จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
โดย : ทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะ
นอกจาก กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ สวมผ้าปิดปาก วิธีสู้กับไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ที่ชะงัดอีกอย่าง คือบอกลาโรคอ้วน ตัวป่วนที่มากับฟาสต์ฟู้ด
โดยไม่ต้องจ้ำชี้จ้ำไช...รู้กันอยู่แล้วว่า อาหารจานด่วนหรือฟาสต์ฟู้ดนั้น กินมากๆ "อ้วน"
เช่นเดียวกับที่รู้กันอยู่แล้วว่า "ภาวะอ้วน" เป็นปัจจัยเสี่ยงอันดับต้นๆ ที่ทำให้ผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 เกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงและเสียชีวิตได้
หรือบางคนอาจรู้มาว่า ไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่ 2009 นั้น อาจกำลังอยู่ในช่วง "ขาลง" และมีความเป็นไปได้ว่ากำลังเดินตามรอย ไข้หวัดสเปน (1918) ซึ่งขณะนั้นเป็นไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่และระบาดรวดเร็วเหมือนกัน โดยระลอกแรกมีผู้เสียชีวิตไปร้อยละ 5 จากนั้นทิ้งช่วงไป 2 เดือน ถึง 1 ปี ก่อนจะเข้าสู่ช่วง "ขาขึ้น" คราวนั้นพรากคนเป็นๆ ไปถึง 60-80 เปอร์เซ็นต์
ถ้าจำกันได้ เมื่อปลายเดือนที่แล้ว องค์การอนามัยโลกออกมาเผยว่า การแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ทั่วโลกในขณะนี้ยังอยู่ในระยะเริ่มแรก...
และต้นเดือนที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุข แถลงว่าสถานการณ์ไข้หวัดใหญ่ฯ มีแนวโน้มชะลอตัว ภายใน 1 สัปดาห์มีผู้เสียชีวิตเพียง 16 ราย และส่วนใหญ่ยังคงเป็นคนอ้วนและมีโรคประจำตัว
"ทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่า สาเหตุของโรคอ้วน นอกจากพฤติกรรมขาดการออกกำลังกายแล้วอาหารก็เป็นสาเหตุสำคัญ โดยเฉพาะอาหารที่มีไขมัน น้ำตาลและเกลือสูง ซึ่งพบในขนมกรุบกรอบ น้ำอัดลม และอาหารขยะ"
เอื้อเฟื้อข้อมูลจาก รศ.ดร.วิทยา กุลสมบูรณ์ ผู้ จัดการแผนงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่เข้าร่วมประชุม "การเสริมความเข้มแข็งขององค์กรภาคีในการบูรณาการการป้องกันและควบคุมโรคไม่ ติดต่อ" ขององค์การอนามัยโลกภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เมื่อเดือนมิถุนายนที่ ผ่านมา
อาจพอสรุปได้ว่าต้นทางของ ไข้หวัดใหญ่ 2009 คือ โรคอ้วน แล้วต้นทางของโรคอ้วน ส่วนหนึ่งมาจากอาหารขยะ แล้วต้นทางของอาหารขยะล่ะ มาจากไหน...
...ถ้าไม่ใช่ (ตามใจปาก) ตัวเอง
ฟาสต์ฟู้ดมาเนีย
อาการแพ้ "ชุดสุดคุ้ม (Supersize)" อาจเป็นกับบางคน แต่สำหรับผู้ชายในแวดวงไอทีอย่าง ชัยยศ (สงวนนามสกุล) บอกเหตุผลสั้นๆ ง่ายๆ ว่า "กินตามลูก"
7 ปีก่อนด้วยวัยสามสิบปลายๆ ลูกสาวตอนนั้นกำลังน่ารัก และก็เป็นธรรมดาที่เด็กวัยสี่ห้าขวบอยากกิน "ไก่ทอด" กรอบๆ นุ่มๆ ที่บ้านก็พาไปห้างสรรพสินค้าอยู่แล้วสัปดาห์ละ 1 ครั้ง คนเป็นพ่อเองเห็นว่าในร้านผู้พันหนวดขาวมีของเล่น สั่งอาหารทีไม่ต้องรอนาน และที่บ้านไม่ค่อยทำกับข้าวกินเอง จึงเป็นที่มาของ "เมนูประจำ"
"คนละชุดครับ ไก่คนละ 2 ชิ้น อร่อยเพราะเขาปรับรสชาติให้เข้ากับลิ้นคนไทย" พ่อแม่ลูกกินติดต่อกันแบบนี้ 6 ปี อาทิตย์ละประมาณ 2 ครั้ง
ทำให้ผู้ชายร่างสูง 168 ซม. ที่เคยหนัก 68 กก. เขยิบไปเป็น 80 กก.เศษ ภายใน 3-4 ปี สถิติสูงสุดอยู่ที่ 93 กก.
