จากประชาชาติธุรกิจ
ผู้สื่อข่าวรายงาน วันนี้ ณ ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ครั้งที่ 5/2552 (ครั้งที่ 127) ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งภายหลังเสร็จสิ้นการประชุม นายแพทย์วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้แถลงผลการประชุมสรุปสาระสำคัญ ดังนี้
ที่ประชุมเห็นชอบให้ทบทวนหลักเกณฑ์การคำนวณราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (NGV) และแนวทางการกำกับดูแลใหม่ โดยให้การกำหนดโครงสร้างราคาขายปลีก NGV อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการบริการนโยบายพลังงาน (กบง.) แทน กพช. เพื่อให้ราคาขายปลีก NGV ถูกกำกับดูแลภายใต้กรอบเดียวกับน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับภาคขนส่งชนิดอื่น ๆ เช่น เบนซิน ดีเซล โดยเห็นชอบให้มีการปรับปรุงคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 4/2547 เรื่อง กำหนดมาตรการเพื่อแก้ไขและป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง โดยเพิ่มเติมนินามคำว่า "ก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (NGV)" เพื่อให้ราคาขายปลีก NGV ถูกกำกับดูแลภายกรอบเดียวกับน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับภาคขนส่งชนิดอื่น ๆ ดังกล่าว และมอบหมายให้ กบง. เป็นผู้พิจารณาก่อนนำเสนอนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาลงนามต่อไป ทั้งนี้ในส่วนของต้นทุนราคาก๊าซธรรมชาตินั้นจะถูกกำกับดูแลโดย กพช. เช่นเดียวกับก๊าซธรรมชาติสำหรับโรงแยกก๊าซธรรมชาติและโรงไฟฟ้า ส่วนค่าใช้จ่ายดำเนินการ ซึ่งประกอบด้วยต้นทุนสถานีแม่ ต้นทุนสถานีลูก ค่าขนส่ง และค่าการตลาดนั้นจะไปอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ กบง. โดย กบง. จะเป็นผู้พิจารณาหลักเกณฑ์การคำนวณราคาขายปลีก NGV ต่อไป
พร้อมกันนี้ที่ประชุมยังได้พิจารณาแนวทางส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าด้วยระบบ Cogeneration โดยกำหนดเป้าหมายการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) ระบบ Cogeneration ประเภทสัญญา Firm ที่ใช้เชื้อเพลิงเชิงพาณิชย์ สำหรับการจัดหาไฟฟ้าช่วงปี 2558-2564 ปริมาณ 2,000 เมกะวัตต์ โดยการพิจารณาการรับซื้อไฟฟ้าแต่ละปี สามารถกำหนดปริมาณการรับซื้อไฟฟ้าให้สอดคล้องสภาพเศรษฐกิจ ความต้องการใช้ไฟฟ้าและไอน้ำ รวมถึงความพร้อมในการจัดหาก๊าซธรรมชาติในขณะนั้นได้ สำหรับในระยะยาวให้กำหนดปริมาณรับซื้อเป็นร้อยละของความต้องการพลังไฟฟ้าที่ เพิ่มขึ้นในอนาคตไว้ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า หรือ PDP ฉบับใหม่ ทั้งนี้เพื่อเป็นการส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพในกระบวนการ ผลิตอุตสาหกรรม อาคาร/สถานประกอบการต่างๆ ด้วยการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าและความร้อนหรือความเย็นเพื่อใช้ในกิจการและ เหลือขายไฟฟ้าให้การไฟฟ้า ซึ่งจะช่วยเพิ่มความมั่นคงในการจัดหาไฟฟ้า
สำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าระบบ Cogeneration ขนาดเล็กมาก(VSPP) ที่มีการผลิตไฟฟ้าและไอน้ำหรือความเย็น ณ จุดใช้งาน ที่ประชุมเห็นควรให้รับซื้อไฟฟ้าโดยไม่กำหนดระยะเวลาและปริมาณ และเพื่อให้การรับซื้อไฟฟ้าเป็นไปตามเป้าหมายดังกล่าว คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานจะต้องกำหนดราคารับซื้อไฟที่สะท้อนต้นทุนการ ผลิตไฟฟ้าโดยคำนึงถึงผลตอบแทนที่เหมาะสมของการลงทุนอย่างมีประสิทธิภาพ และจูงใจให้มีการผลิตไฟอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมกำหนดหลักเกณฑ์ในการปฏิบัติการผลิตไฟฟ้าให้มีการสั่งเดินเครื่องโรง ไฟฟ้าตามความพร้อมของผู้ผลิตไฟฟ้า และความต้องการใช้ไฟฟ้าและไอน้ำ และให้ประกาศจุดเชื่อมโยงระบบไฟฟ้า ปริมาณพลังไฟฟ้าที่สามารถรับได้ในแต่ละพื้นที่ รวมถึงประกาศแผนผังระบบส่ง/ระบบจำหน่าย เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจแก่ผู้ลงทุน ตลอดจนกำหนดหลักเกณฑ์ในการพิจารณาตอบรับซื้อไฟฟ้า รวมทั้งเอกสารยื่นคำร้องขอขายไฟฟ้า และจัดทำคู่มือการพิจารณารับซื้อไฟฟ้า
นอกจากนี้ที่ประชุมยังเห็นชอบให้ปรับสิทธิไฟฟ้าสาธารณะและคำนิยามการใช้ ไฟฟ้าสาธารณะตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2552 เป็นต้นไป ตามความเห็นชอบของคณะอนุกรรมการกำกับดูแลอัตราค่าไฟฟ้าและค่าบริการ โดยปรับฐานการคำนวณสิทธิการใช้ไฟฟ้าสาธารณะเป็นร้อยละ 10 ของหน่วยการใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยรวมกับหน่วยการใช้ไฟฟ้าประเภทกิจการ ขนาดเล็กทุกราย รายละไม่เกิน 250 หน่วยต่อเดือน ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2553 เป็นต้นไป จากเดิมไม่เกิน 200 หน่วยต่อเดือน พร้อมมอบหมายให้ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) พิจารณาให้ความช่วยเหลือค่าไฟฟ้าสาธารณะให้กับจังหวัดชายแดนภาคใต้ตามความจำ เป็นและความเหมาะสมโดยตรงต่อไป เพื่อเป็นการสนับสนุนหน่วยงานราชการในการปฏิบัติงานรักษาความสงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
อีกทั้งที่ประชุมเห็นชอบร่างกฎกระทรวงควบคุมไอน้ำมันเชื้อเพลิง (ฉบับที่...) พ.ศ.... โดยมอบหมายให้กระทรวงพลังงานนำร่างกฎกระทรวงที่ได้รับความเห็นชอบดังกล่าว เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ และส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจร่างต่อไป ทั้งนี้เพื่อสามารถบังคับใช้ให้ทันในวันที่ 23 พ.ค.2553 โดยจะกำหนดทางเลือกให้ใช้ระบบควบคุมไอน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับรถขนส่งน้ำมัน แบบ Modified Top Loading ซึ่งมีค่าใช้จ่ายต่ำกว่าระบบควบคุมแบบ Bottom Loading ได้ เพราะการดัดแปลงรถขนส่งน้ำมันในระบบ Bottom Loading เพื่อใช้กับระบบควบคุมไอน้ำมันเชื้อเพลิงมีต้นทุนสูง 300,000-500,000 บาทต่อคัน จึงทำให้รถผู้ประกอบการรายย่อยยังไม่สามารถปรับปรุงให้ได้ทันตามกำหนดดัง กล่าวเนื่องจากขาดแคลนด้านเงินทุน