จาก โพสต์ทูเดย์
รายงานโดย :ดวงใจ จิตต์มงคล: |
นับ แต่ก่อตั้งบริษัท เจริญโภคภัณฑ์ ฟู้ดส์ (โอเวอร์ซีส์) ในปี 2549 เพื่อดำเนินธุรกิจผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์เพื่อการเกษตร ปศุสัตว์ ในต่างประเทศ โดยประเดิมตลาดแรกๆ ในรัสเซีย ก่อนขยายไปยังประเทศใหม่ๆ ในเวลาต่อมา ตามด้วยการก่อตั้งบริษัท ซีพีเอฟ ในประเทศลาว และการเข้าซื้อกิจการจากเจ้าของเดิมในประเทศมาเลเซีย ด้วยการไปถือหุ้น 100% ในปีเดียวกัน
แนวทางดังกล่าวนับเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจกระดานใหม่ของเจ้าสัว ธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานกรรมการและประธานคณะ ผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ ที่วางหมาก ไว้ก่อนไปสู่การขยายธุรกิจอาหารในช่องทางค้าปลีกภายใต้ผลิตภัณฑ์แบรนด์ซีพี (CP) เพื่อเจาะตลาดอาหารช่องทางค้าปลีกทั่วโลกในอนาคต
พิสิฐ โอมพรนุวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการบริหาร ซีพีเอฟ กล่าวถึงภาพรวมธุรกิจแบรนด์ซีพีในต่างประเทศ แบ่งออกเป็น 3 ธุรกิจหลัก คือ 1.ธุรกิจค้าปลีก 2.ธุรกิจบริการร้านอาหารภัตตาคาร และ 3.ธุรกิจบริการจัดเลี้ยง
และอีกหนึ่งตลาดต่างประเทศที่ซีพีเอฟเล็งเห็นโอกาสบนวิกฤตในขณะนี้ คือ เขตปกครองพิเศษ “ฮ่องกง” ด้วยเห็นว่ามีความสำคัญต่อการทำตลาดสินค้าแบรนด์ “ซีพี” โดยนับตั้งแต่ปี 2550 ที่บริษัทเข้ามาดำเนินธุรกิจในฮ่องกง เริ่มต้นด้วยยอดขายเพียง 80 ล้านบาท จนมีอัตราการเติบโตแบบก้าวกระโดดในปีต่อมาด้วยยอดขายกว่า 180 ล้านบาท
สินค้าบุกเบิกในการทำตลาดที่ฮ่องกงของซีพีเอฟนั้น มาในรูปแบบของไก่แช่แข็งแบรนด์ซีพี พร้อมวางยุทธศาสตร์สินค้าด้วยการเจาะช่องทางค้าปลีก ผ่านซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านค้าสะดวกซื้อ ภายใต้สายสัมพันธ์ทางธุรกิจอันดีที่ซีพีได้สั่งสมมา
จากการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ยังมีทิศทางเติบโตต่อเนื่อง ทำให้ซีพีเอฟเห็นว่าฮ่องกงเป็นตลาดที่มีศักยภาพสูง ปีนี้วางเป้ายอดขายราว 370 ล้านบาท และในปี 2553 จะมียอดขายเติบโตพุ่งกว่า 3 เท่า หรือมีรายได้รวมไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท
ขณะที่ภาพรวมผลิตภัณฑ์แบรนด์ซีพี ในตลาดต่างประเทศคาดจะมีรายได้ในปีนี้กว่า 3,400 ล้านบาท พร้อมแผนระยะยาวในอีก 5 ปีนับจากนี้จะมียอดขายสูงถึง 1 หมื่นล้านบาทแน่นอน
นอกจากนี้ ซีพีเอฟ โอเวอร์ซีส์ ยังมองหาโอกาสการขยายตลาดใหม่ๆ ต่อเนื่อง เช่น ออสเตรเลีย และแคนาดา
พิสิฐ กล่าวว่า บริษัทต้องเริ่มลงมือสร้างแบรนด์ “ซีพี” ให้แข็งแกร่งต่อการเข้าสู่ตลาดค้าปลีกในอนาคต เพื่อรองรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตหรือคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะในตลาดฮ่องกงที่สะท้อนวิถีชีวิตสมัยใหม่ได้เป็นอย่างดี ด้วยการใช้ชีวิตที่เร่งรีบ ทุ่มเทการทำงานกลับบ้านดึก ซึ่งบ้านในนิยามของคนฮ่องกงส่วนใหญ่กว่า 90% จะอาศัยในห้องพักหรือคอนโดมิเนียมห้องชุด
