จาก ประชาชาติธุรกิจ
คิด คิด คิด และก็ต้องคิด
แต่ ข้อเท็จจริงสำหรับการเป็นผู้ประกอบการหน้าเก่า หรือผู้ที่อยากเป็นผู้ประกอบการนั้น คิดอย่างเดียวไม่พอ ต้องคิดและลงมือทำด้วย ทำในสิ่งที่ตัวเองคิดให้ออกมาเป็นรูปธรรม จับต้องได้ สัมผัสได้ ที่สำคัญต้องขายได้ด้วย แต่ปัญหาก็เกิดอีกตรงที่ ไม่ใช่ผู้ประกอบการทุกรายที่สามารถถ่ายทอดความคิด จาก ไอเดียแปลงเป็นสินค้าและขายได้ ตรงกันข้ามกลับมีผู้ประกอบการจำนวนมากที่คิดดี ทำดี แต่ทำได้ไม่ตลอดรอดฝั่ง เพราะต้องเจอกับปัญหาอุปสรรคนานัปการ และ 1 ในนั้นซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ก็คือ ขาดเงินทุน
โดยมีตัวอย่างค่อนข้าง ชัดสำหรับผู้ประกอบการที่คิดดี ทำดี แต่ไม่มีทุน ก็คือบรรดาสินค้าต่างๆ ที่คิดได้ ก็ไปจดลิขสิทธิ์ จดสิทธิบัตร ฯลฯ ก่อน จากนั้นเมื่อมีความพร้อมด้านการเงิน ค่อยนำสิ่งที่คิดไป ต่อยอดต่อ แต่ก็ต้องยอมรับมีไม่มากที่สามารถสานไอเดียแปลงเป็นธุรกิจได้
ซึ่ง ศักยภาพและโอกาสในมุมนี้ รัฐบาล ก็มองเห็น เมื่อ 4-5 ปีที่แล้ว รัฐบาลซึ่งมีกรมทรัพย์สินทางปัญญาเป็นหัวเรือใหญ่ จึงได้ทำโครงการแปลงทรัพย์สินทางปัญญาเป็นทุน
แต่ตลอด 4-5 ปีที่ผ่านมากับการดำเนินโครงการภายใต้โครงการนี้ ถ้าวัดความสำเร็จด้วยตัวเงินที่ปล่อยกู้ให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ต้องบอกว่าสอบตก เพราะระยะเวลากว่า 4-5 ปี สามารถปล่อยกู้ให้กับผู้ประกอบการได้เพียง 80 กว่าล้านบาท มีจำนวนผู้ประกอบการ 100 กว่ารายเท่านั้น
โดยปัญหาอุปสรรคสำคัญก็ คือ หลักทรัพย์ค้ำประกัน ที่เป็นทรัพย์สินทางปัญญา ไม่ว่าจะเป็น ตราสินค้า สิทธิบัตร หรือลิขสิทธิ์นั้น ยังไม่มีกระบวนการประเมินที่เป็นมาตรฐานที่สามารถสร้างให้สถาบันการเงินยอม รับได้ ทั้งๆ ที่ผ่านมาในการดำเนินงานได้มีการประสานงานกับสถาบันการเงินคือ เอสเอ็มอีแบงก์มาตลอด แต่ด้วยกฎระเบียบที่เข้มงวดของแบงก์ ทำให้แม้จะเป็นโครงการของรัฐก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะปล่อยกู้
นอกจาก ช่องทางการปล่อยกู้โดยสถาบันการเงินแล้ว ยังมีอีกช่องทางหนึ่งนั่นคือ กองทุนร่วมลงทุน ซึ่งมีทั้งองค์กรของรัฐ โดย สสว. หรือแบงก์พาณิชย์ที่เปิดช่องให้บริษัทที่มีนวัตกรรม สามารถเข้าถึงแหล่งเงินได้ในรูปแบบการร่วมลงทุน แต่ช่องทางนี้ก็ยังถือว่าน้อยมาก ทั้งกับจำนวนเงินและจำนวนผู้ประกอบการ
ข้อ จำกัดก็คือ บริษัทที่จะเข้าสู่แหล่งเงินด้วยวิธีร่วมทุน ต้องมีความโปร่งใส ทั้งในเรื่องการบริหารจัดการการเงิน และระบบบัญชี หรือจะให้เข้าใจโดยง่ายก็คือต้องมีบัญชีเดียว ซึ่งก็เป็นปัญหาอีก เพราะก็มีผู้ประกอบการที่อยากได้เงินทุน แต่ไม่อยากเปิดเผยข้อมูลเต็มร้อย พ่วงท้ายไม่อยากเสียเอกสิทธิ์ในความเป็นเจ้าของ 100%
มาปีนี้ รัฐบาลชุดปัจจุบันกำลังดำเนินนโยบาย Creative Thailand ที่ต้องการให้ประเทศไทยขับเคลื่อนด้วยเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ หรือ Creative Economy ซึ่งกลุ่มสินค้าหรือผู้ประกอบการเบื้องต้นก็อยู่ในข่ายได้รับการส่งเสริม และปัญหาเรื่องแหล่งเงินทุนก็เป็นประเด็นที่รัฐบาลรับรู้และเข้าใจ ถึงขนาดมีแผนที่จะตั้งเป็นแบงก์เพื่อการพัฒนาทรัพย์สินทางปัญญาโดยเฉพาะ
แต่ เป็นที่รู้กันว่าการตั้งสถาบันการเงินสักแห่งนั้น ไม่สามารถสร้างให้เกิดได้ภายในระยะเวลาอันสั้น ซึ่งหนึ่งในผู้ขับเคลื่อนแนวคิด Creative Thailand ก็รับรู้ถึงปัญหาและอุปสรรค ถึงได้มีการนำเรื่องดังกล่าวไปหารือกับนายแบงก์บางคน ว่าจะทำอย่างไรให้ผู้ประกอบการกลุ่มนี้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินได้อย่างรวด เร็วบ้าง
ซึ่งในวงสนทนาจึงได้มีการนำเสนอแนวคิด ให้ตั้งเป็นกองทุนเพื่อการปล่อยกู้สินทรัพย์ทางปัญญาแทนการตั้งเป็นแบงก์
รัฐบาล อนุมัติเงินมาสักก้อนหนึ่ง ตั้งเป็นกองทุนและจ้างสถาบันการเงินของรัฐสักแห่งมาบริหาร พร้อมกับร่างเงื่อนไข กฎ กติกา ที่ลดอุปสรรคเดิมๆ ออกไป เพื่อให้ผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น...ซึ่งดูเหมือนจะเป็น วิธีที่ง่ายและเร็วที่สุด คล่องตัวที่สุดในเวลานี้ ที่กำลังรอลุ้นว่ารัฐบาลจะเห็นด้วยหรือไม่ หรือถ้าไม่เห็นจะมีวิธีไหนอีกบ้าง เพื่อขับเคลื่อนปัญหา...คิดดี ทำดี แต่ไม่มีทุน