จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
โดย : ลมลเพ็ชร อภิสิทธิ์นิรันดร์
มองกระดาษแผ่นหนึ่ง ที่ผ่านมา อาจเห็นความว่างเปล่า แต่ปัจจุบันไม่เป็นเช่นนั้น เมื่อคนในธุรกิจนี้ ได้ซ่อน "ไอเดีย" ไว้ในแผ่นกระดาษมากมาย
ลึกลงไปคือ "มูลค่าเพิ่ม" เหมือนอย่างที่ เอสซีจี เปเปอร์ กำลังทำอยู่อย่างขะมักเขม้น
บอสใหญ่เอสซีจี เปเปอร์ "เชาวลิต เอกบุตร" บอกว่า ขณะนี้สินค้า High Value Product (HVP) ของกลุ่มกระดาษ ได้เพิ่มสัดส่วนจาก 3 % ของยอดขาย มาอยู่ที่สัดส่วนมากกว่า 20% แล้วภายใน 3 ปีให้หลังจากการปลุกปั้นเรื่องนี้อย่างจริงจัง
นั่นเพราะการเป็นผู้ผลิตกระดาษครบวงจรรายใหญ่ที่สุดในอาเซียน ค้ำคอ สมควรที่จะเป็น "ผู้นำ" ในเรื่องของนวัตกรรมไปพร้อมกันด้วย เพื่อสร้างความคงกระพันของคำว่า "เบอร์1" ในตลาดนี้
แม้ว่าธุรกิจจะมีซวนเซไปบ้าง จากผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจ ทำให้เอสซีจี เปเปอร์ มีผลประกอบการไม่ค่อยสบอารมณ์ผู้บริหาร และผู้ถือหุ้น นัก
แถลงผลประกอบการไตรมาสสอง เอสซีจี เปเปอร์ มียอดขายอยู่ที่ 10,557 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9% มีกำไรสุทธิ 639 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 167 % เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน
ขณะที่ในช่วงครึ่งปีแรก เอสซีจี เปเปอร์ มีกำไรสุทธิลดลงมากถึง 38% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการหดตัวของตลาด และมาร์จิ้น (กำไร) ของผลิตภัณฑ์
ปฏิบัติการให้ความสำคัญกับ "นวัตกรรม" เพื่อผลักดันยอดขาย และมาร์จิ้น จึงเกิดขึ้น และแน่นอนนโยบายนี้กำลังจะถูกเพิ่มน้ำหนักลงไปเรื่อยๆ
กระดาษไอเดียกรีน ภายใต้แบรนด์ ไอเดีย ได้รับการตอบรับจากตลาดค่อนข้างดี ทำให้เอสซีจี เปเปอร์ ส่งกระดาษตัวใหม่ "ไอเดีย เวิร์ก" ออกมาตีตลาดอีกละลอก ภายใต้แนวคิด Think for the better ที่เชาวลิต บอกว่า ต้องการที่จะเพิ่มทางเลือกใหม่ๆ ให้กับผู้บริโภค ส่งผลให้ขณะนี้เอสซีจี เปเปอร์ กลายเป็นผู้นำในตลาดถ่ายเอกสาร
เขากำลังจะบอกว่า...แซงหน้ากระดาษดับเบิ้ล เอ ไปแล้ว
“เราจะไม่หยุดนิ่งที่จะให้ความความสนใจในเรื่องนวัตกรรม เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ ถือเป็นนโยบายของบริษัทอยู่แล้ว เพราะเห็นว่าการแข่งขันในปัจจุบันต้องแข่งกันที่เรื่องเทคโนโลยี”
เขายังบอกอีกว่า สินค้านวัตกรรมของเอสซีจี เปเปอร์ ไม่ได้มีแค่นี้ ยังจะมีสินค้านวัตกรรมดาหน้าออกมาอีกมากมายขอให้คอยติดตาม เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่หลากหลาย อย่างกระดาษไอเดีย เวิร์ค ที่ออกมานี้ ถือเป็นนวัตกรรมกระดาษถ่ายเอกสารคุณภาพสูงระดับมากกว่าพรีเมี่ยม เพราะถูกเติมคำว่า "ซูเปอร์" ลงไป
โดยตั้งเป้ายอดขายไว้ที่ 10-15% หรือราว 1,000 ล้านบาทภายใน 1 ปีจากนี้ โดยกลุ่มเป้าหมายจะเป็นกลุ่มสำนักงาน เพราะเชื่อว่าจะเป็นกลุ่มนี้ที่มีบุคลิก "เนี๊ยบ" เข้ากันๆ กับภาพลักษณ์ของกระดาษซูเปอร์พรีเมียม สะท้อนตัวตนของกลุ่มคนในสำนักงานได้เป็นอย่างดี
นอกจากนี้ เอสซีจี ยังมี Note Pro กระดาษนวัตกรรมล่าสุดที่พัฒนาขึ้นสำหรับงานเขียนโดยเฉพาะ ด้วยผิวหน้ากระดาษที่เรียบ ลื่น รองรับการเขียนแบบไม่มีสะดุด พร้อมการซึมซับหมึกได้เร็วทำให้หมึกไม่เลอะมือ ให้ลายเส้นคมชัด และถนอมสายตาด้วยเฉดสีนวลสบายตาขนาด 70 แกรม
Mira Board กระดาษหลายชั้นที่ด้านหน้าเคลือบผิวด้วย Metalize PET 12 ไมครอน ทำให้ผิวหน้าเรียบ มันวาวเป็นพิเศษ สามารถกันน้ำได้ดี นิยมใช้ทำบรรจุภัณฑ์สำหรับสินค้าที่ต้องการภาพลักษณ์ทันสมัย สะดุดสายตาเมื่อวางอยู่บนชั้นในห้างสรรสินค้า น้ำหนักมาตรฐาน 300 350 400 และ 500 กรัมต่อตารางเมตร
Micro Flute นวัตกรรมกระดาษลูกฟูกลอน F มีความแข็งแรง แม้ใช้ปริมาณกระดาษน้อยลงและด้วยความเล็กของตัวลอนทำให้ผิวของกระดาษเรียบ เนียน สามารถรองรับงานพิมพ์คุณภาพสูงและตอบสนองการขยายตัวของตลาด Shelf Ready Packaging รวมถึงผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่ต้องการสร้างความแตกต่างด้วยคุณสมบัติที่โดดเด่นและรูปลักษณ์ที่สวยงาม "เชาวลิต" เผย
บอสใหญ่ เอสซีจี เปเปอร์ ยังบอกว่า เบื้องหลังกระดาษที่มีนวัตกรรมเหล่านี้ ยังมีเทคโนโลยีรองรับ อาทิ New Matrix Fiber Structure หรือ กระบวนการจัดโครงสร้างและเรียงตัวของเยื่อกระดาษแบบใหม่ เพื่อให้เนื้อกระดาษแกร่งคงรูป สามารถใช้งานได้ดีกับอุปกรณ์พิมพ์ในสำนักงานทุกชนิด
และ Nano Coating Formula ซึ่งเป็นสูตรพิเศษในการเคลือบผิวให้กับเนื้อกระดาษขาวกว่า เรียบเนียน เพื่องานพิมพ์คมชัด สวยสมบูรณ์แบบกว่าที่เคย
แผ่นกระดาษ ที่ดูขาวสวย จึงไม่ "ว่างเปล่า" ด้วยประการฉะนี้