ดังนั้น ห้องครัวส่วนใหญ่ของคนฮ่องกงในปัจจุบันมักเป็นพื้นที่เพื่อการปรุงอาหารแบบ รวดเร็ว เช่น หุง ต้ม หรือประกอบอาหารด้วยเตาอบไมโครเวฟ
ทั้งหมดจึงเป็นโอกาสในการเข้าไปทำตลาดอาหารสำเร็จรูปพร้อมรับ ประทานและพร้อมปรุงแช่แข็ง แบรนด์ซีพีแบบครบทุกมื้อ รวมถึงตลาดอาหารว่างหรือสแน็กด้วยเมนูต่างๆ ของซีพี เพื่อให้บริการแก่ ผู้บริโภคระหว่างมื้อ ซึ่งถือเป็นวิชันของเจ้าสัวธนินท์ ที่มองให้กับแบรนด์ซีพีในอนาคต
ขณะเดียวกัน กลุ่มสินค้าดังกล่าวยังเป็นสินค้าที่เป็นโอกาสในวิกฤตในขณะนี้ เพราะผู้บริโภคส่วนใหญ่มักชะลอการจับจ่ายและงดการรับประทานอาหารนอกบ้าน แต่หันมาซื้ออาหารพร้อมรับประทานหรือพร้อมปรุงเพื่อนำไปรับประทานที่บ้าน มากกว่า
“ตอนนี้คนประหยัดและหันไปซื้ออาหารมากินกันในบ้านมากขึ้น ซึ่ง ในอนาคตก็มีความเป็นไปได้ว่าจะออกแบรนด์ใหม่มาทำตลาดแข่งขันด้วยในอนาคต โดยในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา บริษัทใช้งบราว 8% ของยอดขายเพื่อทำตลาดและสร้างแบรนด์ซีพี ใช้ไปแล้วกว่า 250 ล้านบาท บริษัทจะมุ่งจัดโรดโชว์สินค้าและมุ่งการจัดกิจกรรมไม่ผ่านสื่อเป็นหลักกว่า 70-80%” พิสิฐ กล่าว
ส่องตลาดฮ่องกง
เขตปกครองพิเศษฮ่องกง ตั้งอยู่ที่ฝั่งทะเลภาคตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศจีน ซึ่งอยู่ทางตะวันออกของปากแม่น้ำจูเจียง และติดกับเมืองเสิ่นเจิ้นของมณฑลกวางตุ้ง มีพื้นที่ 1,092 ตางรางกิโลเมตร โดยปัจจุบันฮ่องกงมีประชากรราว 7 ล้านคน ยังไม่นับจำนวนนักท่องเที่ยวที่หมุนเวียนเข้ามาในเกาะแห่งนี้เฉลี่ย 2030 ล้านคนต่อปี พร้อมพ่วงตำแหน่งเมืองศูนย์กลางด้านการเงิน การค้า การขนส่งทางเรือ การแลกเปลี่ยนสินค้า และการท่องเที่ยว ที่สำคัญของประเทศจีน
สุธา ด่านเสริมสุข ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ซี.พี.เมอร์แชนไดซิ่ง บริษัทลูกซีพีเอฟ เพื่อดำเนินธุรกิจในฮ่องกง อธิบายโครงสร้างธุรกิจบริษัทแบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย คือ
1.ฝ่ายขาย ซึ่งจะทำงานร่วมกับช่องทางค้าปลีก ที่ปัจจุบันสินค้าแบรนด์ซีพี ทำตลาดผ่านซูเปอร์มาร์เก็ตแบรนด์ Taste และ SOKO ครอบคลุมแล้ว 100% และ 2.หน่วยธุรกิจฟู้ดเซอร์วิส ส่วนหน่วยงานด้านการตลาดจะใช้ส่วนกลางจากประเทศไทย
สำหรับกลยุทธ์หลักในการทำตลาดที่นี่ จะเลือกพันธมิตรท้องถิ่นที่มีความแข็งแกร่ง โดยปัจจุบันบริษัทเลือกใช้บริษัทตัวแทนกระจายสินค้า (ดิสทริบิวเตอร์) จำนวน 3 ราย เพื่อทำตลาดสินค้าทั้ง 3 กลุ่มสำคัญ คือ ผลิตภัณฑ์ไข่ไก่ซีพี ผลิตภัณฑ์อาหารโฟรเซน และผลิตภัณฑ์นมซีพีเมจิ
ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ไข่ไก่สดผ่านช่องทางรีเทลหรือซูเปอร์มาร์เก็ตในฮ่องกง มีมูลค่าตลาดรวมราว 1,200 ล้านบาท แบรนด์ซีพีครองส่วนแบ่งตลาดกว่า 1518% คาดสิ้นปีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มเป็น 3032% และเป็นอันดับ 2 ส่วนอันดับ 1 คือ แบรนด์ออการ์นิก ประเทศนิวซีแลนด์