จาก ประชาชาติธุรกิจ
การ มองโลกต่างจากคนทั่วไป ทำให้เจ้าของธุรกิจสามารถ ผลักดันให้บริษัทฝ่าฟันวิกฤตเศรษฐกิจ และผงาดขึ้นมาเป็นแนวหน้า ของวงการได้สำเร็จ
โดยหลายบริษัทที่ประสบความสำเร็จ ในปัจจุบัน ได้ถือกำเนิดขึ้นในยุคเศรษฐกิจตกต่ำ ซึ่งแบรนด์ดังในกลุ่มนี้คือค่ายไอทียักษ์อย่าง "ไมโครซอฟท์" และสายการบินชั้นนำ "เซาท์เวสต์แอร์ไลน์ส"
นิตยสารนิวสวีก ชี้ว่า หากดูตามประวัติแล้ว พบว่า ธุรกิจเหล่านี้ไม่ได้เดินตามสูตรสำเร็จข้อใดของการเริ่มธุรกิจน้องใหม่ ทว่ากลับเป็นการผสมผสานระหว่างโชค ความคิดดีๆ และการทุ่มเททำงานแบบ หามรุ่งหามค่ำ
ในกรณีของ ไมโครซอฟท์และซีเอ็นเอ็น ต่างมีผู้นำที่มีเสน่ห์ดึงดูด เช่น บิลล์ เกตส์ และ เทด เทิร์นเนอร์ ซึ่งมีส่วนส่งเสริมความสำเร็จของบริษัทเช่นกัน โดย เจมส์ ไชน์ อาจารย์จากสถาบันการบริหารเคลลอกก์ แห่งมหาวิทยาลัยนอร์ทเวสเทิร์น อธิบายว่า ธุรกิจที่ดีจริงส่วนใหญ่มักมีผู้นำที่เชื่อมั่นศรัทธาในตัวผลิตภัณฑ์ ผู้ที่ยอมอุทิศชีวิตเพื่อทำสิ่งนั้นให้สำเร็จ
เช่นในกรณีของ ไมโครซอฟท์ที่ถือกำเนิดในยุคเศรษฐกิจถดถอยและวิกฤตน้ำมันในช่วงกลางทศวรรษ 1970 บริษัทเริ่มเดินหน้าธุรกิจที่นิว เม็กซิโก ในปี 1975 ด้วยฝีมือสองคู่หู พอล อัลเลน และ บิลล์ เกตส์ ที่พัฒนาภาษาคอมพิวเตอร์สำหรับใช้ในคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล แต่กลับถูก โปรแกรมเมอร์รายอื่นก๊อบปี้ไปใช้อย่างรวดเร็ว จนต้องออกจดหมายเปิดผนึกถึงเหล่าผู้เขียนซอฟต์แวร์ให้หยุดก๊อบปี้แบบ ไม่จ่ายค่าลิขสิทธิ์ ต่อมาในปี 1981 เกตส์ได้ขยายธุรกิจพร้อมเป็นพันธมิตรกับไอบีเอ็ม เพื่อใช้ผลิตภัณฑ์และระบบปฏิบัติการของไมโครซอฟท์ในคอมฯใหม่ของไอบีเอ็ม
ริ ชาร์ด ดีอเวนี อาจารย์ด้านบริหารกลยุทธ์ โรงเรียนธุรกิจทัคแห่งมหาวิทยาลัยดาร์ทเมาท์มองว่า แม้ในความเป็นจริงไมโครซอฟท์จะเริ่มธุรกิจในยุคเศรษฐกิจตกต่ำ แต่เป็นบริษัทที่ให้บริการแก่สินค้าที่กำลังรุ่ง
นอกจากเริ่มธุรกิจ แบบถูกที่ถูกเวลาแล้ว ไมโครซอฟท์ยังเดินเกมอย่างชาญฉลาด โดยในความร่วมมือกับไอบีเอ็มนั้น ไมโครซอฟท์เลือกถือลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์สำหรับระบบปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ไว้ เอง ทำให้สามารถทำเงินได้มากกว่าเดิม เมื่อขายลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ให้กับผู้ผลิตคอมพิวเตอร์รายอื่นๆ ด้วย
ส่วน ในกรณีของสายการบินเซาท์เวสต์ การพิชิตความสำเร็จหมายถึงการหาตลาดเฉพาะกลุ่ม สายการบินรายนี้เริ่มเปิด เที่ยวบินจำนวนจำกัดระหว่างดัลลัส ฮูสตัน และซาน แอนโตนิโอ ในปี 1971 ซึ่งมี ความแตกต่างจากสายการบินทั่วไป อาทิ เซาท์เวสต์ไม่ระบุที่นั่งโดยสาร ไม่ให้บริการอาหารหรือสิ่งบันเทิงต่างๆ บนเที่ยวบิน อีกทั้งยังไม่จัดเที่ยวบินออกจากฮับสนามบินสำคัญซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูง ซึ่งต้องขับเคี่ยวกับสายการบินมีชื่อเสียงอยู่แล้วในขณะนั้น
ดีอเวนี อธิบายกลยุทธ์แบบนี้ว่าเป็นการหลีกเลี่ยงการแข่งขัน ซึ่งสมัยนั้นเซาท์เวสต์ แอร์ไลน์ส เป็นสายการบินต้นทุนต่ำในยุคที่เศรษฐกิจย่ำแย่ แต่กลับรอดพ้นวิกฤตมาได้เพราะราคาตั๋วโดยสารที่ถูกกว่าคู่แข่ง 50-70% และรูปแบบการจัดการที่แตกต่าง
มาถึงยุควิกฤตปัจจุบัน กิจการน้องใหม่ที่มีแววจะฝ่าวิกฤต และผงาดเป็นยักษ์ใหญ่ในอนาคตได้สำเร็จ อาจอยู่ในกลุ่มของเทคโนโลยีสีเขียวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยนิวสวีกชี้ว่า ด้วยเม็ดเงินกระตุ้นมูลค่า 1.1 หมื่นล้านดอลลาร์สำหรับการพัฒนาโครงข่ายสายไฟฟ้า และการขยายเครดิตภาษี 1.4 หมื่นล้านดอลลาร์ให้กับโรงพลังงานหมุนเวียน บริษัทน้องใหม่ได้พัฒนาเทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับพลังงานแสง อาทิตย์และพลังงานลมมากขึ้น ดังนั้นเมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัวมาแข็งแกร่งอีกครั้ง บริษัทเล็กๆ เหล่านี้อาจกลายเป็นแหล่งสร้างนวัตกรรมและงาน โดยเฉพาะสำหรับคนที่ต้องการรู้สึกว่าพวกเขาสามารถควบคุมอาชีพของตนเองได้มาก ยิ่งขึ้น
ซึ่ง เกร็กก์ แฟร์แบงก์ อาจารย์ด้านบริหารธุรกิจของโรงเรียนธุรกิจทัค ให้ข้อคิดว่า ในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำเป็นเวลาที่ดีที่สุดสำหรับการเริ่มธุรกิจ เพราะภาวะยากลำบากต้องการนวัตกรรม และแนวทางที่สามารถช่วยสร้างผลลัพธ์ได้มากขึ้น แต่ลงทุนน้อยลง