จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
โดย : วลัญช์ สุภากร
กระทรวงเกษตรญี่ปุ่นมอบรางวัลแก่ มร.ฮิเดกิ กาโต ผู้นำเข้าผลิตภัณฑ์จากบ้านเกิดสู่ไทย พร้อมชิมเมนูเด็ดรสมือเชฟคนเก่ง ชิเกรุ ทานากะ
อาหาร นอกจากรับประทานอร่อย และบริโภคเพื่อยังชีพ ยังกลายเป็นสินค้าส่งออก ที่สำคัญอย่างหนึ่ง ซึ่งช่วยเสริมสร้างเศรษฐกิจของประเทศได้เป็นอย่างดี ประชาชนในหลายประเทศทำธุรกิจของตนเองด้วยการเปิด ร้านขายของชำในต่างประเทศ นำอาหาร เครื่องเทศ ผักสด ผลไม้ ซอสปรุงรสของประเทศตนเองไปจำหน่าย ชาวญี่ปุ่นก็เป็นหนึ่งในจำนวนนั้น
แต่รัฐบาลญี่ปุ่นมองเห็นความสำคัญของ 'มดงาน' หรือชาวญี่ปุ่นซึ่งทำธุรกิจดังกล่าวในคุณค่าที่เป็นผู้เผยแพร่วัฒนธรรมอาหาร ญี่ปุ่นให้เป็นที่รู้จักแพร่หลายในต่างประเทศ เมื่อชาวต่างชาติรู้จักอาหารญี่ปุ่นมากขึ้น รับประทานอาหารญี่ปุ่นเป็นมากขึ้น หรือแม้กระทั่งลงมือทำอาหารญี่ปุ่นเป็นมากขึ้น ญี่ปุ่นก็ส่งออกผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับอาหารได้มากขึ้น ในที่สุดเกษตรกรชาวญี่ปุ่นก็พลอยมีรายได้เพิ่มขึ้นเป็นห่วงโซ่ตามกันไป
รัฐบาลญี่ปุ่นโดยกระทรวงเกษตรจึงจัดให้มีพิธีมอบ รางวัลผู้ส่งเสริมการส่งออกสินค้าเกษตรญี่ปุ่น ปกติมอบให้กับร้านอาหารญี่ปุ่นในต่างประเทศ แต่ปีนี้เป็นครั้งแรกที่มีการพิจารณามอบรางวัลนี้ ให้กับผู้นำเข้าผลิตภัณฑ์อาหารญี่ปุ่นไปจำหน่ายยังต่างประเทศ โดยในปีนี้ มร.ฮิเดกิ กาโต (Hideki Kato) กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท Daisho (Thailand) จำกัด ซึ่งทำธุรกิจนำเข้าอาหารสด อาหารสำเร็จรูป อาหารแปรรูป และอาหารแช่แข็งจากญี่ปุ่นมาจำหน่ายยังประเทศไทย ได้รับการคัดเลือกให้ได้รับรางวัลดังกล่าว โดย ฯพณฯ เคียวจิ โคมาชิ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ได้เปิดบ้านพักในกรุงเทพฯ จัดเลี้ยงแสดงความยินดีกับ มร.ฮิเดกิ และภริยา ด้วยอาหารญี่ปุ่นแบบพิธีการ
มร.ฮิเดกิ ให้สัมภาษณ์ว่า จุดเริ่มต้นในการทำธุรกิจนำเข้าผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรและอาหารญี่ปุ่นเข้ามา จำหน่ายในประเทศไทย เกิดจากการที่จังหวัดอาโอโมริเข้ามาพูดคุยกับตนเกี่ยวกับวัฒนธรรมอาหาร ระหว่างไทยและญี่ปุ่นว่ามีความใกล้เคียงกัน คนไทยจำนวนไม่น้อยที่ชอบรับประทานอาหารญี่ปุ่นและให้ความสนใจเรื่องการรับ ประทานอาหารเพื่อให้ได้ประโยชน์กับสุขภาพ ประกอบกับในเมืองไทยก็มีร้านอาหารญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก จึงน่าจะเป็นโอกาสดีในการนำผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรและอาหารญี่ปุ่นแท้ๆ เข้ามาบริการในเมืองไทย ให้ผู้นิยมบริโภคอาหารญี่ปุ่นได้มีความรู้เกี่ยวกับอาหารญี่ปุ่นลึกซึ้งขึ้น
