จาก ประชาชาติธุรกิจ
ทวี มีเงิน
ข่าวที่คนในสังคมมองข้ามอย่างน่าเสียดาย และหายวับไปจากพื้นที่ข่าวในสื่อต่างๆ อย่างรวดเร็ว ทั้งที่ข่าวนี้สำคัญกว่าคนเสื้อแดงชุมนุมเพื่อยื่นถวายฎีกาเพื่อช่วย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และข่าวศาลฎีกาแผนกคดีอาญาทางการเมืองนัดฟังคำพิพากษาคดีทุจริตกล้ายางที่คน ทั้งประเทศลุ้นว่า นายเนวิน ชิดชอบ จะไปศาลหรือไม่
ข่าวนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งกับ "ความมั่นคง" ทั้งความมั่นคงของประเทศและความมั่นคงทางเศรษฐกิจอย่างมิอาจปฏิเสธได้ นั่น คือข่าวที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ปล่อยน้ำจากเขื่อนศรีนครินทร์เพื่อผลิตไฟฟ้ารักษาระดับกำลังการผลิตไฟฟ้าเอา ไว้ไม่ให้เกิดไฟฟ้าดับ อันเนื่องมาจากแหล่งก๊าซทั้งสามแหล่งคือ แหล่งนายาดาที่ซื้อจากพม่า แหล่งบงกช ในอ่าวไทยที่มีปัญหาขัดข้องทางเทคนิค และแหล่งพัฒนาร่วมไทย-มาเลย์ (เจดีเอ) ที่ได้ทำการปิดซ่อมบำรุง ช่างบังเอิญจริงๆ ที่ทั้งสามแหล่งที่ป้อนก๊าซให้กับ กฟผ.มีปัญหาพร้อมๆ กันโดยมิได้นัดหมาย
การที่ กฟผ.แก้ปัญหาด้วยการตัดสินใจปล่อยน้ำจากเขื่อนศรีนครินทร์เพื่อผลิตกระแส ไฟฟ้ารับมือสถานการณ์ครั้งนี้มิใช่แค่ตัดสินใจผิดพลาดธรรมดา แต่ผิดทั้งข้อเท็จจริงและหลักตรรกะ ข้ออ้างว่า ปล่อยน้ำจากเขื่อนเพื่อรักษากำลังการผลิตไฟฟ้าจึงดูแปลกๆ จากการแถลงข่าวของผู้ที่รับผิดชอบออกมาในทำนองว่า หากไม่ตัดสินใจปล่อยน้ำเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าแล้วจะทำให้ไฟฟ้าค่อนประเทศหรือ ราว 1 หมื่นเมกะวัตต์มีความเสี่ยงจะดับได้
ขณะที่ไฟฟ้าที่ผลิตได้จากเขื่อนศรีนครินทร์จริงๆ นั้นแค่ 750 เมกะวัตต์ มันชดเชยกันไม่ได้เลยกับสิ่งที่จะขาดถึงหมื่นเมกะวัตต์ ไม่ต่างจากเอาเนื้อหมูไปปะเนื้อช้าง แทบไม่มีผลอะไร
หลายคนต่างตั้งข้อสงสัยว่า ทำไม กฟผ.จึงตัดสินใจใช้วิธีนี้ ทุกคนตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า น่าจะอยู่ที่ "ต้นทุน" กระแสไฟฟ้าที่ได้จากพลังน้ำนั้นเป็น "ต้นทุนที่ต่ำที่สุด" เมื่อเทียบกับน้ำมันเตา ดีเซล ถ่านหินและก๊าซธรรมชาติ ความจริงหาก กฟผ.ตัดสินใจใช้น้ำมันเตาและน้ำมันดีเซลตั้งแต่แรก ชาวบ้านก็ไม่เดือดร้อน กฟผ.ก็ไม่เสียหายอะไร ไม่ได้เข้าเนื้อ เนื่องจากค่าไฟฟ้าที่เก็บจากชาวบ้านที่เรียกว่า "ค่าเอฟที" กฟผ.ได้เฉลี่ยต้นทุนทั้งก๊าซ น้ำมัน พลังงานอื่นๆ รวมไว้แล้ว
0อย่างไร ก็ตามหลายคนเชื่อว่าการตัดสินใจครั้งนี้น่าจะเป็นการตัดสินใจของเจ้าหน้าที่ ระดับล่าง คงไม่ผ่านการตัดสินใจของผู้บริหารระดับสูง มิเช่นนั้นผลคงไม่ออกมาอย่างนี้
อย่างไรก็ตาม บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) หรือ "ปตท." น่าจะต้องมีส่วนร่วมกันรับผิดชอบไม่มากก็น้อย แม้เหตุการณ์ครั้งนี้จะเป็นอุบัติเหตุที่อยู่นอกเหนือความคาดหมายก็ตาม
แต่ ปตท.น่าจะมีแผนรองรับให้กับผู้ซื้อซึ่งเป็นผู้ซื้อรายใหญ่รายเดียว เมื่อแหล่งก๊าซเกิดขัดข้องทางเทคนิคพร้อมๆ กันทั้งสองแหล่งแม้จะเป็นเหตุสุดวิสัยตามที่ชี้แจง การปล่อยให้ก๊าซเพื่อผลิตไฟฟ้าหมื่นเมกะวัตต์หายไปเฉยๆ ย่อมไม่ใช่เรื่องเล็กๆ แน่
ในฐานะที่ ปตท.เป็นผู้จัดหาแหล่งวัตถุดิบ การขนส่ง เพียงรายเดียว ส่วนต่างกำไรถึง 18% แถมยังซื้อในระบบที่เรียกว่า "Take or pay" หรือที่เรียกว่า "ไม่ใช้ก็ต้องจ่าย" เพราะกฟผ.ต้องการหลักประกันความเสี่ยง โดยให้ผู้ใช้ไฟฟ้าเป็นผู้รับภาระ
พูดง่ายๆ เรื่องนี้ประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าทั้งประเทศได้จ่ายค่าความเสี่ยงให้กับ ปตท.และ กฟผ.ไว้แล้ว
อย่าลืมว่า ไฟดับแค่ไม่กี่วินาทีความเสียหายทางเศรษฐกิจมหาศาล แต่ที่เสียหายมากกว่าคือความมั่นใจของนักลงทุน นักธุรกิจ อุตสาหกรรม ต่อประสิทธิภาพการจัดการด้านพลังงานของไทย
บทเรียนครั้งนี้เชื่อว่าทั้งกระทรวงพลังงาน ปตท. และ กฟผ.คงไม่ปล่อยผ่านเลย น่าจะต้องหาทางป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีก เพื่อเรียกความเชื่อมั่นในการบริหาจัดการพลังงานของไทยกลับคืนมา
เหตุที่ต้องหยิบเรื่องนี้ขึ้นมาเพื่อเป็นอุทาหรณ์ เฉพาะอย่างยิ่งสำหรับ กฟผ.ที่กำลังศึกษาความเป็นไปได้ในการก่อตั้งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ซึ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่ ซับซ้อนและละเอียดอ่อน ซึ่งการบริหารการจัดการ การตัดสินใจ จะผิดพลาดไม่ได้ เด็ดขาด
โชคดีที่ครั้งนี้แค่น้ำท่วมบ้านชาวบ้าน