สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

นักเศรษฐศาสตร์โนเบลชมไทย ปรับรับวิกฤติลัทธิบริโภคบ้าคลั่ง

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์



นายกฯบอกชื่นใจพูดเรื่องเศรษฐกิจ การเมืองเครียด ด้านนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล อัดวิกฤติเศรษฐกิจเพราะลัทธิบริโภคบ้าคลั่ง ชมไทยแบบอย่างพอเพียง

ที่ โรงแรมพลาซ่า แอทธินี กรุงเทพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) จัดสัมมนานานาชาติ “เอเซีย:เส้นทางสู่เศรษฐกิจใหม่” โดย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขณะนี้ต้องยอมรับว่าปัจจุบันโลกไม่เท่าเทียมกัน ไม่มีกลไกกำกับดูแลสถาบันการเงินของโลก เมื่อเกิดปัญหาแต่ละประเทศต้องแก้ด้วยการกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจ รัฐบาลนี้ต้องเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจและการเมืองตั้งแต่วันแรกที่รับตำแหน่ง ซึ่งเป็นเรื่องหนัก หลังเกิดปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ แต่ละประเทศพยายามสะสมเงินสำรองของประเทศ  แม้ไทยจะมีเงินสำรองมากแต่ก็เริ่มลดลงตามจีดีพีที่ลดลง ทั้งนี้คาดว่าไตรมาสที่ 3 จะเริ่มฟื้นตัวและเพิ่มขึ้น 8-9%

อย่างไรก็ตามเป็นที่ทราบดีว่าระบบตลาดไม่เคยมีความเสถียรและยุติธรรม ดังนั้นเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะทำให้เกิดความสมดุล

“นโยบายที่สมดุลไม่สามารถใช้ดัชนีชี้วัดเฉพาะตัวเลขจีดีพีได้เพียงอย่าง เดียว เพราะไม่สามารถสะท้อนความเป็นจริง ต้องมีดัชนีชีวัดด้านอื่นๆ ด้วย ขณะนี้ไทยก็เริ่มทำดัชนีชี้วัดการเจริญเติบโตด้านสังคมและเศรษฐกิจ เพื่อให้เป็นดัชนีชี้วัดแบบรอบด้าน นอกเหนือจากด้านเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว”นายอภิสิทธิ์ กล่าวและกล่าวติดตลกด้วยว่า วันนี้ก็ชื่นใจที่ได้มาพูดถึงเรื่องเศรษฐศาสตร์บ้าง เพราะเรื่องการเมืองช่วงนี้เครียด จะได้ไม่ต้องพูดแต่เรื่องแต่งตั้งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

นายอภิสิทธิ์ กล่าวอีกว่า การเร่งสร้างให้ประเทศไทยก้าวหน้า ต้องเน้นให้ประชาชนมีความสมานฉันท์ มีโอกาส มีธรรมาภิบาล มีการรวมกลุ่ม มีการดูแลโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศสร้างงานให้ประชาชน ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง การประเมินแนวโน้มและการสร้างการศึกษา  ทั้งหมดนี้จะทำให้ไทยเติบโตอย่างยั่งยืนได้ ซึ่งรัฐบาลจะทำให้ประชาชนให้ความสำคัญ ให้ความร่วมมือ เพื่อจะดำเนินนโยบายได้อย่างเต็มที่ หากดำเนินตามเป้าหมายนี้ ก็เชื่อว่าไทยจะกลายเป็นแบบอย่างให้ประเทศอื่นในภูมิภาคได้ รวมถึงได้รับความร่วมมือจากพันธมิตร ทั้งในและนอกภูมิภาคอาเซียน เพื่อนำไปสู่ระบบเศรษฐกิจใหม่ของโลก

ดร.โจเซฟ สติกลิตซ์ นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล จากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย กล่าวว่า ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้ความล้มเหลวของระบบการเงินของประเทศยักษ์ใหญ่ และความไม่สมดุลของภาครัฐและภาคเอกชน ผู้ที่กำหนดนโยบายการเงินระหว่างประเทศเป็นกลุ่มผลประโยชน์ ซึ่งกำหนดนโยบายที่เป็นประโยชน์แต่กับตัวเอง ทำให้ภาคประชาชน และทั้งสังคม ต้องรับความเสี่ยง ความล้มเหลวทั้งหมด นวัตกรรมการเงินที่เกิดขึ้นกลายเป็นเครื่องมือทำลายล้างดูดเงินจากประชาชน ที่ฐานราก ซึ่งสร้างรายได้แต่ทำลายให้อ่อนแอ เมื่อรากฐานอ่อนแอทั้งระบบเศรษฐกิจก็พัง

“นับจากนี้ เศรษฐกิจต้องมีวิสัยทัศน์กว้างขึ้น สิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันล้วนเป็นผลมาจากอดีต เกิดจากการโกงกินประชาชน สังคมวัตถุนิยม ทุกคนเห็นว่าอากาศ น้ำ เป็นของฟรี ซึ่งไม่ดีต่อโลก ต่อจากนี้โลกไม่สามารถรับมือกับลัทธิการบริโภคแบบบ้าคลั่งได้อีกต่อไป จำต้องเปลี่ยนแปลงวิถีการดำรงชีวิตใหม่เหมือนประเทศไทย และภูฐาน จะใช้อัตรามวลรวมของเศรษฐกิจหรือจีดีพี มาวัดความสำเร็จอย่างเดียวไม่ได้ ต้องมีตัวชี้วัดอื่น เช่น ความกินดีอยู่ดี สภาพสังคม รวมถึงต้องปลดปล่อยตัวเองจากสหรัฐฯและยุโรป แม้ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่จะทำให้ทุกประเทศเติบโตอยู่บนขาของตัวเองได้อย่างยั่งยืน”ดร.โจเซฟ กล่าว

ทพ.กฤษฎา เรืองอารีรัชต์ รองผู้จัดการ สสส. กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้สสส.เป็นตัวกลางประสานเชื่อมโยงกับทุกฝ่ายในการ จัดทำตัวชี้วัดทางสังคม ที่นอกเหนือจากการวัดผลทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว เพราะในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 ที่กำลังจะประกาศใช้ในอีก 2 ปีข้างหน้า ได้กำหนดชัดถึงการนำเศรษฐกิจพอเพียงเป็น แกนหลัก โดยวัดทั้งประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจ รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานทางสังคมที่ครอบคลุมถึงมิติการศึกษา สุขภาพ และการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ซึ่งการสร้างตัวชี้วัดดังกล่าวต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาคธุรกิจ สังคม รัฐบาล เพื่อให้เกิดการยอมรับอย่างแท้จริง และหากสามารถทำได้จะทำให้ประเทศเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนในที่สุด

view