อาโอโมริ (Aomori) เป็นจังหวัดที่อยู่สูงสุดของเกาะฮอนชู ตั้งเผชิญหน้ากับเกาะฮอกไกโดที่อยู่เหนือสุดของญี่ปุ่น โดยมีช่องแคบทะสึการุ (Tsugaru) กั้นอยู่ จึงอุดมไปด้วยอาหารทะเลคุณภาพมากมาย โดยเฉพาะ หอยเชลล์สด เนื้อแน่นตัวใหญ่ รสชาติหวานตามธรรมชาติ เนื่องจากเจริญเติบโตในทะเลลึกที่มีความเย็น แอปเปิลฟูจิ ผลไม้ที่มีชื่อเสียงของญี่ปุ่นที่คนไทยคุ้นเคยก็ปลูกที่จังหวัดนี้เช่นกัน นอกจากแอปเปิลฟูจิ อาโอโมริยังเป็นแหล่งปลูกแอปเปิลคุณภาพอีกหลายสายพันธุ์ เช่น แอปเปิลเซไกอิจิ แอปเปิลโอริน แอปเปิลชินาโนะโกลด์ แอปเปิลไดโกเอะ ซึ่งคุณ สุชาดา ชั้นไพบูลย์ ผู้อำนวยการ/ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ไดโชฯ กล่าวว่า เมื่อถึงฤดูกาลของผลไม้ชนิดใดในญี่ปุ่น บริษัทก็จะนำเข้ามาจำหน่ายพร้อมกันในเมืองไทยโดยการขนส่งทางอากาศ กล่าวได้ว่าคนญี่ปุ่นกำลังกินผลไม้ชนิดใดในประเทศตนเอง คนในเมืองไทยก็ได้กินผลไม้ชนิดเดียวกันนั้นเช่นกัน ผลไม้นำเข้าแต่ละชนิดมีระยะเวลาวางจำหน่ายหนึ่งสัปดาห์ และกำจัดทิ้งเมื่อจำหน่ายไม่หมด เนื่องจากผลไม้จะไม่ได้มาตรฐานความสดอย่างที่ผู้บริโภคควรได้รับ
ในการนำเข้าอาหารญี่ปุ่นมาจำหน่ายยังเมืองไทย มร.ฮิเดกิไม่เพียงแต่นั่งบริหารงานในบริษัท ที่ทำงานของมร.ฮิเดกิคือพื้นที่เกษตรกรรมทั่วประเทศญี่ปุ่น ในแต่ละปี มร.ฮิเดกิใช้เวลาส่วนใหญ่เดินทางไปในหลายภูมิภาคของญี่ปุ่นร่วมกับ มร.ซูเฮ ฮาบาโน ซึ่งทำงานในฝ่ายขาย เพื่อช่วยกันสรรหาสินค้าใหม่ๆ สินค้าขึ้นชื่อของแต่ละแหล่ง เช่น เห็ดหอมเทนปะคุ จากจังหวัดโออิตะ (Oita) เห็ดหอมชนิดนี้สามารถเก็บผลผลิตได้เฉพาะในฤดูหนาวที่เป็นช่วงอากาศหนาวเย็น มากที่สุดเท่านั้น เพราะเป็นช่วงเวลาที่เห็ดหอมเทนปะคุเติบโตขึ้นเรื่อยๆ จนดอกเห็ดบานสวยและมีลายงาตามมาตรฐาน ให้รสชาติและกลิ่นหอมดีเยี่ยม