ชัยยศออกตัวว่าไม่ถึงกับชอบ แต่เพราะเล่นเวทเป็นประจำ ยิ่งเล่นจึงต้องยิ่งกินเพื่อเพิ่มกล้ามเนื้อ ควบคู่ไปกับการเป็นสิงห์อมควัน
"เมื่อนิโคตินเข้าไปในกระแสเลือด จะจับไขมันที่อิ่มตัวได้ง่าย ทำให้หลอดเลือดตีบ ความดันสูง บวกกับนิสัยไม่ค่อยใส่ใจสุขภาพ ประมาท ชอบอะไรง่ายๆ สะดวกๆ ฟาสต์ฟู้ดเลยเข้าทาง" นานๆ ชัยยศถึงจะเดินตลาดสักครั้ง แต่กับห้าง...นับไม่ถ้วน
เป็นแฟนคลับไก่ทอดอย่างเหนียวแน่นเช่นนี้ คุณพ่อลูกหนึ่งจึงได้ของของฟรีมาเพียบ
"แน่นหน้าอก เหนื่อยๆ จุกตรงลิ้นปี่ แต่ไม่เกิน 1 นาทีก็หาย เลยหยุดออกกำลังกาย น้ำหนักเลยขึ้นพรวด แต่ยังกินปกติ อาการเลยแย่ลงเรื่อยๆ"
จนวันนั้น...ลอยกระทง พ.ศ.2549 ที่น้ำตกกระทิง เขาคิชกูด
"ไปถ่ายรูปนก เดินไปถึงชั้น 4 เหนื่อยมาก (ลากเสียงยาว) นั่งพัก 20 นาทีไม่หาย จุกตรงลิ้นปี่ เลยเดินกลับลงมา กินน้ำก็ไม่หาย จน 2 ชั่วโมงผ่านไป ก็ยังเหนื่อย มือขาชา เลือดไปไม่ถึงปลายประสาทแล้ว หายใจไม่ค่อยออก ต้องเรียกรถพยาบาล แต่กลับได้รถปอเต๊กตึ๊งไปส่ง" คนเล่าไม่วายหยอดมุข
หนักหนาถึงขนาดต้องปั๊มหัวใจ แต่ในใจตอนนั้นคิดไปไกลแล้วว่า "คงทำบุญมาแค่นี้ ไม่รอดแน่ๆ"
เมื่อถึงมือหมอ ชัยยศมีโอกาสลืมตาตื่นในเช้าวันถัดมาแต่ก็มีอาการน้ำท่วมปอดจากการดื่มน้ำเข้าไปมาก
"หมอบอกว่า 10 คนจะรอดซัก 2 คน" โชคดีที่ชัยยศเป็นหนึ่งในนั้น แต่ชัยยศก็ต้องผ่านการทำบอลลูน ขยายหลอดเลือด ซึ่งทางกายภาพ หลอดเลือดของเขายังตีบอยู่ และถ้ายังไม่เปลี่ยนพฤติกรรม หลอดเลือดที่ตีบอยู่แล้วก็จะตีบลงไปอีก
ชีวิตหลังวิกฤติจึงต้องเปลี่ยนใหม่หมด เพราะหมอบอกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ อยู่ที่พฤติกรรมการกิน เน้นไปที่ "อาหารคุณภาพดี" และอีกครึ่งคือการออกกำลังกาย
จากวันนั้น ไม่มีใครได้เห็นชัยยศในร้านอาหารจานด่วนอีก ยกเว้นไปนั่งเป็นเพื่อนลูกในความถี่ชนิดนานๆ ที ห้างที่เคยตบทรัพย์ได้ทุกอาทิตย์ ก็ต้องแห้วเพราะเจ้าตัวเบนเข็มไปตลาดนัดแทน ลด ละ เลิกของผัด ของทอด แล้วหันมาเป็นสาวกแกงป่า แกงเลียง แกงส้ม และน้ำพริก แต่ส่วนใหญ่จะซื้อมาทำกินเองที่บ้าน ควบคู่ไปกับการออกกำลังกายแบบไม่หักโหม
...ส่วนของเคยโปรด
"ไม่กล้าแล้ว ผมถือว่าถูกหวยไปแล้ว" เขาหมายถึงชีวิตที่รอดมาได้จนถึงวัย 43
แต่กับสาววัย 28 คนนี้ ยังยืนยันว่าจะกินฟาสต์ฟู้ดต่อไป เพราะเธอชอบ ชนิดกินทุกวันแทนข้าวเลยก็ได้
เป้ (สงวนชื่อจริง) คือแฟนพันธุ์แท้ เฟรนช์ฟรายส์ และ แฮมเบอร์เกอร์ เจาะจงเป็นพิเศษก็ร้านแดงๆ เหลืองๆ
เหตุผลเริ่มต้นไม่ต่างจากชัยยศคือชอบอะไรง่ายๆ สะดวก แต่พิเศษกว่าตรงไม่ชอบกินผัก
