สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

รัฐจัดประชาคมร่างระเบียบโฉนดชุมชน

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์



รัฐจัดประชาคมร่างระเบียบโฉนดชุมชน เล็งชงครม.เดือน ก.ย.นี้-เน้นคนมีส่วนร่วม มั่นใจไม่ซ้ำรอย ส.ป.ก.4-01

คุณ หญิงสุพัตรา มาศดิตถ์ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า วันนี้ (18 ส.ค.) นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี จะเป็นประธานจัดประชาคมระดมความเห็นเกี่ยวกับการจัดทำร่างระเบียบสำนัก รัฐมนตรีว่าด้วยสิทธิการใช้ประโยชน์จากโฉนดชุมชน โดยจะเชิญภาคประชาสังคมทุกภาคส่วนทั้งหน่วยงานรัฐ นักวิชาการ ภาคประชาชน และกลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชน (เอ็นจีโอ) เข้าร่วม เพื่อปรับปรุงร่างระเบียบดังกล่าวให้สมบูรณ์ ก่อนจะเสนอ ครม.พิจารณาในเดือน ก.ย.นี้

ทั้งนี้ ร่างระเบียบดังกล่าวจะกำหนดนิยามคำว่า "โฉนดชุมชน" เบื้องต้นมีนิยามว่า เป็นที่ดินที่เป็นสิทธิของชุมชนและประชาชนในชุมชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน โดยเฉพาะเพื่อผลิตอาหารและรักษาสมดุลธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งตนเชื่อว่าด้วยกระบวนการเหล่านี้จะทำให้ชุมชนไทยมีความเข้มแข็ง

คุณหญิงสุพัตรา กล่าวถึงแนวคิดการจัดทำโฉนดชุมชนว่า จะนำพื้นที่สาธารณะหรือพื้นที่ว่างเปล่าในชุมชน หรือหากจำเป็นก็จะซื้อที่ดินที่ไม่ใช้ประโยชน์ของคนในชุมชน เพื่อจัดสรรให้ประชาชนที่ยากจนและไม่มีที่ทำกินเพื่อทำเกษตร โดยเฉพาะต่างจังหวัด โดยจะตั้งสหกรณ์ให้คนในชุมชนเป็นสมาชิกและร่วมลงขัน ภายใต้การสนับสนุนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) และเทศบาล ขณะที่สหกรณ์บริหารจัดการการใช้พื้นที่โฉนดชุมชน

ส่วนเป้าหมายการออกโฉนดชุมชนนั้น จะทำแบบค่อยเป็นค่อยไปตามความพร้อมของชุมชน โดยมีสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. มีส่วนร่วมสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนก่อน เพราะเป้าหมายของรัฐบาลคือ ทำให้ชุมชนทั่วประเทศใช้ทรัพยากรที่มีอยู่สร้างความเข้มแข็ง แก้ปัญหาและพึ่งพาตัวเอง

“เราจะให้สหกรณ์ชุมชนที่ตั้งขึ้นเป็นเจ้าของพื้นที่และครอบครองโฉนดชุมชน ไม่ใช่เอกสิทธิ์คนใดคนหนึ่ง แต่ที่ดินเป็นของทุกคนในชุมชน ขณะที่สหกรณ์จะจัดสรรพื้นที่ให้คนชุมชนเช่าใช้ประโยชน์หรืออาจไม่คิดค่าใช้ จ่าย โดยจะยืดหยุ่นตามความเหมาะสม และอาจไม่ได้รับจัดสรรพื้นที่ทุกคน เพราะคนที่มีที่ดินอยู่แล้วก็ไม่ต้องได้รับจัดสรร ส่วนคนที่ได้รับจัดสรรที่ดินจะไม่มีกรรมสิทธิ์ครอบครองแต่มีสิทธิใช้ที่ดิน และโอนสิทธิให้ลูกหลานได้ แต่ขายไม่ได้”

อย่างไรก็ตาม การทำเกษตรกรรมในพื้นที่โฉนดชุมชนจะ ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของคนที่ได้รับที่ดินว่าจะปลูกพืชชนิดใด มีการดูแลร่วมกันและแบ่งปันผลประโยชน์ร่วมกัน หรือบางพื้นปลูกพืชที่หลากหลายและต่างคนต่างดูแล แต่จะร่วมกันทำการตลาด รวมทั้งปรับปรุงกระบวนการผลิต ลดต้นทุนและเพิ่มคุณภาพสินค้าในพื้นที่ เช่น ปลูกพืชอินทรีย์ ลดพึ่งพาปุ๋ยเคมีหันมาใช้ปุ๋ยชีวภาพแทน ตลอดจนทำเกษตรตามทฤษฎีใหม่หรือเกษตรแบบผสมผสาน

นอกจากนั้นบางพื้นที่อาจใช้ปลูกที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะในชุมชนเมืองแต่จะอยู่ในรูปแบบเดียวกับที่ดินให้ประชาชนในชุมชน คือ ตั้งสหกรณ์บริหารจัดการพื้นที่ โดยรูปแบบออกโฉนดชุมชนนั้น คล้ายกับโครงการบ้านมั่นคง เพราะบ้านมั่นคงมีสหกรณ์ที่คนในชุมชนเป็นสมาชิกและบริหารจัดการพื้นที่ชุมชน รวมถึงครอบครองพื้นที่ที่คนในชุมชนอาศัยอยู่ แต่โครงการบ้านมั่นคงจะเน้นที่อยู่อาศัยในเมือง ส่วนโฉนดชุมชนเน้น ที่ดินทำกินมากกว่า  อย่างไรก็ตาม การดำเนินการทุกขั้นตอน ประชาชนในชุมชนจะมีส่วนร่วมตัดสินใจ ไม่ใช่ปล่อยให้คนใดคนหนึ่งหรือเจ้าหน้าที่รัฐสั่งหรือตัดสินใจแทนคนในชุมชน 

"มั่นใจว่าโฉนดชุมชนจะ ไม่ซ้ำรอยโครงการแจกที่ดิน ส.ป.ก.4-01 เพราะ ส.ป.ก.4-01 จัดสรรที่ดินให้เกษตรกรที่เป็นปัจเจกบุคคล แม้กฎหมายห้ามขายที่ดินให้นายทุน เว้นแต่โอนให้ลูกหลาน แต่ที่ผ่านพบว่า เกษตรกรที่ได้รับที่ดิน ส.ป.ก.จะขายที่ดินให้นายทุน แต่โฉนดชุมชนนั้น เจ้าของกรรมสิทธิ์เป็นสหกรณ์และจัดสรรที่ดินให้เกษตรกรมาทำมาหากิน และหากเปลี่ยนกรรมสิทธิ์ใช้ที่ดินจะต้องคืนที่ดินให้สหกรณ์เพื่อนำไปจัดสรร ให้เกษตรกรรายใหม่"

view