อาหารญี่ปุ่นในงานเลี้ยงแสดงความยินดีกับ มร.ฮิเดกิ ซึ่งปรุงโดย เชฟ ชิเกรุ ทานากะ (Shigeru Tanaka) หลายเมนูปรุงจากวัตถุดิบซึ่งนำเข้าโดยบริษัทไดโชฯ เช่นกัน การได้มีโอกาสร่วมรับประทานอาหารมื้อนี้ทำให้เรียนรู้วัฒนธรรมการรับประทาน อาหารญี่ปุ่นเพิ่มเติม เริ่มจากชุดอาหารเรียกน้ำย่อยที่ประกอบด้วย หอยเป๋าฮื้อญี่ปุ่น เนื้อเป็ด เนื้อปลา กุ้ง ผักแนมแทนที่จะเป็นแตงกวาญี่ปุ่นอย่างที่คุ้นเคย เชฟทานากะเปลี่ยนเป็นดอกขจรลวก ช่วยตัดรสชาติเครื่องปรุงรสในเนื้อสัตว์ชนิดต่างๆ ได้ดีก่อนรับประทานอาหารคอร์สถัดไป ส่วนกุ้งที่เสิร์ฟมาในไม้เสียบตกแต่งด้ามจับไว้อย่างสวยงาม ชาวญี่ปุ่นรับประทานโดยการใช้ตะเกียบคีบตัวกุ้งออกจากไม้จิ้ม ไม่ยกไม้จิ้มใส่ปาก
อาหารญี่ปุ่นอีกคอร์สที่เสิร์ฟมาในกาใบเล็กคือ ซุปเห็ดมัตซึตาเกะ เป็นซุปใส มีมะนาวฝานชิ้นเล็กๆ วางอยู่บนก้นถ้วยที่ครอบฝากาไว้อีกชั้น ท่านทูตญี่ปุ่นแนะนำให้ชิมรสชาติน้ำซุปแท้ๆ ก่อนว่าหวานหอมเพียงใด ซึ่งแสดงถึงฝีมือการปรุงของเชฟ วิธีกินคือรินน้ำซุปจากกาใส่ถ้วยใบเล็กแล้วยกขึ้นซด หลังจากนั้นจึงค่อยบีบน้ำมะนาวลงในตัวกา รสชาติน้ำซุปที่หวานและหอมจากการเคี่ยวก็จะเจือด้วยรสเปรี้ยวคล้ายต้มจืดใส่ มะนาวดองบ้านเรา เปลี่ยนรสชาติไปอีกแบบ
เห็ดมัตซึตาเกะ (Matsutake) เป็นองค์ประกอบสำคัญของอาหารญี่ปุ่น เห็ดชนิดนี้ขึ้นอยู่ใต้ใบไม้ที่ร่วงหล่นทับอยู่บนพื้นดิน โดยเฉพาะใบของต้นสนแดงญี่ปุ่น ถึงกับเป็นดัชนีวัดจำนวนป่าสนแดงของญี่ปุ่นได้ด้วย การเก็บเห็ดชนิดนี้ทำได้ค่อนข้างยากลำบาก ประกอบกับจำนวนป่าสนแดงที่ลดลง ทำให้ราคาเห็ดมัตซึตาเกะมีราคาแพง เห็ดมัตซึตาเกะในช่วงต้นฤดูมีราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 2,000 เหรียญสหรัฐ
หัวมันพันธุ์ นากาอิโมะ (Nagaimo) เป็นพืชขึ้นชื่ออีกชนิดของจังหวัดอาโอโมริ ซึ่งเจริญเติบโตได้ดีในที่ที่อากาศหนาวเย็น ผลิตผลมีลักษณะเป็นแท่งอวบยาว ผิวสีน้ำตาลอ่อนมีจุดเล็กๆ สีน้ำตาลเข้มกระจายอยู่ทั่วไป นอกจากมีคุณค่าทางโภชนาการสูงแล้วยังมีสรรพคุณช่วยลดระดับคอเลสเตอรอล ป้องกันภาวะความดันโลหิตสูง พืชชนิดนี้มีเอนไซม์อไมเลสและเอนไซม์ช่วยย่อยชนิดอื่นๆ ในระดับสูง จึงช่วยให้ร่างกายย่อยอาหารประเภทแป้งได้ดีขึ้น
อาหารและผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรของแต่ละประเทศล้วนมีรสชาติและเรื่องราว เฉพาะตัวที่น่าศึกษาน่าสนใจแตกต่างกันไป สำหรับประเทศที่มีมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนการผลิตสินค้าทางการเกษตรที่ เข้มแข็ง สินค้ามีความปลอดภัยสำหรับผู้บริโภค ไม่ถูกตั้งข้อสงสัยในเรื่องความสะอาดหรือสารตกค้าง ก็สามารถใช้วัฒนธรรมอาหารช่วยเผยแพร่ชื่อเสียงของประเทศ ขณะเดียวกันก็เพิ่มช่องทางการตลาดได้อย่างมีศักยภาพพร้อมกัน
อาหารก็เปรียบเสมือนอาวุธทางเศรษฐกิจที่สำคัญแขนงหนึ่งได้เช่นกัน