แต่พอซักไซ้ให้เผย "ความชอบ" แบบสุดๆ นั้น เจ้าตัวกลับอธิบายไม่ได้
"มันไม่เบื่อจริงๆ กินได้ทุกวัน สั่งมาที่ออฟฟิศ ร้อนๆ กินได้เลย มันชอบอะค่ะ" เป้ฟันธงว่าน่าจะเป็นความรู้สึก
จริงๆ แล้วเป้ทำงานในแวดวงสุขภาพ ได้รับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับอันตรายของ "จานโปรด" มาก็มาก แต่สาวที่มากับความสูง 160 ซม.น้ำหนัก 45 กก.กลับไม่รู้สึกกลัว เธอยอมรับตรงๆ ว่า อาจเพราะที่ผ่านมาไม่ป่วย ไม่แม้แต่มีสัญญาณใดๆ
"เคยไปตรวจเลือด ก็มีแนวโน้มไขมันสูง แต่ก็ยังไม่เชื่อ เพราะไม่มีอาการอะไรเลย คิดอีกนะว่า โรงพยาบาลเขาอยากขายของให้เรา"
ถึงบรรทัดนี้ หลายคนอาจตั้งแง่กับเป้ไปแล้ว แต่บางทีเรื่องบางเรื่อง ความรู้สึกก็สำคัญกว่าเหตุผล
"มันสบาย มีความสุข แค่เข้าร้านก็รู้สึกดีแล้ว ไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อนด้วย" เป้จึงยืนยันว่า ไม่คิดที่จะเลิกกิน แล้วอีกอย่าง...
"ทุกวันนี้ข้อมูลร้ายๆ มันเยอะมาก จนเราชินกับมันไปแล้ว" เป้ทิ้งไว้ให้คิด
รู้ทัน 'จานด่วน'
แต่อย่างน้อย การมีข้อมูล(ร้าย) เยอะๆ ก็ยังดีกว่าไม่รู้อะไรเลย เช่น
- เด็กอ้วนทะลุ 22 ล้านคนทั่วโลก จำนวนนี้อายุต่ำกว่า 5 ปี
- เด็กไทย 10 เปอร์เซ็นต์น้ำหนักเกิน และ อีก 5 เปอร์เซ็นต์เป็นโรคอ้วน (หรือภาวะน้ำหนักเกินขั้นรุนแรง)
- ไม่ว่าเศรษฐกิจเฟื่องหรือฟุบ ธุรกิจอาหารฟาสต์ฟู้ด เติบโตในระดับเลข 2 หลัก (10-12 เปอร์เซ็นต์) มาโดยตลอด
ข้อมูลชุดนี้ มาจาก นพ.ทักษพล ธรรมรังสี นักวิจัยสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุข ที่เผยอีกว่า นอกจากปัจจัยส่วนตัวอย่างพันธุกรรม และ สิ่งแวดล้อมแล้ว ปัจจัยสำคัญกว่าที่ทำให้เกิดปัญหาข้างต้นคือ พฤติกรรมการกินและการใช้พลังงาน
...ซึ่งมีผู้ชักใยอยู่เบื้องหลัง ในนามของคำว่าโฆษณาและการตลาด
"ตลาดบ้านเรา ค่อนข้างเปิดในการทำการตลาดในรูปแบบมาตรฐาน เช่น การโฆษณาในสื่อต่างๆ จนตอนนี้ เด็กเล็ก - 5 ปี 24 เปอร์เซ็นต์ ดื่มน้ำอัดลมทุกวัน"
คุณหมอคนเดิมยังค้นพบอีกว่า กลยุทธ์การตลาดของอาหารจานด่วน นอกจากจะเน้นความคุ้ม (ที่คนไทยแพ้ทาง) แล้ว ยังชอบสื่อมาในภาพลักษณ์ที่ค่อนข้างสดใส สดชื่น รื่นเริง
นั่นเป็นการสื่อสารระดับแมส แต่ในประเภทเฉพาะกลุ่ม เช่น แวดวงวิชาการ กลุ่มธุรกิจพยายามแทรกแซงเข้าไปมีบทบาทแบบซึมลึก
"เขาจะโดนโจมตีเรื่องทำให้คนอ้วน เลยหันมาให้การสนับสนุนงบประมาณด้านวิชาการ คัดเลือกนักวิชาการ (หัวอ่อน) มาทำงานด้วย เพื่อผลิตงานมาซักค้าน เน้นทำโปรเจคท์ง่ายๆ เช่น ข้อมูลสนับสนุนแคมเปญออกกำลังกายดีกว่าควบคุมอาหาร หรือสอนวิธีกินดี ควบคู่กับการบอกว่า การควบคุมอาหารนั้นไม่ได้ผล"
