียนบ้านทุ่งคาโตนด จ.ชุมพร โรงเรียนบ้านซองกาเรีย สาขาด่านพระเจดีย์สามองค์ จ.กาญจนบุรี โรงเรียนบ้านเขาทอง จ.จันทบุรี โรงเรียนบ้านวังกวาง จ.ปราจีนบุรี โรงเรียนบ้านไทยเจริญ จ.ยโสธร โรงเรียนบ้านนาล้อม จ.อุดรธานี โรงเรียนบ้านบะใหญ่ จ.นครราชสีมา ภาคเหนือ โรงเรียนบ้านวังธาร จ.สุโขทัย โรงเรียนบ้านใหม่ชัยเจริญ จ.พิษณุโลก และโรงเรียนบ้านสองพี่น้อง จ.เชียงราย

โรงเรียนทั้ง 15 แห่งนี้ แคนนอนเริ่มจากการขอข้อมูลจากหน่วยงานภาครัฐ เรื่องทิศทางและความเร็วกระแสลมในแต่ละพื้นที่ของประเทศไทย ว่ามีพื้นที่ไหนเหมาะสมในการติดตั้งกังหันลมผลิตกระแสไฟฟ้าบ้าง

ต่อมาต้องเป็นโรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่สีแดง คือโรงเรียนที่ขาดแคลนและต้องการความช่วยเหลือ ลงพื้นที่สำรวจจริงจนได้เป็นโรงเรียนทั้งหมด 15 แห่งทั่วประเทศที่ควรได้รับความช่วยเหลือ และตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีลมแรงตลอดปี

กังหันลมของแคนนอนมีความสูงราวๆ 5 เมตร ประมาณตึก 2-3 ชั้น วัสดุทุกชิ้นผลิตเองในประเทศไทย ออกแบบและสร้างโดย คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี

จุดที่ตั้งของกังหันลมจะต้องอยู่ในบริเวณที่ติดตั้งต้องมีแรงลมให้ ความเร็วเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 2.5 เมตร/วินาที เฉลี่ย 20 ชั่วโมงต่อวัน จึงสามารถผลิตไฟฟ้าได้ประมาณ 200 วัตต์ต่อชั่วโมง สามารถลดค่าไฟได้วันละ 4 ยูนิต ส่วนกระแสไฟที่เกินความต้องการจะนำไปเก็บไว้ในแบตเตอรี่ยามไฟดับ หากเกินกว่านั้นกระแสไฟจะถูกเปลี่ยนเป็นพลังงานความร้อนในขดลวดแทน ซึ่งยังหาทางนำพลังงานที่เกินนี้มาใช้ประโยชน์ต่อไป

ส่วนหนังสือต่างๆ ในห้องสมุด สมเกียรติ บอกว่าได้มาจากความร่วมมือของพนักงานทั้งบริษัทช่วยกันบริจาคหนังสือคัดแยก ให้แต่ละโรงเรียน รายได้ส่วนหนึ่งได้มาจากการขายของที่ระลึก ของพรีเมียมของทางแคนนอนแล้วนำมาใช้เป็นทุนในการซื้อหนังสือเข้าห้องสมุด

“นับเป็นเรื่องดีที่แคนนอนได้ให้ความสำคัญในการรักษาสิ่งแวดล้อม ด้วยการให้พลังงานทางเลือกที่ใช้ได้ตลอดปี ควบคู่ไปกับการสร้างห้องสมุดโรงเรียนใหม่ คาดว่าที่โรงเรียนบ้านซองกาเรียเอง กังหันลมตัวนี้จะช่วยลดค่าไฟให้โรงเรียนได้ประมาณ 4,000-5,000 บาทต่อเดือน ซึ่งเราสามารถใช้กังหันลมตัวนี้สร้างความสนใจของนักเรียนเรื่องพลังงานทาง เลือกและการรักษาสิ่งแวดล้อมในอนาคตได้อีกด้วย” ประเสริฐ ด้วงสงค์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านซองกาเรีย กล่าวแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับกังหันลม

หลังจากนี้กังหันลมเพียงหนึ่งตัว จะกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการหันมาใช้พลังงานทดแทนระดับท้องถิ่น สร้างจิตสำนึกให้กับเด็กนักเรียนควบคู่ไปกับการให้การศึกษา งานนี้แคนนอนยิงกระสุนนัดเดียวได้นกถึง 3 ตัว ก็นับว่าคุ้มค่ากับงบประมาณราวๆ 5 แสนบาทต่อกังหัน 1 ตัว ที่ช่วยสร้างโลก สร้างเยาวชน รักษ์สิ่งแวดล้อมให้ยั่งยืน

view