จาก ประชาชาติธุรกิจ
ผู้สื่อข่าว ประชาชาติออนไลน์ รายงานว่า การประชุมคณะรัฐมนตรี( 18 ส.ค.) ได้เห็นชอบข้อเสนอการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง (พ.ศ. 2552-2561) ตามที่กระทรวงศึกษาธิการ แต่ประเด็นที่น่าสนใจคือ สภาพปัญหาการศึกษาไทย ที่หลายประเด็นน่าเป็นห่วง
ประเด็นสำคัญ ประเด็นแรกคือ สถานศึกษาที่จัดการศึกษาระดับ ประถมศึกษาและมัธยมศึกษา จำนวนร้อยละ 20.3 จากจำนวน 22,425 แห่ง ที่ต้องได้รับการพัฒนา
ประเด็นที่สอง ด้านการผลิตและพัฒนาครู คณาจารย์ อาจารย์ มีการสูญเสียอัตราครูไปเนื่องจาก นโยบายจำกัดอัตรากำลังคนภาครัฐและมาตรการจูงใจให้ครูออกก่อนเกษียณ ปัญหาครูสอนไม่ตรงตามวุฒิและการขาดแคลนครูในบางพื้นที่ ครูขาดการพัฒนาที่มีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่องและขาดความเอาใจใส่
ประเด็นที่สาม การกระจายอำนาจการบริหารและการจัดการศึกษาจากส่วนกลางสู่เขตพื้นที่การศึกษา และสถานศึกษา ยังไม่มีอิสระและความคล่องตัวในการบริหารจัดการ การถ่ายโอนสถานศึกษาไปองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีเพียง 381 แห่ง และการศึกษาเอกชนไม่ขยายตัวเท่าที่ควร
ประเด็นที่สี่ การผลิตและพัฒนากำลังคน ผู้สำเร็จอาชีวศึกษากว่าร้อยละ 70 ศึกษาต่อระดับปริญญา ตรี ทำให้ขาดแคลนกำลังคนระดับกลาง ผู้สำเร็จขาดคุณลักษณะด้านความรู้และทักษะที่จำเป็น การผลิตกำลังคนด้านสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์เกินความต้องการ
ทั้ง นี้ สาระสำคัญของข้อเสนอการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง ได้กำหนดวิสัยทัศน์ว่า "คนไทยได้เรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างมีคุณภาพ" โดยกำหนดเป้าหมาย ภายในปี 2561 มีการปฏิรูปการศึกษาและการเรียนรู้อย่างเป็นระบบ
กรอบแนวทางการปฏิรูปการศึกษา กำหนดไว้ว่า จะพัฒนาคุณภาพคนไทยยุคใหม่ ที่มีนิสัยใฝ่เรียนรู้ สามารถเรียนรู้ด้วยตนเองและแสวงหาความรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต มีความสามารถในการสื่อสาร สามารถคิด วิเคราะห์ แก้ปัญหา คิดริเริ่มสร้างสรรค์ มีจิตสาธารณะ มีระเบียบวินัย คำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวม สามารถทำงานเป็นกลุ่มได้อย่างเป็นกัลยาณมิตร มีศีลธรรม คุณธรรม จริยธรรม ค่านิยม มีจิตสำนึกและความภูมิใจในความเป็นไทย ยึดมั่นการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมี พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รังเกียจการทุจริตและต่อต้านการซื้อสิทธิ์ ขายเสียง