หรือออกมาในรูปแบบการจัดประชุมวิชาการต่างๆ ภายในคือการระดมความรู้เพื่อเผยแพร่ หากลึกๆ แล้วคือการพบปะ และปรับวิธีคิดและซื้อใจนักวิชาการ ซึ่งบ่อยครั้งนำไปสู่ข้อเสนอที่แฮปปี้ทั้งฝ่ายวิชาการและอุตสาหกรรมอาหาร
"เช่น รัฐบาลต้องเป็นฝ่ายให้ความรู้เรื่องอาหารการกินแก่ผู้ปกครอง ซึ่งนั่นเท่ากับฟรีตัวเองเลย เพราะถ้าปัญหาเกิดขึ้น ก็เป็นความผิดของผู้ปกครองต่างหากที่ไม่ดูแล"
นพ.ทักษพล ย้ำว่า ถ้าเป็นนักวิชาการผู้ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนใดๆ จะต้องออกมาบอกว่า วิธีการจัดการกับปัญหkโรคอ้วนที่ดีที่สุดคือ ห้ามโฆษณา
...และตระหนักเสมอว่า อ้วนป่วน (หลาย) โรค
* จังก์ฟู้ด ของเดช บุลสุข
ครั้งหนึ่ง เดช บุลสุข ผู้ก่อตั้ง บริษัท แมคไทย จำกัด เคยบอกว่า เมนูยอดนิยมของร้านแมคโดนัลด์ คือ ซามูไรเบอร์เกอร์ ไก่ทอด แมคไก่ เฟรนช์ฟรายส์ และ ไอศกครีมโคน
และเดช ยังเคยตั้งคำถามย้อนข้อหาที่ถูกยัดเยียดด้วยว่า "เอาเข้าจริงๆ แล้วมีใครรู้หรือไม่ว่า จังก์ฟู้ด คืออะไร"
"คิดขึ้นมาเพื่อเรียกกันเท่ๆ แค่นั้นเอง ลองดูให้ชัดๆ เลย เลือกอาหารสักตัวมาวิเคราะห์กันก็ได้ บิ๊กแมคก็แล้วกัน คุณรู้ไหมว่าขนมปังที่แมคโดนัลด์ใหม่และสด ส่งตรงจากโรงงาน(ฟาร์มเฮาส์)ทุกวัน เสปคส่วนผสมของขนมปังสูงเท่ากันหรือสูงกว่าตามโรงแรมหลายแห่ง และตรวจสอบคุณภาพอย่างสม่ำเสมอ ผักที่ใช้ก็เป็นผักกาดแก้วจากเชียงใหม่ เนื้อระดับมาตรฐานร้อยเปอร์เซ็นต์ ซอสทำจากโรงงานไทยคิวพี แล้วตกลงตรงไหนในบิ๊กแมคที่เรียกว่าจังก์" (บางส่วนจากหนังสือเสียงแห่งทศวรรษ ของ วรพจน์ พันธุ์พงศ์)
* ยิ่งเร็ว ยิ่งถูก
นพ.ทักษพล จากสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ศึกษาเปรียบเทียบ กลุ่มอาหารให้พลังงานสูงกับพลังงานต่ำกว่า เช่น น้ำอัดลมกับน้ำผลไม้ ,แฮมเบอร์เกอร์ มันฝรั่งทอด กับก๋วยเตี๋ยว ข้าวผัด
เขาพบว่า กลุ่มแรก มีราคาถูกลงเรื่อยๆ เมื่อเทียบกลุ่มหลังที่ราคาค่อนข้างคงที่ หรือหดตัวลงเล็กน้อยในบางชนิด
"ปี 1994 คนไทยทำงาน 1.2 ชั่วโมง ถึงจะได้กินแฮมเบอร์เกอร์ 1 ชิ้น แต่ปี 2008 พบว่าคนไทยทำงานแค่ 0.8 ชั่วโมง ก็ได้แฮมเบอร์เกอร์ 1 ชิ้นแล้ว" คุณหมอคิดตามอัตราเงินเฟ้อ ไม่ใช่ตัวเลขหรือราคา โดยเปรียบเทียบกับค่าแรงขั้นต่ำ
อีกสิ่งหนึ่งที่พึงระวัง คือ มันฝรั่งทอดรถเข็นตามหน้าโรงเรียน เด็กๆ กินกันเยอะมาก
"ไม่ว่าจะมีแบรนด์หรือไม่มีแบรนด์ ขณะนี้ก็มีเด็กไทยถึง 14 เปอร์เซ็นต์ที่กินฟาสต์ฟู้ดทุกวันแล้ว"