จาก โพสต์ทูเดย์
รายงานโดย :วีเจสแคท: |
การ ระบายสินค้าเกษตรที่อยู่ในสต๊อกรัฐบาลทั้งข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง และข้าว ยังคงเป็นปัญหาคารา คาซัง ล่าสุดกับผลการระบายข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และมันสำปะหลังที่กระทรวงพาณิชย์เปิดประมูลขายให้เอกชน โดย ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 5.5 แสนตัน และมันสำปะหลัง 1.8 ล้าน สามารถระบายออกไปได้เพียงเล็กน้อย
ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ได้เปิดประมูลขายเพื่อการส่งออก 5 แสนตัน และใช้ในประเทศ 5 หมื่นตัน มีการเสนอซื้อใช้ในประเทศ 82 ราย ราคาระหว่าง 2,500-5,780 บาทต่อตัน และซื้อเพื่อส่งออก 4 ราย ปริมาณ 5 แสนตัน ราคาระหว่าง 2,000-3,950 บาทต่อตัน และได้อนุมัติขายให้กับผู้ซื้อในประเทศจำนวน 20,202 ตันเท่านั้น มูลค่า 97.82 ล้านบาท เนื่องจากเสนอราคาเกินเกณฑ์เฉลี่ยที่กำหนดคือ 4.60 บาท ต่อกก. ส่วนเพื่อการส่งออกไม่อนุมัติขาย เนื่องจากราคาต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนด 5.20 บาทต่อกก.
ส่วนผลการขายมันสำปะหลังมีผู้เสนอราคาซื้อ มันสำปะหลังเส้น 14 ราย ราคาเฉลี่ย 2,250-4,310 บาท ต่อตัน ได้อนุมัติขายให้กับผู้ผ่านเกณฑ์ 10 ราย ปริมาณ 6.43 แสนตัน มูลค่า 2,645 ล้านบาท เนื่องจากผ่านเกณฑ์ราคาที่กำหนดคือ ตันละ 3,723 บาท ขณะที่แป้งมันมี ผู้เสนอซื้อ 15 ราย ราคาเฉลี่ย 6,300-8,000 บาทต่อตัน ไม่อนุมัติขายเนื่องจากไม่ผ่านเกณฑ์ราคาที่กำหนดคือ ตันละ 8,572 บาท
ทำให้ล่าสุดคณะทำงานกำหนดยุทธศาสตร์การระบายสินค้าเกษตรที่มี อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศเป็นประธาน ได้ปรับเปลี่ยนแนวทางการระบายจากเดิมที่จะระบายเพื่อส่งออกตลาดต่างประเทศ เกือบทั้งหมด เพื่อไม่ให้กระทบกับราคาภายในประเทศ โดยจะระบายเพื่อใช้ในประเทศเพียงเล็กน้อยเท่าที่จำเป็นเท่านั้น เป็นการเปิดทางให้มีการระบายเพื่อใช้ในประเทศมากขึ้น
โดยจะเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการในประเทศทั้งผู้ซื้อรายย่อย กลุ่มเกษตรกร สหกรณ์การเกษตรวิสาหกิจชุมชน รวมถึงโรงงานอุตสาหกรรมและเจ้าของโกดังซื้อได้จำนวน 2 แสนตัน ส่วนที่เหลือจะขายเพื่อการส่งออก
แม้แนวทางดังกล่าวจะส่งผลดีต่อการระบายสินค้าเกษตรสต๊อกรัฐบาล ซึ่งเป็นการเปิดช่องให้ผู้ใช้ทั้งภายในประเทศและเอกชนเพื่อการส่งออกเข้ามา แข่งขันแย่งซื้อสินค้าเกษตรในสต๊อกรัฐบาลเพิ่มมากขึ้น จากเดิมที่จำกัดเฉพาะเอกชนเพื่อการส่งออก ทำให้เกิดการแข่งขันน้อยราย และเกิดการกดราคารับซื้อสินค้าเกษตรต่ำกว่าราคาตลาด
แต่ผลของการระบายสินค้าเกษตรเพื่อใช้ภายในประเทศ มีช่องโหว่ที่อาจทำให้ราคาภายในตลาดตกต่ำลง โดยเฉพาะสต๊อกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่เก็บไว้นานเกิน 7 เดือน และกำลังมีผลผลิตฤดูกาลใหม่เข้าสู่ตลาด ซึ่งคาดว่าจะมีปริมาณมากถึง 4.2 ล้านตัน โดยมีความต้องการใช้เพียง 3.7-3.8 ล้านตันเท่านั้น ทำให้เหลือส่วนเกินของผลผลิตใหม่อีกกว่า 4 แสนตัน
เรื่องนี้อาจกลายเป็นการสร้างปัญหาให้กับรัฐบาลเอง เพราะหลังจากที่ผลผลิตออกสู่ตลาด พร้อมกับการเร่งรีบระบายสต๊อกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ จึงมีความเป็นไปได้น้อยมากที่ผู้ประกอบการภายในประเทศจะวิ่งเข้ามาซื้อของใน ตลาด เพราะสินค้าที่รัฐบาลระบายสามารถซื้อได้ถูกกว่าการซื้อของใหม่ในตลาด เนื่องจากสภาพสินค้าที่เก็บไว้นาน
นอกจากนี้ ยังเป็นการทำลายระบบประกันราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่รัฐบาลอาจต้องเสียงบ ประมาณถึงสองเด้งทั้งจากการระบายสต๊อกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ขาดทุนจากต้นทุน จำนำ หากราคาตลาด ณ ขณะนั้นตกต่ำ และการจ่ายค่าชดเชยในระบบประกันราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ฤดูกาล 2551/52 ที่จะ เริ่มภายในเดือนส.ค.นี้ ซึ่งรัฐบาลกำหนดการประกันราคาไว้ที่กก.ละ 7.10 บาท แต่ขณะนี้ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในตลาด อยู่ที่ 6 บาทกว่าต่อกก. หรือต้องจ่ายชดเชยให้เกษตรกร 1 บาทกว่าต่อกก.
ขณะเดียวกันหากการระบายสินค้าเกษตรภายในประเทศทำให้ราคาร่วงลงอีก เท่ากับว่ารัฐบาลจะต้องจ่ายเงินชดเชยเพิ่มขึ้น จึงเป็นเรื่องที่รัฐบาลควรคิดอย่างรอบคอบที่จะทำอย่างไรให้การระบายเพื่อใช้ ภายในประเทศครั้งนี้ไม่กระทบกับราคาตลาดภายในที่ตกต่ำลง
ไม่เช่นนั้นระบบประกันราคาที่รัฐบาลคาดหวังว่าจะขาดทุนน้อยกว่าการแทรกแซงระบบรับจำนำแบบเดิมก็คงไม่เกิดประโยชน์ขึ้นมา